Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในโลกทุนนิยมเช่นปัจจุบัน มักมีการพูดคุยกันด้วยภาษาธุรกิจเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกไปด้วยการหักเหลี่ยมเฉือนคม ต่อสู้ฟาดฟันเพื่อผลประโยชน์ ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจ "ความงาม" ที่ฉากหน้าพูดคุยกันด้วย "ภาษาดอกไม้" แต่สุดท้ายคำว่าธุรกิจ จะต้องจบลงด้วยการมีทั้งผู้ "สมประโยชน์" และ ผู้ "เสียประโยชน์"

เวทีการประกวดต่างๆ ก็คือ ธุรกิจความงามประเภทหนึ่ง ที่ยกผู้หญิงและความงามมาเป็นต้นทุนทางธุรกิจ โดยการนำมาอวดโฉม ประชัน กันท่ามกลางสายตาบุคคลสาธารณะที่จับจ้อง เพื่อเรียกเงินสนับสนุนมหาศาลจากสปอนเซอร์ แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ธุรกิจประเภทนี้ ใครคือผู้ "สม" และใครคือผู้ "เสีย"

ประเทศไทยเองก็กำลังนำตัวเองเข้าไปพัวพันกับธุรกิจประเภทนี้ ด้วยการหอบเงินงบประมาณ ของประเทศกว่า 260ล้านบาท ไปลงทุนร่วมกับบริษัทเอกชนไทย นาม "ทีดีซี" โดยมีคู่ค้า คือ บริษัท มิสยูนิเวิร์สอิงค์ สหรัฐอเมริกา และเพื่อการเป็นเจ้าภาพ "การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2005"

การประเมินค่าทางธุรกิจที่สุ่มเสี่ยง

เป็นไปได้ว่ารัฐบาลไทยอาจมีการเจรจาธุรกิจด้วยความไม่รู้ว่า 260 ล้านบาท ที่ลงทุนไปไม่สามารถเรียกคืนได้จากสปอนเซอร์ หากย้อนกลับไปดูมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 10 พ.ค. ซึ่งวันนั้นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ท่องเที่ยวฯ ได้พาบรรดาเหล่าผู้ประกวดมาพบนายกฯ แล้ว แต่นายสมศักดิ์กลับต้องมาแจงต่อครม.ต่อว่า 260 ล้านบาท ที่ครม.มีมติให้สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ไม่สามารถเรียกคืนจากสปอร์นเซอร์ได้ เพราะทาง ทีดีซี แจ้งมาเงินสปอร์นเซอร์เป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัท มิสยูนิเวิร์สอิงค์

สุดท้ายเลยอ้อมแอ้มว่าไม่ขาดทุนอย่างน้อยเขาก็ให้สิทธิ์วีดิโอโปรโมทประเทศ 9 นาที โดยให้เหล่านางงามในสังกัดเขาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ฟรี

ในกรณีดังกล่าว นางชาล็อต โทณะวณิก หัวเรือใหญ่คนหนึ่งจาก ทีดีซี กล่าวว่าได้แจงประเด็นดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่แรก แต่อาจมีความบกพร่องในการสื่อสาร แต่ก็ยืนยันว่าผลที่ได้จากการท่องเที่ยวคุ้มค่าแน่นอน

คำถามอยู่ที่ว่าแล้วจะเป็นไปอย่างที่พูดจริงหรือไม่.........

กระแสโลกกับมิสยูนิเวิร์ส

การคาดหวังผลจากการท่องเที่ยวกับมิสยูนิเวิร์ส อันดับแรกควรประเมินก่อนว่า การประกวดมิสยูนิเวิร์สยังเป็นกระแสที่สังคมยังสนใจเหมือนในอดีตหรือไม่ หรือหากยังเป็นที่นิยมนางงามซึ่งก็คือ พรีเซ็นเตอร์ จะเป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้แค่ไหน และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มคนดูเป็นกลุ่มใด การชมการประกวดมิสยูนิเวิร์สจะทำให้มีการตัดสินใจมาประเทศไทยหรือไม่

การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดมิสยูนิเวิร์ส ทำให้คนไทยตื่นเต้นฮือฮา รู้สึกภูมิใจว่าต่างประเทศให้เกียรติในงานระดับโลก โดยหาได้สำเหนียกตัวเองว่า ต่างประเทศมองเราเพียงฐานะคู่ค้าทางธุรกิจที่จะทำกำไรจากการโง่งมและหลงในรูปเงาของตัวเอง

เงาที่ยังหลงอยู่คือคราบความทรงจำของการได้รางวัลมิสยูนิเวิร์สของ อภัสรา หงส์สกุล และ
ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ผ่านมานานนับสิบปีแล้ว

ความยิ่งใหญ่ของมิสยูนิเวิร์สในอดีตอาจดูสำเร็จและยิ่งใหญ่ เพราะในสมัยนั้นรายการโทรทัศน์ระดับโลกคงยังมีไม่มาก เหมือนกับการถ่ายทอดสด นีล อาร์มสตรอง เหยียบดวงจันทร์ ทั้งโลกล้วนจับจ้องหน้าจอทีวี แต่หากเป็นยุคปัจจุบันคนดูคงจะไม่เป็นกระแสมหาศาลอย่างแต่ก่อน ด้วยการที่คนชินกับเทคโนโลยีที่นับวันจะสูงขึ้น

มิสยูนิเวิร์สเองในปัจจุบันก็คือความซ้ำซากจำเจ แต่บริษัทยังเห็นว่าธุรกิจความงามประเภทการประกวดยังเป็นช่องทางที่สามารถทำกำไรมหาศาลจากกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาได้ ปัจจุบันจึงย้ายแกนกลางการประกวดจากอเมริกา ตระเวนไปยังประเทศอื่น และมักเป็นประเทศในโลกที่ 3 อย่างเช่นในปีที่แล้วก็มีการจัดที่ประเทศ ปานามา

ประเทศไทยก็ตอกย้ำระดับความด้อยพัฒนาถึงขั้นดึงบุคคลระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงในฐานะบุคคลผู้บริหารประเทศมาเป็นเพียงผู้มอบตำแหน่ง "ชุดประจำชาติยอดเยี่ยม" ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกทำ เพราะเปรียบเสมือนการเอาตัวไปเกาะกับอะไรที่ดูเหมือนเป็นสากลอยู่ตลอดเวลา แต่กลับไม่ได้ไปยืนหยัดบนเวทีโลกอย่างสง่างามด้วยขาของตัวเอง

กลับมาที่เรื่องการประเมินผลที่ได้รับจากการท่องเที่ยว การประกวดมิสยูนิเวิร์ส กระตุ้นให้คนมีความต้องการไปประเทศเจ้าภาพได้แค่ไหน ทางที่ดีก่อนที่รัฐบาลจะนำงบประมาณมหาศาลไปลงทุน ควรมีการวิจัยถึงผลดีผลเสียของการรับเป็นเจ้าภาพจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สในลักษณะที่เป็นรูปธรรมเพื่อแสดงต่อสาธารณชนให้ชัดเจน

เป็นการรับประกันว่าภาษีของประชาชนจะไม่สูญเปล่า เพื่อแลกกับการได้หน้าและผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน

ดังที่กล่าวไปแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายในการดูการประกวดมิสยูนิเวิร์ส คือประเทศในกลุ่มโลกที่ 3 เช่น ประเทศแถบลาตินอเมริกา ประเทศหมู่เกาะ หรือประเทศในแถบเอเชียบางส่วน ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วกลับปฏิเสธการเป็นเจ้าภาพเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากกลัวเป็นการสร้างภาพลักษณ์ความด้อยพัฒนา

อาจสังเกตได้ง่ายๆว่าประเทศที่ส่งมิสยูนิเวิร์สเข้าประกวดปัจจุบันมีจำนวนลดลง จากเดิม 125 ประเทศ เหลือเพียง 81 ประเทศ และมีแนวโน้มว่ากำลังลดลงอีกในอนาคต

จากความจริงข้างต้นอาจประเมินได้ว่าประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้วมองการประกวดมิสยูนิเวิร์สในลักษณะธุรกิจ และแยกออกจากความบันเทิงหรือความภูมิใจชัดเจน ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนารวมทั้งประเทศไทยกลับมองเป็นเรื่องของความภูมิใจ และปลูกฝังเรื่องทัศนคติทางความงามเป็นคุณค่าของผู้หญิง และมองข้ามเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจไป

การเอาใจให้ประเทศด้อยพัฒนารู้สึกภูมิใจในความเป็นมิสยูนิเวิร์สก็คือ การให้รางวัลชนะเลิศกับกลุ่มประเทศเหล่านั้นผลัดๆ กันไป จะเห็นได้ว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีประเทศที่เจริญแล้วได้รางวัลเพียง 2 ครั้ง ได้แก่ อเมริกา เมื่อค.ศ.1997 และออสเตรเลียในปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้นล้วนเป็นประเทศลักษณะเดียวกับไทยทั้งสิ้น ได้แก่ เวเนซูเอล่า ทรินิแดด บอสวานา อินเดีย เปอโตริโก ปานามา และโดมินิกัน

ลักษณะธุรกิจที่เสียประโยชน์

การทำธุรกิจแต่เห็นเฉพาะเรื่องความงาม อาจนำมาซึ่งการเสียประโยชน์ โดยเฉพาะภาษีที่เป็น ของประชาชน

การลงทุนธุรกิจความงามครั้งนี้ใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 600 ล้านบาท บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ จะรับผิดชอบ ราว 300 กว่าล้านบาท แต่ในการลงทุนดังกล่าวคาดว่า จะได้ต้นทุนคืนจากสปอนเซอร์รวมทั้งกำไรอีกมหาศาล เพราะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การประกวด

ส่วนกลุ่มทีดีซี และพันธมิตร จะได้เงินการดำเนินการทั้งจากรัฐบาลและบริษัทมิสยูนิเวิร์สอิงค์ รวมทั้งได้เครดิตทางธุรกิจ ในฐานะผู้รับผิดชอบรับจัดงานใหญ่ๆ ระดับโลก เป็นการการโฆษณาบริษัทโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก และอาจมีกำไรบ้างจากการเป็นผู้ออร์แกนไนซ์งาน

แต่สำหรับประเทศไทยในฐานะที่รัฐบาลหอบเงินประชาชนไปลงทุนกลับต้องมานั่งลุ้นหวังผลอย่างน่าเสียวไส้ว่า 260 ล้านบาท ที่ทำวีดิโอโฆษณาประเทศจะสร้างแรงกระตุ้นพอให้คนมาเที่ยวประเทศไทย

ที่สำคัญกลุ่มคนดูการประกวดมิสยูนิเวิร์ส เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มโลกที่ 3 เช่นเดียวกับประเทศไทย ในขณะที่กลุ่มทุนอย่างประเทศตะวันตก หรืออเมริกากลับสนใจ ฟุตบอล เอ็นบีเอ หรืออเมริกันฟุตบอลมากกว่า ดังนั้นหากประเมินกำลังทรัพย์ของนักท่องเที่ยวแล้ว แม้ปริมาณคนดูจะมากแต่การหวังผลที่จะให้ผู้ดูเดินทางเข้ามาประเทศไทยอาจมีความเป็นไปได้น้อย

ในขณะเดียวกันเมื่อผนวกเข้ากับสถานการณ์โลกปัจจุบัน เช่น ภาวะความไม่มั่นคงจากการก่อการร้ายที่กำลังระบาดไปทั่งโลกรวมทั้งภาคใต้ของประเทศไทยด้วย ดังนั้นตราบใดที่สถานการณ์ภาคใต้ยังไม่คลี่คลาย ประเทศไทยยังถือว่าเป็นประเทศที่ไม่มีความปลอดภัยในสายตาฝรั่ง

ปัจจัยจากราคาน้ำมันโลกที่นับวันมีแต่จะถีบตัวสูงขึ้นก็อาจทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัว แล้วจะหวังได้อย่างไรว่าต่างประเทศจะสนับสนุนให้คนเที่ยวต่างประเทศ

เรื่องโรคระบาด ไทยเองก็ประสบปัญหาไข้หวัดนกมาหลายระลอก ปีนี้เองทีท่ายังไม่น่าปลอดภัยนัก เมื่อเวียดนามประกาศว่าสถานการณ์ไข้หวัดนกได้เริ่มอีกครั้ง หากไทยเตรียมการไม่พร้อมก็อาจเกิดวิกฤติซ้ำรอยได้

ปัญหาทุกปัญหาล้วนเป็นสิ่งที่ทำลายความน่าเชื่อถือทางการท่องเที่ยวอย่างรุนแรงโดยที่ประเทศไทยยังแก้ไขไม่ได้ทั้งสิ้น การใช้ภาพขาอ่อนๆ ขาวๆ วับๆ แวมๆ มาลบ ก็คงไม่ได้ช่วยอะไรให้ภาพพจน์ไทยดีขึ้น

มิสยูนิเวิร์ส ตราประทับ และการสูญเสียจิตวิญญาณ

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ที่ไทยไม่เคยแก้ได้ในสายตาชาวตะวันตก คือ ภาพของผู้หญิงกับโสเภณี ปลายปีก่อนเคยมีข่าวแพร่ออกมาทางเวบไซต์ประชาสัมพันธ์โรงแรมของฝรั่งในประเทศไทย ซึ่งมีข้อความที่กล่าวถึงผู้หญิงไทยแบบเหมารวมว่า การที่ผู้หญิงไทยนุ่งสั้นหรือแขนกุดนั้นก็คือ "โสเภณี"

ในขณะเดียวกัน ตัวเลขสถิติเมื่อปี 2535 โสเภณีในประเทศไทยมีสูงถึง 75,000 คนเป็นอย่างน้อย และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โสเภณีเองก็ทำรายได้ให้ประเทศมหาศาล

การประกวดมิสยูนิเวิร์ส ก็คือการนำเรือนร่างของผู้หญิงมาเป็นจุดขาย จนอาจทำให้มองได้ว่าเป็นการย้ำภาพลักษณ์ของไทยกับการการหากินบนเรือนร่างของผู้หญิง แม้ว่าโสเภณีจะเป็นความจริงเพียงด้านเดียวของสังคมไทย แต่การเสนอเรื่องผู้หญิง เรือนร่าง และธุรกิจ สู่สายตาฝรั่งอาจส่งผลเสียย้อนกลับมาจนคล้ายกับการประทับตรา "เมืองแห่งโสเภณี" ให้ประเทศ

ในขณะเดียวกันประเทศก็ร้อนรนกับการพยายามเรียกเงินจากการประกวดมิสยูนิเวิร์สเสียจนไม่คิดหน้าคิดหลัง โดยนำผู้ประกวดแต่งกายไม่สำรวมถ่ายภาพคู่กับวัด แม้รัฐบาลจะอ้างว่าฝรั่งไม่เข้าใจวัฒนธรรม แต่อย่าลืมว่าผู้เลือกสถานที่ถ่ายทำเพื่อโชว์ประเทศก็คือคนไทยทั้งสิ้น

หากเป็นความตั้งใจของคนไทยเองที่อยากได้เงินก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสมเพชที่จะต้องนำสิ่งที่เคยเป็น ความศรัทธา มาผูกกับเรือนร่างผู้หญิงเพื่อเพิ่มมูลค่าแล้วก็ขายชาวโลก

ประเทศไม่มีปัญญาทำมาหากินถึงขั้นต้องขุดรากขุดเหง้า ขุดศรัทธาและวิญญาณมาขายแล้วใช่หรือไม่?

ล่าสุดแม้แต่การจัดการประกวดเองในฐานะเจ้าภาพก็ดูจะงามหน้าไม่น้อย เมื่อชุด "ประจำชาติ" ถูกโห่เมื่อได้รับรางวัล เพราะค้านสายตาคนดูแม้แต่คนไทยด้วยกันเองคล้ายการตอกย้ำการคอรัปชั่นในทุกระดับของประเทศไทยจริงๆ

แถมฉาวซ้ำอีกด้วยข่าวปูดมิสฯไทย กับมิสฯ ยูเอสเอ ฉะตบกันในห้องน้ำ แม้ภายหลังมิสฯไทยจะออกมาเคลียร์ว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่คงไม่ใช่แค่กระจอกไทยเท่านั้นที่ตีข่าว คงมีการหลุดไปเป็นข่าวซุบซิบในต่างชาติบ้าง

ดังที่กล่าวมาภาพพจน์ประเทศก็หมองพอสมควร หากการประกวดวันสุดท้ายตัวแทนประเทศไทยติด 1 ใน 5 ผู้เข้ารอบสุดท้ายตามโผที่คาดว่า ล็อกไว้ ประเทศไทยคงถูกตราหน้าว่าเป็นชาติที่ขี้โกงไปอีกกระทง

หรือการเป็นเจ้าภาพการประกวดมิสยูนิเวิร์สคราวนี้ จะเสียทั้งตังค์เสียทั้งตัวจริงๆ

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net