Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 8 มิ.ย. 48 ในการอภิปรายเรื่อง "จุดยืนของประเทศไทยเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิไทยภายใต้เอฟทีเอ" ที่หลายองค์กรร่วมกันจัดขึ้นในวันนี้ มีผู้เสนอมุมมอง ข้อวิตกกังวล ตลอดจนทางออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชนอย่างหลากหลาย

ผศ.ภญ.สำลี ใจดี นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) เสนอว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเสนอญัตติด่วนเพื่อขอทราบรายละเอียดการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของรัฐบาลในการทำเอฟทีเอกับสหรัฐ ก่อนที่จะมีการเจรจาในรอบต่อๆ ไป เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและทุกส่วนสามารถช่วยกันตรวจสอบ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นได้ เพราะปัจจุบันมีการวิเคราะห์ถึงความต้องการของสหรัฐกันมาก ในขณะที่ไม่มีใครสามารถให้ข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไทยเตรียมการหรือวางกรอบรายละเอียดการเจรจาไว้เช่นไร

ขณะเดียวกันคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเคยเสนอญัตติด่วนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ1 เมื่อปลายปี 2546 แต่ก็ไม่รับความสนใจจนรัฐบาลหมดวาระ โดยล่าสุดได้มีการยื่นเป็นญัตติด่วนอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีกลไกการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสมากกว่าที่เป็นอยู่ และเสนอให้เพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนเข้าไปร่วมในกระบวนการเจรจาและตัดสินใจเอฟทีเอ โดยจะเปิดให้ภาคประชาชนร่วมร่างด้วย อย่างไรก็ตาม คุณหญิงกัลยาได้เสนอให้ภาคประชาชนร่างกฎหมายดังกล่าวเอง และนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาร่วมกับร่างของฝ่ายค้าน

ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "เราต้องร่วมกันสร้างแรงกดดัน เช่นเดียวกับการชะลอการเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งฝ่ายการเงินเขาแรงไม่เยอะแต่เสียงดังในการกดดันรัฐบาล เราจะปล่อยให้ประเทศไทยไปผูกมัดกับประเทศอื่น โดยที่ประชาชนไม่ยอมไม่ได้"

ทั้งนี้ ในเวทีอภิปรายส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับคุณหญิงกัลยา ในการที่จะเรียกร้องให้ชะลอข้อตกลงเอฟทีเอในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาไว้จนกว่าจะหาข้อยุติได้โดยการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบอย่างชัดเจนต่อไป

สำหรับนายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา ม.ศิลปากร เห็นว่า กฎหมายของรัฐมีข้อจำกัด โดยจะไปครอบงำจารีตประชาชน ดังนั้นการสร้างกฎหมายที่นำไปสู่การขุดรากถอนโคนวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องยืนยันกฎหมายของชาวบ้านหรือที่เรียกว่ากฎหมายแบบพหุสังคม

นายอุบล อยู่หว้า จากเครือข่ายเกษตรทางเลือก ภาคอีสาน เสนอว่า "ข้าราชการต้องเพิ่มความกล้าหาญในการร่วมกับประชาชนกำหนดจุดยืนและการหาทางออกไม่ใช่รอให้ฝ่ายการเมืองมากำหนดเพียงอย่างเดียว"

ทั้งนี้ งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญา ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา สมาคมผู้ส่งออกข้างต่างประเทศ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net