Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในการปิดสถานีวิทยุชุมชนหลายแห่ง และเว็บไซต์ข่าวทางเลือก 2 แห่ง ในช่วงสัปดาห์นี้

แถลงการณ์ระบุว่าการปิดเว็บไซต์ www.fm9225.com และ www.thai-insider.com ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาล มีความเกี่ยวพันเป็นพิเศษกับคำสั่งของรัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ไอซีที)

"ประเทศไทยได้จำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เห็นว่า "ไม่เหมาะสม" ไปกว่าพันแห่ง โดยเฉพาะเว็บอนาจาร รวมถึงเว็บสาธารณะบางแห่งที่เปิดเผย "กรณี" อันสื่อเป็นนัยถึงผู้มีอำนาจ" แถลงการณ์ระบุ

"อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่ได้รู้ว่า รัฐมนตรีสามารถสั่งการให้ผู้ให้บริการปิดเว็บไซต์ข่าวได้ มันถือเป็นกรณีตัวอย่างที่รุนแรงกว่าทุกครั้ง เพราะรัฐบาลปฏิเสธที่จะตัดสินใจอย่างเป็นธรรม แม้จะอ้างว่าไม่ได้กระทำอย่างนั้นก็ตาม"

"เราต้องการเตือนว่าการปิดเว็บไซต์สาธารณะดังกล่าว เป็นอำนาจของศาลเท่านั้น ไม่สามารถสั่งการโดยการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร"

ทั้งนี้ รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีได้ติดต่อโดยตรงถึงบริษัทผู้ให้บริการเพื่อย้ายเว็บไซด์ดังกล่าวออกไป แต่รัฐมนตรีปฏิเสธการอยู่เบื้องหลังการเซ็นเซอร์นี้โดยสิ้นเชิง

เว็บไซต์ www.thai-insider.com ประกอบด้วยเนื้อหาที่เปิดเผยถึงการคอรัปชั่น โดยมีนัยถึงรัฐบาล มีนายเอกยุทธ อัญชัญบุตร เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์อย่างสุดขั้วกับทักษิณ ชินวัตร นายก รัฐมนตรี และตอนนี้ได้ทำการย้ายเว็บไซต์ของเขาไปยังผู้ให้บริการอื่นแล้วที่ www.akeyuth.com

ส่วนเว็บไซต์ www.fm9225.com นั้นมีการกระจายเสียงวิทยุชุมชนหลายแห่ง อาทิ เอฟเอ็ม 92.25 ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นรายงานว่า ผู้จัดการเว็บดังกล่าวระบุว่าได้รับจดหมายจากฝ่ายที่รับผิดชอบดูแลอินเตอร์เน็ตของกระทรวงไอซีทีว่า เว็บไซต์นี้เป็นภัยต่อ "เอกภาพและความมั่นคงของประเทศ"

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย อ่านhttp://www.rsf.org/article.php3?id_article=1074

การปิดเว็บไซต์นี้เกิดในช่วงเวลาที่รัฐบาลเริ่มทดลองเข็มงวดกับสถานีวิทยุชุมชนจำนวนมาก หน่วยงานรับผิดชอบได้แจ้งเตือนข้อบังคับกับสถานีวิทยุชุมชนกว่า 3,000 แห่ง ขณะที่เนื้อหาและการจัดรายการของสถานีวิทยุชุมชนบางแห่งเข้มข้นถึงขึ้น นำพาไปสู่การปิดสถานีฯ

อย่างน้อยที่สุดสถานีวิทยุ 2 แห่งนี้ถูกปิดตั้งแต่ผ่านเส้นตายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งสถานีวิทยุชุมชนทุกแห่งต้องจดทะเบียน และแก้ไข "ปัญหาเชิงเทคนิค" ของพวกเขาแล้ว

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนขอเรียกร้องให้รัฐบาลพยายามหาทางออกการต่อรองเพื่อแก้ปัญหาทางเทคนิค "การพัฒนาที่รวดเร็วของวิทยุชุมชนเป็นเรื่องดีสำหรับความหลากหลายของข่าวสารข้อมูลในประ
เทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจที่รัฐบาลพยายามจะระงับวิทยุชุมชนที่เพิ่งริเริ่ม" แถลงการณ์ระบุ

ตัวแทนของกรมประชาสัมพันธ์ ( PRD/ Public Relations Department) และฝ่ายกลั่นกรองและตรวจสอบของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (NTC/ National Telecommunication Commission) ได้ปิดวิทยุชุมชนในกรุงเทพฯ 2 แห่งคือ ห้วยขวาง และบางเขน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเครื่องส่งถูกยึดไปในรอบแรกและต่อมาเป็นสายอากาศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่าพวกเขาใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบซึ่งไปแทรกคลื่นวิทยุอื่นรวมถึงวิทยุการบินด้วย

ระเบียบใหม่ในการควบคุมวิทยุชุมชนกำหนดให้ส่งคลื่นได้ 30 วัตต์ ในรัศมีไม่เกิน 15 กิโลเมตร อีกทั้งยังห้ามไม่ให้ตั้งเสาอากาศสูงเกิน 30 เมตร ซึ่งผู้ประกอบการระบุว่าในความเป็นจริงพวกเขาต้องการกำลังส่งราว 500 วัตต์รวมทั้งตั้งเสาอากาศ 60 เมตร

ผู้ควบคุมวิทยุที่ล้มเหลวในการปฏิบัติตามกฎทางเทคนิคนี้จะต้องเจอกับโทษจำคุก 5 ปี และปรับไม่กิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ราวเดือนพฤษภาคมรัฐบาลได้เตือนสถานีเอฟ เอ็ม 92.25 ใน 2 ประเด็นว่าเสาอากาศนั้นสูงเกินไป ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปิด สถานีเอฟ เอ็ม 92.25 ได้ปรับเสาลงแล้วจึงหันไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.fm9225.com

นักหนังสือพิมพ์ไทยกล่าวกับผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนว่า บทสรุปของการแทรกแซง เกิดจากการต่อต้านวิทยุชุมชนของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่า หน่วยงานที่มีอำนาจต้องการปกป้องสถานะของตัวเองในด้านนี้ เพราะกรมประชาสัมพันธ์เองก็มีสถานีวิทยุในควบคุมเกือบ 200 สถานี และกองทัพบกมีสถานีโทรทัศน์ 2 แห่งรวมถึงสถานีวิทุยราว 120 แห่ง

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน(www.rsf.org )

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net