Skip to main content
sharethis

ประชาไท 30 มิ.ย. 48 "สำหรับปัญหาน้ำเราจะเห็นผลภายใน 9 เดือนต่อจากนี้ ส่วนไฟฟ้าก็อย่าให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกันเลย ผมเห็นว่ารัฐควรยอมให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (RPS) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) " ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) กล่าว

ดร. ปิยสวัสดิ์ ชี้ว่าปัญหาวิกฤติการขาดแคลนไฟฟ้านั้น เป็นความผิดพลาดเช่นเดียวกับการจัดการน้ำที่มาจากการวางแผนจัดระบบในสาธารณูปโภคแบบผูกขาดจากส่วนกลาง ขณะที่เอกชนกลับถูกจำกัดบทบาท เท่ากับแบบอย่างของเผด็จการ

"ปัญหาที่จะประสบคือการขาดแคลนไฟฟ้า เพราะเราจะมีไฟฟ้าสำรองลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาเราใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 10% จากปีที่แล้ว ผมเชื่อว่าต่อไปจะเหลือจำนวนไฟฟ้าสำรองเพียง 13% จากเดิมที่มีสำรองอยู่ 15% แต่ทุกวันนี้รัฐกลับห้ามเอกชนลงทุน ใน SPP และ RPS ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าลดลงอย่างรวดเร็ว และต้องซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าเช่นเดียวกับน้ำในที่สุด" ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ดร. ปิยสวัสดิ์ มองว่า ปัญหาคือมีแต่นโยบายออกมาแต่ไม่มีมาตรการต่างๆ ที่จะรองรับ ตอนนี้เอกชนไม่ได้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้ารายย่อยได้ เพราะรัฐกำหนดระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา โดยรัฐผูกไว้กับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ดร.ปิยสวัสดิ์ เสนอว่า วิธีการส่งเสริมพลังงานคือ รัฐควรเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนใน SPP โดยแยก SPP กับ RPS โดยให้มีกติกาประกาศเชิญชวนให้ชัดเจน

"การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุนแต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เป็นพันล้าน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและยังประสบปัญหากับประชาชนในพื้นที่ จนให้การผลิตไฟฟ้าไม่ทันต่อความต้องการ ผมอยากเสนอให้รัฐหันมาสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน หรือโรงไฟฟ้าเอกชนรายย่อยบ้าง" ดร.ปิยสวัสดิ์ เสนอแนวคิด

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net