Skip to main content
sharethis

รัฐสภา -13 มิ.ย.48 คณะอนุกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าชุมชน พ.ศ. ... ซึ่งมีตัวแทนระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 2 ในวันนี้โดยในที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุป

นายสุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชฯ หนึ่งในอนุกรรมธิการฯ กล่าวว่าที่ประชุมยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ในเรื่องโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ที่ทางส.ว.บางกลุ่มได้เสนอให้อยู่ในร่างพ.ร.บ.ด้วย โดยส่วนตัวคิดว่าโครงการนี้ไม่ควรเข้ามาอยู่ในร่างกฎหมาย เพราะเป็นโครงการที่ใช้แก้ปัญหาของกรมป่าไม้โดยเฉพาะ แต่เจตนารมณ์ของร่างพ.ร.บ.ป่าชุมาชนคือการรักษาป่าที่เน้นประชาชนเป็นคนดูแล

อีกทั้งการบรรจุโครงการดังกล่าวในร่างกฎหมายยังเป็นการข้ามขั้นตอนการทำงาน ซึ่งควรจะออกพ.ร.บ. ก่อนออก แล้วจึงออกกฎกระทรวง จากนั้นจึงค่อยออกระเบียบของโครงการ ซึ่งโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ก็เป็นโครงการหนึ่ง

เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชฯ กล่าวต่อว่า ปัญหาความไม่ลงตัวส่วนหนึ่งนั้นสาเหตุน่าจะมาจากการขัดแย้งทางความคิดของคนกลุ่มหนึ่ง ที่เห็นว่าการเสนอร่างพ.ร.บ.ด้วยภาคประชาชนที่ให้ประชาชนเป็นผู้ดูแลป่าเองเป็นเรื่องที่ไปไม่ได้

นายสุรพลกล่าวว่า ประเด็นต่อมาคือเรื่องนิยามของคำว่าชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม โดยทั้งส.ส.และส.ว. เห็นพ้องในการทบทวนใหม่อีกครั้งว่าจะให้เป็นส่วนหนึ่งของร่างหรือไม่ โดยตนคิดว่า ไม่ควรนำนิยามอย่างที่เป็นอยู่มาใช้ในร่างพ.ร.บ. เพราะเจตนารมณ์ในการรักษาป่าควรเปิดให้ผู้อยู่อาศัยที่มีพฤติกรรมรักษาป่าได้

"ถ้าชาวบ้านมีพฤติกรรมในการรักษาป่า แต่ไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ จะต้องไล่ออกหรือ และสังคมไทยส่วนใหญ่ก็เป็นการย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ อยู่ไม่เป็นที่ จึงเป็นเรื่องยากในการไปตีความหรือไปสืบค้นรากเหง้าของชาวบ้าน" เลขามูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชฯ กล่าว

"ป่าชุมชนเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนทางสังคม มีเรื่องทางเทคนิคเข้ามาเกี่ยว อีกทั้งยังมีเรื่องของอำนาจรัฐในตัวกฎหมายที่เข้ามากำหนดในการอนุญาตให้อยู่หรือไม่ และยังโยงถึงเรื่องคอร์รัปชั่น การลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน สุดท้ายก็คือการไม่ยอมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจนั่นเอง ก็เหมือนที่ทางวุฒิสภาที่เป็นกังวลในเรื่องนี้มาก และเห็นว่า 50,000 รายชื่อของประชาชนที่จะออกมาดันร่างพ.ร.บ.นี้เป็นเรื่องไม่ควร" นายสุรพลกล่าว

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ สว.ตาก ประธานคณะอนุกรรมาธิการร่วม ฯ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์โดยให้เหตุผลว่า กำลังอยู่ในการพิจารณาและยังหาข้อสรุปไม่ได้ จึงขอยกไปวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (16 มิ.ย.) ซึ่งจะเป็นการนำข้อตกลงในคณะอนุกรรมาธิการเสนอและลงมติในที่ประชุมของกรรมาธิการร่วมระหว่างส.ส.และส.ว.ชุดใหญ่

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ...... มีตัวแทนจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ส.ส.บัญชีแบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ นายฉัตรชัย รัตนโนภาส อธิบดีกรมป่าไม้ นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จังหวัดน่าน นายสุรพล ดวงแข เลขามูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชฯ นายสุวัช สิงหพันธุ์ อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชฯ

ตัวแทนของวุฒิสภา มีดังนี้ นายพนัศ ทัศนียานนท์ ส.ว.ตาก นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ส.ว.ชัยภูมิ นายนิวัฒน์ พ้นชั่ว ส.ว.ระยอง นางพรหมจารี รัตนเศรษฐ์ ส.ว.นครราชสีมา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
ส.ว.กรุงเทพฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net