Skip to main content
sharethis

กองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาล ได้ส่งตรงมายังหมู่บ้านต่างๆ ตามเป้าหมาย คือจำนวน 70,000-80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แน่นอนว่าบางหมู่บ้านได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุน และดำเนินการกู้ยืมไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่หลายหมู่บ้านกำลังรอเงินจำนวนดังกล่าว และหลายหมู่บ้านยังไม่ได้รับเงินกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท

หมู่บ้านที่ดำเนินการปล่อยกู้แล้วพบว่า กองทุนหมู่บ้านสามารถเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้สมาชิกไปปลดหนี้นอกระบบได้จำนวนมาก แม้จะไม่ก่อให้เกิดการสร้างงานหรือการพัฒนาอาชีพ แต่กองทุนหมู่บ้านได้ช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินนอกระบบ

ชาวบ้านบางส่วนกู้ยืมเงินไปเพื่อลงทุนในการพัฒนาอาชีพ แต่ยังต้องใช้เวลาติดตามอีกระยะหนึ่งว่ากองทุนทำให้เกิดรายได้หรือเกิดการจ้างงานได้จริง หมู่บ้านที่ได้รับเงินจัดสรรแล้วแต่ไม่นำเงินกองทุนมาดำเนินการกู้ยืมเนื่องจากเหตุผลหลายประการ ได้แก่ สมาชิกไม่สนใจขอกู้เพราะมีกลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้านมากกว่าจำนวนเงิน 1 ล้านบาท และอยู่ในสภาพขาดผู้กู้ หรือสมาชิกไม่มีความรู้ในการประกอบอาชีพ ไม่ทราบว่าจะกู้ยืมเงินไปทำอะไร จึงไม่ต้องการเป็นหนี้หรือคณะกรรมการหมู่บ้านไม่กล้าปล่อย เพราะเกรงว่าสมาชิกจะนำเงินไปเล่นการพนัน นำเงินไปใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ตามที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "อีลุ่ยฉุยแฉก" เช่นซื้อมือถือ ผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น

สมาชิกกองทุนบางรายนำเงินกู้ยืมไปเล่นการพนัน กรณีดังกล่าวแม้ผู้กู้สามารถคืนเงินกองทุนครบตามจำนวน ทำให้เงินกองทุนเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่กิจกรรมเหล่านี้มิได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจฐานรากตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังนั้นการประเมินผลกองทุนหมู่บ้านจากจำนวนเงินกองทุนที่เพิ่มขึ้นจึงควรพิจารณาให้รอบคอบ

หมู่บ้านบางแห่งที่มีกลุ่มออมทรัพย์อยู่เดิม การจัดสรรเงิน 1 ล้านบาทลงในหมู่บ้าน ทำให้เกิดกลุ่มออมทรัพย์ใหม่แยกออกไปจากกลุ่มเดิม เนื่องจากกองทุน 1 ล้านบาท ในทรรศนะของชาวบ้านนั้นเป็นเงินที่ไม่มีต้นทุนการกู้ยืม จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ากลุ่มออมทรัพย์เดิม และเน้นการกู้ยืมเงินเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มออมทรัพย์เดิมเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก ดังนั้นกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท จึงทำให้การมีส่วนร่วมของกลุ่มเดิมหยุดหรือสะดุดลง

หลักเกณฑ์ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาล ให้น้ำหนักกองทุนหมู่บ้านในฐานะเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย บรรเทาเหตุฉุกเฉิน ในขณะที่ข้อเสนอในที่ประชุมเวทีประชาพิจารณ์นโยบายภาครัฐโดยภาคพลเมืองนั้น มีทรรศนะในการมองกองทุนหมู่บ้านมากกว่ากิจกรรมการกู้ยืมเงิน กล่าวคือ พิจารณากองทุนเป็นเครื่องมือให้เกิดการ "ขับเคลื่อนกิจกรรม" ที่มีอยู่เดิมในชุมชนให้สามารถดำเนินต่อไปได้ เป็นกองทุนไปส่งเสริมความต้องการของชาวบ้านในเรื่องอื่นๆ เช่น ส่งเสริมการสำรวจ การค้นหาตัวตนของหมู่บ้าน ส่งเสริมการศึกษาดูงาน ส่งเสริมการเพิ่มพูนปัญญาสนับสนุนกิจกรรมที่มีอยู่เดิม เป็นต้น

ข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ขณะนี้ กล่าวคือ หมู่บ้านบางแห่งต้องการกองทุนสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ต้องการกองทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัย ต้องการกองทุนเพื่อกิจการสาธารณะ กิจกรรมเหล่านี้ไม่สามารถทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของกองทุน 1 ล้านบาท ในระยะสั้นๆ แต่ส่งผลต่อความเข้มแข็งของหมู่บ้านโดยรวมในระยะยาวเพราะเป็นการลงทุนเพื่อสร้าง "ทุนทางสังคม"

บัณฑิตกองทุนหมู่บ้าน : การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงการ?
เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการจัดสรรเงิน 1 ล้านบาท ลงหมู่บ้านทั่วประเทศนั้น ควรเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จึงจัดทำโครงการอบรมบัณฑิตในหลักสูตรการบริหารจัดการโครงการ และกำหนดให้นโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นกิจกรรมหลักของการศึกษาและปฏิบัติการจริงในพื้นที่ โครงการนี้ได้ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับล่างอีกทางหนึ่งตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้

ในยุคคิดใหม่ ทำใหม่ และคิดเร็ว ทำเร็ว โครงการได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2544 โดยสถาบันราชภัฏเป็นสถาบันหลัก และมหาวิทยาลัยบางแห่งเข้าร่วมโดยสมัครใจ การเข้าร่วมโครงการทั้งสมัครใจและกึ่งบังคับ ทำให้สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวขนานใหญ่ แม้การเรียนการสอนผิดแผกแตกต่างในเนื้อหา และวิธีการสอน ซึ่งขึ้นกับประสบการณ์ของผู้สอน แต่โครงการได้บังคับทางอ้อมให้สถาบันการศึกษาสร้างกลไกในการเรียนจัดการเรียนการสอนไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันระหว่างกลุ่มผู้สอนแต่ละรายวิชา กลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์ และกลุ่มอาจารย์นิเทศในพื้นที่ทำงานของบัณฑิตกองทุน ทั้งนี้เพื่อให้ได้จำนวนและคุณภาพของงานวิจัยประเมินผลโครงการกองทุนหมู่บ้าน

หากคิดในเชิงสร้างสรรค์ สถาบันการศึกษาที่ตื่นตัวและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง จะสร้างกลไกการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน ในขณะเดียวกันจะช่วยให้สถาบันการศึกษาได้ประเมินศักยภาพของตนเองว่าพร้อมจะทำงานร่วมกับชุมชนต่อไปหรือไม่ การอัดฉีดเงินตามโครงการนี้จึงได้ผลมากกว่าการจ้างบัณฑิตตกงาน เพราะส่งผลสะเทือนต่อการปรับองค์กรในสถาบันการศึกษาให้ตอบสนองต่อชุมชนในระยะยาว แต่จากการร่วมทำงานในโครงการนี้ ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่าจะทำให้เกิดกรณีเช่นนี้ได้จริง เนื่องจากพบว่ามีปัญหาเรื่องทำความเข้าใจระหว่างส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาก และต้องสร้างกลไกการจัดการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา การสรุปผลจึงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

"บัณฑิตกองทุน" เป็นตัวเชื่อมโยงข้อมูลกองทุนหมู่บ้านสู่สถาบันการศึกษา และช่วยให้สถาบันการศึกษามีฐานข้อมูลของชุมชนเพื่อติดตามและสนับสนุนในอนาคต การเพิ่มศักยภาพ (empowement) ให้แก่บัณฑิตกองทุนทั้งในลักษณะวิชาการ และการทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานจึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ของสถาบันการศึกษาพยายามประสานให้เกิดขึ้น

จากข้อมูลในพื้นที่กลับพบว่า มีข้อจำกัดหลายประการในกระบวนการผลิตบัณฑิตตามวัตถุ
ประสงค์ของโครงการ กล่าวคือ บัณฑิตที่เข้าร่วมโครงการมีความแตกต่างด้านพื้นฐานการศึกษา มีความแตกต่างด้านเป้าหมายหรือความคาดหวังที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งไม่ได้รับความร่วมมือเรื่องข้อมูลจากคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน มีปัญหาค่าใช้จ่ายระหว่างการศึกษา ซึ่งไม่คุ้มกับเงินทุนที่ได้รับ ตลอดจนปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาในพื้นที่ปฏิบัติงานที่ไกลบ้านมากเกินไป ทำให้การทำงานไม่สะดวก และเป็นอุปสรรคในการจัดเก็บข้อมูล ขาดแรงจูงใจในการทำงานเพราะทราบว่าเป็นการจ้างงานระยะสั้น ปัญหาเหล่านี้จึงบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานของบัณฑิตกองทุน นอกจากนี้ บัณฑิตกองทุนจำนวนหนึ่งลาออกในระหว่างการดำเนินโครงการเพราะไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของการเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เริ่มต้น กรณีนี้ทำให้ไม่สามารถจัดหาบัณฑิตทำงานแทนในหมู่บ้านนั้น ได้ทัน

หากบัณฑิตมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ คำถามคือบัณฑิตจะสามารถสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพตามจุดมุ่งหมายของโครงการได้หรือไม่? ข้อนี้น่าสงสัย เนื่องจากขณะนี้พบว่าบัณฑิตจำนวนหนึ่งเริ่มไม่มั่นใจในสวัสดิภาพความปลอดภัยหากเปิดเผยข้อเท็จจริงที่หมู่บ้านต้องการให้ปกปิด หรือเปิดเผยข้อมูลที่เป็นด้านลบของหมู่บ้านส่งผลให้บัณฑิตที่ทำงานในหมู่บ้านลำบากใจยิ่งขึ้นที่จะเสนอข้อมูลเหล่านี้

การที่สถาบันการศึกษาต้องทำงานกับคนจำนวนมากในเวลาจำกัด พร้อมๆ กับการปรับความคิด ความเข้าใจของบุคลากรในสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการในพื้นที่บัณฑิตกองทุนและหมู่บ้านเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน สิ่งเหล่านี้นับเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งในการทำงานตามโครงการ อาจเกิดปัญหาอีกหลายประการที่ไม่คาดคิดในการดำเนินงานขณะนี้

ผู้เขียนเห็นว่าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาการว่างงานระยะสั้นของบัณฑิตได้ แต่จะช่วยให้บรรจุวัตถุประสงค์ข้ออื่นๆ หรือไม่นั้น ไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้ แต่จากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้น ผู้เขียนยอมรับว่าการบรรลุวัตถุประสงค์ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง หากผู้รับผิดชอบโครงการไม่สามารถสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างบุคลากรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที

นโยบายรัฐบาลนี้ กล้าคิดใหม่ กล้าทำใหม่ก็จริง แต่กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจอย่างรวดเร็ว(เกินไป) ในการนำเอาประเทศไทยทั้งประเทศ(แทนที่จะเลือกบางพื้นที่ เลือกบางหน่วยงาน และสถาบัน
การศึกษาที่พร้อม มานำร่องทำก่อน) มาเป็นห้องทดลอง(social lab) โดยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมผลที่เกิดขึ้นได้

สุวิดา ธรรมมณีวงศ์
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๘ พ.ค.๔๕

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net