Skip to main content
sharethis

ดอว์ ซาน ซาน : เลขานุการ สหภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งพม่า

อธิการบดี กรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณะกรรมการบริหารคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ขอขอบคุณสำหรับการมอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งนับเป็นเกียรติอันสูงส่งที่มหาวิทยาลัยมอบให้กับ ดอว์ ออง ซาน ซูจี ผู้นำประชาธิปไตยของเรา เกียรติยศนี้เป็นที่ซาบซึ้ง ไม่เพียงแต่เฉพาะพวกเราที่อยู่ข้างเคียง ดอว์ ออง ซาน ซูจี แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วโลกที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประธิปไตยในพม่า การรับรู้ว่าประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านสนับสนุนเราอยู่นั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพวกเรา

ทางมหาวิทยาลัยฯได้รอที่จะส่งมอบปริญญาบัตรนี้ให้กับ ดอว์ ออง ซาน ซูจี มาตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นการรอที่ไร้ผล ปัจจุบัน นับเป็นครั้งที่สาม ที่ดอว์ ออง ซาน ซูจี ถูกรัฐบาลทหารพม่ากักบริเวณไว้ในบ้านพัก

ถึงวันนี้ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิด 60 ปีของเธอ นับรวมเวลาที่ดอว์ ออง ซาน ซูจี ถูกกักบริเวณ ได้ทั้งหมด 9 ปี กับ 161 วัน มีเพียงบางช่วงสั้นๆที่เธอได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณ ดอว์ ออง ซาน ซูจี ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศพม่าได้ เพราะเธอทราบดีว่าเธอจะไม่ได้รับการยินยอมให้กลับเข้าไปอีก

ในฐานะเลขานุการสหภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งพม่า และรองประธานพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ภาคร่างกุ้ง นับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ข้าพเจ้าได้มาเป็นผู้แทนของ ดอว์ ออง ซาน ซูจี ณ ที่นี่ ในวันนี้ ตัวข้าพเจ้านั้นได้ลี้ภัยออกมาจากประเทศพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ภายหลังจากที่ถูกคุมขังถึงสองครั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าลี้ภัยออกมาจากพม่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ที่ข้าพเจ้าได้รับเกียรติในฐานะผู้แทนของดอว์ ออง ซาน ซูจี

ข้าพเจ้ามีความสงสัยว่าดอว์ ออง ซาน ซูจี กำลังทำอะไรอยู่ ณ เวลานี้ ในวันคล้ายวันเกิดที่ถูกแยกจากบุคคลอันเป็นที่รัก หรือเธอกำลังนั่งอยู่ที่บันไดประตูบ้าน เหม่อมองท้องฟ้า เธอต้องกำลังคิดถึงลูกๆและหลานๆของเธอที่อยู่ในประเทศอังกฤษ คิดถึงความสุขถ้ามีพวกเขาอยู่ข้างๆ

ข้าพเจ้าจะปฏิบัติให้ดีที่สุด ในการที่จะสื่อสารความคิดและความรู้สึกซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า ดอว์ ออง ซาน ซูจี ปรารถนาที่จะสื่อสารกับท่านในวันนี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าแน่ใจคือ เธอไม่รู้สึกเสียใจกับอิสรภาพที่สูญเสีย เธออุทิศดวงใจให้กับประชาชนพม่าที่กำลังทุกข์ทนอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร เธอมีความเข้าใจต่อผู้ที่ลี้ภัยออกจากประเทศว่าเป็นด้วยความกลัวการถูกจองจำ เธอห่วงใยประชาชนผู้ยากไร้ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่พลัดถิ่นมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย อินเดีย
และบังคลาเทศ

คนเหล่านี้ต้องจากบ้านเพราะกลัวการถูกฆ่า ถูกข่มขืน และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆที่กระทำโดยทหารของรัฐบาลฯ เธอคิดถึงประชาชนที่ต้องมาเป็นแรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย เพราะต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า แรงงานเหล่านี้เช่นกัน ต่างเป็นเหยื่อของรัฐบาลทหารที่ได้ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ

การจำกัดอิสรภาพของ ดอว์ ออง ซาน ซูจี ครั้งหลังสุดนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2546 หลังเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ที่เดพายิน ผู้สนับสนุนดอว์ ออง ซาน ซูจี ประมาณ 200-300 คนถูกสังหารอย่างทารุณ

รัฐบาลฯยอมรับในการแถลงข่าวว่า มีฝ่ายต่อต้านผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ประมาณ 5,000 คน มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ แต่ไม่ยอมรับว่ารัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย นายเปาโล เซอร์จิโอ พินเฮียโร (Mr. Paulo Sergio Pinheiro) ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า กล่าวไว้ในรายงานของเขาว่า "มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เดพายินจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการรับรู้ของหน่วยงานของรัฐ"

ข้ออ้างที่เกรงว่าการปล่อยตัว ดอว์ ออง ซาน ซูจี จะนำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบในประเทศนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบธรรม จุดมุ่งหมายที่เธอยึดมั่นตลอดมา คือการแสวงหาความยุติธรรมโดยการใช้สันติวิธี และผู้สนับสนุนเธอก็มีทัศนคติเช่นเดียวกัน จึงควรเป็นที่ปรากฏชัดเจนสำหรับทุกคนว่า ดอว์ ออง ซาน ซูจี คือ โจทก์ และพวกที่กล่าวหาเธอนั้น คือฝ่ายที่กระทำความผิด

ขันติธรรมของดอว์ ออง ซาน ซูจี ที่มีต่อฝ่ายตรงข้าม และความเข้มแข็งในตัวเธอนั้น ได้สร้างความหวังและความเข้มแข็งให้พวกเราด้วย ไม่มีข้อกังขาประการใดว่า การปล่อยตัวเธอจากการถูกกักบริเวณในบ้านพักนั้นจะเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศของเรา การจองจำ ดอว์ ออง ซาน ซูจี หมายถึงการจองจำประชาชนของพม่าด้วย

สมาคมแห่งประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (สมาคมอาเซียน) รับพม่าเข้าเป็นสมาชิกด้วยความหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์จากฝ่ายรัฐบาลฯที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (เอสพีดีซี) แต่สัญญาต่างๆที่สภาแห่งนี้ฯประกาศไว้นั้น คือความว่างเปล่าและไร้ค่า ไม่มีความก้าวหน้าที่แท้จริงใดบังเกิดขึ้น

เราควรจะสนับสนุนคณะกรรมการกึ่งรัฐสภาเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (The ASEAN Inter-Parliamentary Caucus for Democracy in Myanmar-AIPMC) ต่อความพยายามที่ไม่ยอมให้สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ได้ตำแหน่งประธานสมาคมอาเซียน ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องทบทวนการพิจารณาสมาชิกทั้งหมดของสมาคมอาเซียน แม้ว่าสภาสันติภาพและการพัฒนาฯยินดีที่จะให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับฝ่ายขบวนการประชาธิปไตย

สัปดาห์ที่ผ่านมา ฟลอคองส์ โอเบอร์น่า (Florence Aubenas) ผู้สื่อข่าวชาวฝรั่งเศส เดินทางกลับจากประเทศอิรัก ซึ่งเธอถูกกลุ่มกบฏจับกุมไว้เป็นตัวประกันนานถึงห้าเดือน เธอได้รับช่อดอกไม้ต้อนรับการกลับบ้านจากประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศศ นายชาร์ก ชีรัค (Jaques Chirac) และประชาชนที่มารอรับเธอที่สนามบินเป็นการปลอบขวัญ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะเห็นวันที่ดอว์ ออง ซาน ซูจี ได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันนั้นกำลังจะมาถึง

ข้าพเจ้าขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง สำหรับการมอบเกียรติยศนี้แก่ ดอว์ ออง ซาน ซูจี ถ้าเธออยู่ที่นี่ในวันนี้ เธอจะขอบคุณท่านสำหรับการสนับสนุนของท่านที่มีให้กับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศของเรา เธอจะต้องกล่าวว่าเกียรติยศที่ได้นี้มิใช่เป็นของเธอคนเดียว แต่เป็นของประชาชนพม่าทั้งหมด ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ใบนี้ จะเป็น สาส์นแห่งความหวังจากประชาชนไทยถึงประชาชนพม่า

กรุงเทพฯ ณ วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2548
ดอว์ ซาน ซาน
เลขานุการ สหภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net