Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 27 มิ.ย. 48 "การรับน้องสะท้อนภาพความรุนแรงในโครงสร้างสังคมไทย ที่ใช้ อำนาจนิยมอุปถัมภ์ โดยที่น้องยอมทำตามรุ่นพี่จะได้ไม่ตกรุ่นหรือถูกกันออกไปนอกกลุ่ม ซึ่งก็เป็นความจริงในสมัยก่อนที่รุ่นพี่ในระบบราชการจะช่วยดึงรุ่นน้องเข้าไปได้ การออกแบบโครง
สร้างในรูปแบบกิจกรรมรับน้องจึงเกิดขึ้น" นายมานะ ตรีรยภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

วันนี้ ประชาไท ร่วมกับ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดวงพูดคุยประเด็น มองสังคมผ่าน "การรับน้อง" โดยมีการแลกเปลี่ยนระหว่างรุ่นพี่ อาจารย์ นิสิตนักศึกษาปัจจุบัน และกรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

นายมานะ มองว่า ความรุนแรงไม่ใช่ของใหม่แต่มีแทรกอยู่ในทุกสถาบัน ขึ้นอยู่กับว่าจะยอมรับหรือไม่ ไม่เฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา แต่อยู่ในระดับโครงสร้างของรัฐและหน่วยงานต่างๆ โดยผู้มีอำนาจสูงสุดใช้รุ่นน้องเป็นเครื่องมือด้วยวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ซึ่งรุ่นน้องเข้าไปแล้วยอมภายใต้ระบบดังกล่าวเพราะได้รับประโยชน์ร่วมด้วย ดังนั้นการรับน้องจึงยังดำรงอยู่ได้ในสังคม

"ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีการทำงานด้านธุรกิจและในหน่วยงานเอกชนมากขึ้น แต่การรับน้องยังคงดำรงอยู่เพราะสังคมใช้ระบบคอนเน็กชั่นมาก ทั้งการเข้าทำงาน การสัมปทาน อ้างรุ่น อ้างสี อ้างสถาบัน ปัญหาก็คือตัวเราเป็นอย่างนี้ด้วยหรือเปล่า" อาจารย์ ม.หอการค้าไทย ตั้งคำถาม

ขณะเดียวกัน นายมานะ กล่าวต่อว่า โดยรวมระบบรับน้องสะท้อนปัญหาใหญ่มาก ซึ่งเราก็อยู่ในระบบนี้ด้วย เราจะอยู่ได้ไหมถ้าหากสังคมไม่มีระบบอุปถัมภ์ ผมขอตอบว่าเราอยู่ไม่ได้ เพราะมีระบบคอนเน็กชั่นอยู่ในระดับหนึ่ง แล้วแต่ช่องทางของใคร ซึ่งเป็นระบบที่แก้ได้ยากมาก และก็ไม่ใช่มาแก้ที่กิจกรรมนิสิตนักศึกษาด้วย หากมองว่าการรับน้องเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อสีสันตรงนี้จบลง ปรากฏการณ์นี้ก็จบลงไปด้วย เท่ากับไม่ได้แก้ปัญหาอะไรได้เลย

ด้าน นายภาสกร อินทุมาร นักศึกษาปริญญาเอกด้านประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยากรที่ร่วมพูดคุยบนเวที มองว่าการรับน้องเป็นความรุนแรงมีมาโดยตลอดทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและวิธีคิด แต่ปีนี้สื่อจับทำให้อาจดูรุนแรงยิ่งขึ้นโดยวิธีการทำให้อาจดูรุนแรงขึ้นเชิงกายภาพ แต่วิธีคิดที่รุนแรงมีมาโดยตลอดอยู่แล้ว

นายภาสกร กล่าวว่า "ความรุนแรงที่กระทำต่อคนรุ่นน้องตั้งแต่ระดับอาจารย์ ผมเห็นมหาวิทยาลัยแถบหัวเมืองให้อาจารย์ใหม่มาดูและนักศึกษาในการจัดกิจกรรมรับน้อง ผมเชื่อว่าอาจารย์มีทั้งเห็นและไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมเหล่านี้ แต่เมื่อมีกระแสสังคมและสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกมาก็เล่นตามน้ำกันไปหมด แต่วิธีการปฏิบัติที่ทำอยู่ไม่ง่ายนัก เท่ากับเป็นการให้อาจารย์เด็กๆไปปะทะกับความรุนแรงกับระดับนิสิตนักศึกษา ขณะที่พวกรุ่นพี่ต่างต้องการดำรงระบบอย่างที่เขาคุ้นเคย แต่บริบทของการรับน้องดังกล่าวกลับไม่ถูกพูดถึง"

"ความรุนแรงอีกชุดหนึ่งที่เกิดขึ้น คือรุ่นพี่กำลังต้องการการรับน้อง แต่สังคมกำลังประณามรุ่นพี่เหล่านี้ จากกระแสรับน้องที่ผ่านมากลายเป็นว่าสกอ. ได้สร้างความรุนแรงชุดใหม่ขึ้นมาเสียเอง ภายใต้การจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง" นายภาสกร แสดงทัศนะ

เช่นเดียวกับ นางสาวกชวรรณ ชัยบุตร กรรมการบริหาร สนนท. มองว่าหนังสือเวียนของ สกอ. ไม่มีการแยกแยะกิจกรรมของนักศึกษา โดยห้ามทำกิจกรรมทุกอย่าง ซึ่งทั้งสกอ.และอธิการบดี กำลังตัดปัญหาไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยลืมไปถึงเป้าหมาย ความจริงแล้วกิจกรรมต่างๆ ไม่เพียงแต่รุ่นน้องที่จะได้รับประโยชน์ แต่รุ่นพี่ยังสามารถคิดสิ่งที่สร้างสรรค์เพื่อรุ่นน้องได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net