Skip to main content
sharethis

ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่ได้เริ่มต้นและจบลงด้วยการสร้างความหมายเติมเต็มความเป็นมนุษย์ มอบเกียรติยศอันทรงคุณค่าให้แก่เด็กหนุ่มในวัยแสวงหาคนหนึ่ง แต่ เรื่องราวของเหมืองแร่บนโลกความจริง กลับไม่ได้รับความสนใจ หรือมีใครเข้าไปขุดคุ้ยบทเรียนของสิ่งที่เราเรียกกันว่าหลุมแห่งความมั่นคั่งของการพัฒนาเลย

ฤา เพราะเรื่องราวเหล่านี้มันเริ่มต้นกลางป่าลึก ในดินแดนที่ห่างไกลผู้คน และวิถีแห่งการบริโภคในปัจจุบัน

การทำเหมืองตามความหมายของการขุดค้นนำทรัพยากรธรณีออกมาใช้ประโยชน์นั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่เชื่อกันว่าการทำเหมืองมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเจริญรุ่งเรืองและอารยธรรมต่างๆ ของมนุษย์ กระทั่งช่วงสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม วิธีการทำเหมืองสมัยใหม่ก็อุบัติขึ้นพร้อมๆ กับลัทธิล่าอาณานิคมซึ่งเป็นผลให้เกิดการแสวงหาแหล่งทรัพยากรในพื้นที่นอกประเทศแม่ เพื่อสนองความต้องการอย่างไม่จำกัด

สำหรับประเทศไทยนั้นอุตสาหกรรมเหมืองแร่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตามลำดับ โดยเฉพาะช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ถือว่าเป็นจุดรุ่งเรืองที่สุดของการทำเหมือง เพราะมีการลงทุนและให้สัมปทานการทำเหมืองอย่างมากมาย จนนำไปสู่การสถาปนาจัดตั้ง " กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา" ขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 เพื่อทำหน้าที่จัดระเบียบและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเหมืองแร่ภายในประเทศ

ปัจจุบันเรามีการทำเหมืองแร่ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์มากกว่า 40 ชนิด โดยแร่ที่ขุดได้ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น กลุ่มแร่เชื้อเพลิงพลังงาน กลุ่มแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะผสมเหล็ก กลุ่มแร่โลหะพื้นฐาน กลุ่มแร่โลหะเบาหรือโลหะหายาก กลุ่มแร่อโลหะหรือแร่อุตสาหกรรม หินในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และโลหะมีค่า มีการประมาณการกันว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั้งหลายนี้ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สามารถสร้างตลาดแรงงาน สร้างรายได้ และเพิ่มพูนผลผลิตในประเทศได้นับพันล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินเม็ดงามที่ใคร ๆ ต่างพร้อมจะเอาทุกสิ่งเข้าแลก…

เหมืองรุ่งเรืองจากมายาคติ

เมื่อเหมืองถูกจัดเป็นกลไกอย่างหนึ่งของการก้าวไปสู่ความเป็นศิวิไลซ์ พร้อมๆ กับที่สังคมถูกให้ข้อมูลในมิติเชิงเศรษฐศาสตร์ว่าแร่นั้นมีประโยชน์อย่างมหาศาลในการพัฒนาประเทศ สามารถสร้างผลกำไรทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยกระจายรายได้ให้กับประชากร และเป็นปัจจัยสำคัญในการเขยื้อนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีในทางบวกได้ ดังนั้นภาครัฐจึงสนองตอบความเชื่อนี้ด้วยการพยายามส่งเสริมการลงทุนด้วยมาตรการต่างๆ ที่อาจจูงใจนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การทบทวนจัดทำพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ของประเทศอีกครั้ง ซึ่งเป็นนัยยะที่บ่งบอกว่าเรากำลังขูดรีดทรัพยากรผืนสุดท้ายเพื่อแลกกับตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม วิธีคิดของรัฐอย่าง" เศรษฐกิจมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง" หรือการส่งเสริมการลงทุนในระดับใหญ่ เพื่อภาคส่วนเล็กๆ ได้ใบบุญตามไปด้วยนั้นก็เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น เพราะท้ายสุดของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ กลับเอื้อประโยชน์ให้เพียงนักลงทุน หรือเจ้าของเหมืองแร่ เพราะรายได้ทั้งหมดที่ภาครัฐจัดเก็บได้โดยผ่านค่าภาคหลวง หรือภาษีอากรต่างๆ ยังคิดเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลประกอบการหรือกำไรของเจ้าของเหมือง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2547 การผลิตแร่มีมูลค่าโดยรวม 34,042.6 ล้านบาท แต่รัฐจัดสามารถเก็บค่าภาคหลวงได้เพียง 1,322 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 3 จากผลกำไรทั้งหมด

ส่วนด้านการเพิ่มงานในท้องถิ่นก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากคนในชุมชนใกล้เคียงเหมืองแร่ไม่มีโอกาสทำงานในตำแหน่งสูงๆ เพราะการทำเหมืองในปัจจุบันต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทันสมัย การจ้างงานจึงต้องนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกชุมชน ดังนั้นโอกาสในการทำงานของคนในพื้นที่จึงเหลือเพียงแค่ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ใช้แรงงานราคาถูก ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องแบกรับความเสี่ยงของอันตรายจากการทำงานและความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ความหวังที่จะทำขุมเหมืองให้เป็นขุมทรัพย์จึงล่องลอยห่างไกลจากความเป็นจริง

เปิดเหมืองเปลืองสิ่งแวดล้อม

การทำเหมืองจัดเป็นการกิจกรรมของมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้นและสิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง เพราะการเปิดเหมืองเพื่อนำแร่ขึ้นมาจากใต้ดินนั้น ย่อมหมายถึงการละทิ้งโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอื่นๆ ไปอย่างสิ้นเชิงทั้งก่อนและหลังการทำเหมือง ไม่ว่าจะเป็น ผืนป่า แม่น้ำ แหล่งน้ำทั้งใต้ดิน รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ

ข้อมูลจากเอกสารประกอบการสัมมนาปัญหาและแนวทางการปรับปรุงพื้นที่ที่ได้ใช้ทำเหมืองแร่แล้ว ซึ่งจัดทำโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยืนยันว่า ดิน และที่ดินเป็นทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังทรัพยากรประเภทอื่นๆ เช่น น้ำ และอากาศ

ส่วนคุณภาพของดินที่เหลือจากการทำเหมืองนอกจากจะมีปริมาณสาร และธาตุอาหารของพืชในปริมาณที่ต่ำแล้ว องค์ประกอบของเนื้อดินที่เหลืออยู่ก็ยังไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกอีกต่อไป เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายดินชั้นบนที่มีความอุดมสมบูรณ์ หรืออาจถูกชะล้างหรือพาไปโดยน้ำ

สำหรับผลกระทบของเหมืองที่มีต่อแหล่งน้ำ พบว่าสิ่งที่เป็นปัญหารุนแรงที่สุดนั่นคือ ความขุ่นข้นของน้ำ ซึ่งเกิดจากตะกอนดินของการทำเหมือง การแยกแร่ และการชะล้างพังทลาย นอกจากนี้น้ำจากเหมืองแร่บางชนิดยังอาจเจือปนด้วยสารพิษ เช่น ปรอท ตะกั่ว แคคเมี่ยม เป็นต้น

การแก้ไขผลกระทบที่ยกตัวอย่างข้างต้น ในทางทฤษฎีแล้วเราสามารถควบคุม และแก้ไขปัญหาได้ด้วยกลไกการฟื้นฟูที่ดิน ซึ่งเนื้อหาตามมาตรา 42-45 ในพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.แร่ 2510 ก็ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้ประกอบต้องการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองให้มีสภาพเดิม หรือใกล้เคียงที่สุด แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าเจ้าของเหมืองอาจหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามเนื้อหาของพ.ร.บ.แร่ได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางการฟื้นฟูที่ระบุไว้ในแนบท้ายประทานบัตร ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างราชการกับเจ้าของเหมือง และอาจขอเปลี่ยนแปลงแนวทางการฟื้นฟูได้ภายหลัง ในประเด็นนี้ทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่าอาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และยังเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

ต่อเรื่องนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้สรุปปัญหาและอุปสรรคการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่ว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย และไม่มีความจำเป็นในการดำเนินการ จึงมักปล่อยพื้นที่ทิ้งร้างเอาไว้ โดยอ้างว่าพื้นที่เหมืองอยู่ห่างไกลชุมชน และธรรมชาติสามารถพื้นสภาพเองได้ นอกจากนี้หน่วยงานที่ควบคุมดูแลยังไม่มีการกำหนดแผนงานฟื้นฟูที่ชัดเจน และมีรายละเอียดของการดำเนินการจึงทำให้ผู้ประกอบการหาข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการฟื้นฟูได้

ขุมเหมืองเมืองมรณะ

ผลการศึกษาวิจัยของสถาบันการศึกษา และผลการสรุปข้อเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่และกิจกรรมที่ต่อเนื่อง อันได้แก่ การบดแร่ แต่งแร่ และการขนส่ง ของสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 3 เชียงใหม่ (สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 3 ในปัจจุบัน) ระบุว่ากิจกรรมต่างๆ ของการทำเหมืองสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากมาย อาทิ การปนเปื้อนของสารพิษและโละหนักทั้งในดินและน้ำ มีการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองสารกัมมันตภาพรังสีและก๊าซพิษต่างๆ การรบกวนของเสียงและการสั่นสะเทือน การบดบังและทำลายทัศนีย์ภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ งานศึกษาดังกล่าวยังได้จัดลำดับความเสี่ยงของชนิดเหมืองแร่ที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยใช้ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์เป็นเกณฑ์ในการจัดความสำคัญ ซึ่งแร่สังกะสีและตะกั่วมีความเสี่ยงสูงสุด รองลงมาคือ ถ่านหิน พลวง ดีบุก/วุลแฟรม/ชีไลต์ ฟลูออไรต์ และหินปูน (หินอุตสาหกรรม) ตามลำดับ

แล้วในปี 2547 ผืนนานับหมื่นไร่บนลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ก็ช่วยพิสูจน์ความเป็นจริงของรายงานฉบับนี้ เมื่อสถาบันอีมี่ (IWMI: International Water Management Institute) รายงานว่าพบความเข้มข้มของแคดเมี่ยมในนาข้าวบริเวณบ้านพะเด๊ะ ต.พระธาตุผาแดง มีค่าอยู่ในช่วง 3.4-284 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือคิดเป็น 1,800 เท่าของจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งผลของการปนเปื้อนดังกล่าวได้สร้างความหวาดหวั่นให้แก่การส่งออกข้าวของไทย จนรัฐบาลต้องอนุมัติงบประมาณสูงถึง 206,665,232 บาท เพื่อนำข้าวและพืชผลการเกษตรในบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาวไปเผาทิ้งทำลาย และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างปี 2547-2549

แล้วก่อนหน้าที่จะมีรายงานฉบับนี้ ข้าวที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมถูกจัดจำหน่ายไปที่ไหนบ้าง!

เหตุการณ์นี้จึงตัวอย่างที่สะท้อนเป็นอย่างดีว่า ผลกระทบของเหมืองเกิดขึ้นใกล้ตัวมากกว่าที่คิด แม้จะไม่ได้ใช้น้ำสายเดียวกันก็ตาม

ทำนองเดียวกับผลกระทบของเหมืองลิกไนต์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง หากไม่พิจารณาถึงผลกระทบจากการหลุดลอดของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซค์ที่ออกจากปล่องควันของ" โรงงานผลิตไฟฟ้าราคาถูก"แล้ว เพียงแค่การระเบิด-ขุดเปิดหน้าดิน การโม่หิน การทิ้งดิน รวมทั้งการขนส่งถ่านหินโดยใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ ก็ยังสามารถสร้างผลกระทบต่อชีวิตและลมหายใจของผู้คนได้อย่างมากมาย

เอกสารเผยแพร่ ลำดับที่ 3 ของสำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลราชวิถี รายงานว่า ฝุ่นแร่ถ่านหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน ทำให้เกิดโรคนิวโมโคนิโอซิส โรคแอนทราโคซิส โรคปอดดำ โรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านนับพันคนที่อาศัยอยู่บริเวณเหมืองแม่เมาะมีอาการของโรคนิวโมโคนิโอซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นขนาดเล็ก ในระยะแรกผู้ป่วยจะระคายเคือง หรืออาจเกิดแผลเล็กๆ ในเนื้อปอด หากมีอาการระคายเคืองมากๆ ร่างกายก็จะสร้างพังพืดหุ้มฝุ่นเหล่านั้นไว้ทำให้เนื้อปอดหนา ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับความเป็นพิษของฝุ่นนั้น และอาจมีโรคแทรกซ้อนเช่น วัณโรค และโรคปอด เป็นต้น

รัฐใหม่กลไกใหม่

แม้โศกนาฏกรรมบทเก่าที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจะยังบรรเลงเพื่อย้ำเตือนถึงบาดแผลของการพัฒนาอย่างไม่ขาดสาย แต่ก็ดูเหมือนความเจ็บปวดยังไร้ค่าเมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ดี...

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมาครม.ก็มีมติเร่งรัดปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ โดยพุ่งเป้าหมายไปที่การปรับลดขั้นตอนการให้อนุญาตประทานบัตรในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอและ 1บี ให้เหลือเพียงการพิจารณาจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ขณะที่หลักการเดิมได้ระบุให้มีการทำรายงานประเมินศักยภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอในขั้นตอนขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ก่อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ และอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก

นอกจากนี้มติ ครม.ดังกล่าวยังเจาะจงที่จะลดขั้นตอนการประชุมร่วมระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเหตุผล และลดการสอบถามความเห็นจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ในขั้นตอนการขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1เอ และ 1 บี โดยให้เหตุผลว่ารายงานการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมได้ศึกษาความเหมาะสมและความจำเป็นในการทำเหมือง ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ เป็นผู้แทนในคณะกรรมการและผู้แทนระดับสูงในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอยู่แล้ว

เมื่อ ครม.มีมติอย่างนี้ย่อมหมายความว่าเรากำลังนำพื้นที่ที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ มาเปลี่ยนเป็นหลุมเหมือง ทั้งๆ ที่มาตรการการใช้พื้นที่ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ก่อนหน้านี้ระบุห้ามให้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาด

ด้วยความเร่งรีบ และความมุ่งมั่นในสร้างความสะดวกสบายให้กับการเปิดเหมืองแร่แห่งใหม่ๆ ของรัฐบาลเช่นนี้ ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เร่งด่วน และสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง หากรัฐดำเนินการเร่งแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นทุน โดยปราศจากการทบทวนถึงสภาพปัญหา เงื่อนไข อุปสรรค รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นในอดีต อนาคตของเหมืองแร่ที่ดูเรืองรองในวันนี้ อาจกลายเป็นระเบิดมหาประลัยที่สร้างความเสียหายและความเจ็บปวดอย่างเกินคณานับก็เป็นได้ เพราะครั้งนี้รัฐเป็นผู้จุดชนวนเอง.
ธีรมล บัวงาม
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net