Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ
สุธิดา สุวรรณกันธา

นโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางหลายด้าน เมกกะโปรเจ็กต์หลายโครงการเริ่มทยอยปรากฏออกมาให้ได้เห็น ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน แต่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว จะสำเร็จได้ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายส่วน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้านการขนส่งสินค้าและการคมนาคม ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ เพราะปัญหาอุปสรรคสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่คือ การจราจร การไม่มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

แม้ปัจจุบันจะมีรถสี่ล้อแดงวิ่งให้บริการอยู่ในเขตตัวเมืองมากถึงกว่า 2,700 คัน ซึ่งหากย้อนถามความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคส่วนใหญ่ จำนวนรถสี่ล้อแดงกว่า 2,700 คันที่ว่านั้น สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีมากน้อยเพียงใด ซึ่งในประเด็นนี้เชื่อว่าทุกคนล้วนเข้าใจตรงกันเป็นอย่างดี

อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องน่าแปลก ที่เมืองสำคัญอันดับสองของประเทศ และกำลังพลิกโฉมหน้าก้าวสู่เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคในอีกไม่ช้านี้ กลับขาดระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ความพยายามในการเรียกร้องแก้ปัญหาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเชียงใหม่ มิใช่เพิ่งเริ่มต้นวันนี้ ทว่า มีความพยายามมาอย่างยาวนานหลายปี แต่ทุกอย่างยังย่ำอยู่ที่เดิม

ล่าสุด ความพยายามในการผลักดันให้เกิดระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ ถูกจุดพลังขึ้นอีกครั้งจากหลายภาคส่วน โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ ได้เชิญหน่วยงาน องค์กร และผู้มีส่วนได้เสียประกอบด้วยเครือข่ายภาคเอกชน ที่เป็นชมรม สมาคมที่เกี่ยวข้อง, ผู้แทนจากมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียนมัธยมในเมืองเชียงใหม่ จำนวน 61 คน ตลอดจนสื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมสัมมนาอื่น ๆ รวม 31 คน เข้าร่วมหารือ เพื่อร่วมกันพิจารณา ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ณ โรงแรมเดอะปาร์ค จังหวัดเชียงใหม่

ผลสรุปการประชุม ทุกฝ่ายพิจารณาเห็นว่าวิกฤตจราจรในเขตเมืองถือเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งการนำใช้รถเมล์มาให้บริการ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเลือกใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับทุกฝ่ายเพิ่มขึ้น

นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และประธานที่ประชุม เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมครั้งนี้ จะได้นำเสนอผลสรุปการหารือ และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาขนส่งมวลชนสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักโดยตรง เร่งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดโครงการขนส่งสาธารณะในหลาย ๆ รูปแบบเป็นวาระและภารกิจเร่งด่วน เช่น รถเมล์ที่ครอบคลุมเส้นทางสายหลัก และผ่านสถาบันการศึกษาที่สำคัญในตัวเมือง,ระบบรถไฟฟ้า, รถราง ฯลฯ อันจะทำให้ประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ได้รับความสะดวกขึ้น

"ในระยะเร่งด่วน จะเสนอให้มีการนำรถเมล์ของเทศบาลนครเชียงใหม่จำนวน 26 คันออกมามาให้บริการโดยเร็ว เพื่อให้เกิดทางเลือกของผู้บริโภค และจะได้ทดลองนำร่อง และประเมินปัญหาอุปสรรคก่อนขยายไปสู่เส้นทางอื่น ๆ ต่อไป ส่วนในระยะยาวเสนอให้เกิดระบบการขนส่งมวลชนที่เป็นระบบ - เชื่อมโยงกัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคเหนือและอนุภูมิภาค โดยการผลักดันแผนแม่บทของ สนข. ที่ได้สรุปผลการศึกษาและนำเสนอโครงการงบประมาณแล้วกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่จะสามารถนำงบประมาณมาใช้ได้ เช่น กระทรวงคมนาคม, องค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาลนครเชียงใหม่ , องค์การบริหารส่วนตำบลที่อยู่ติดเขตเทศบาล เป็นต้น"

ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมืองเชียงใหม่พัฒนาไปในหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านกายภาพ และกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นเมือง ศูนย์กลางทุกด้านในกลุ่มประเทศแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น ศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้า , ศูนย์กลางการขนส่งและคมนาคมของภาคเหนือ, มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายโครงการ แต่น่าแปลกใจที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเรียกร้อง และหาทางออกเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของจังหวัดโดยส่วนรวม

จากการประชุมหารือทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าควรจะสนับสนุนและผลักดันโครงการศึกษาแผนแม่บทของสำนักงานนโยบายและแผนขนส่งจราจรที่ได้สรุปออกมาว่าจังหวัดเชียงใหม่ควรจะพัฒนาและดำเนินโครงการทั้งหมด 16 โครง คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 16,491 ล้านบาทได้แก่

1. โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมเมืองคู่แฝดเชียงใหม่-ลำพูน สายใหม่ งบประมาณมูลค่า 1,000 ล้านบาท
2.โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อวงแหวนด้านในสุดช่วงสี่แยกรินคำ-ถนนหน้าสนามบิน งบประมาณ 306 ล้านบาท
3.โครงการระบบรถประจำทางขนส่งมวลชน ระยะที่ 1 งบประมาณ 700 ล้านบาท
4.ระบบรถประจำทางขนส่งมวลชน ระยะที่ 2 งบประมาณ 1,200 ล้านบาท
5.ระบบรถประจำทางขนส่งมวลชน ระยะที่ 3 (ยังไม่ได้กำหนดงบประมาณ)
6.โครงการรถประจำทางสำหรับงานมหกรรมราชพฤกษ์ 2006 งบประมาณ 230 ล้านบาท
7.รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ระยะที่ 1 งบประมาณ 6,000 ล้านบาท
8.รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระยะที่ 2 งบประมาณ 6,000 ล้านบาท
9.ระบบรถเมล์ด่วน ((Bus Rapid Transit, BRT) เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า งบประมาณ 185 ล้านบาท
10.รถไฟชานเมืองเชียงใหม่-ลำพูน งบประมาณ 20 ล้านบาท
11.รถไฟรางคู่ (Double Track) เชียงใหม่-ลำพูน งบประมาณ 330 ล้านบาท
12.โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟชานเมือง สถานีรับส่งสินค้าทางรถไฟพร้อมลานจอดรถ (Park & Ride) งบประมาณ 30 ล้านบาท
13.เพิ่มเติมระบบสัญญาณไฟควบคุมการจราจรด้วยคอมพิวเตอร์และป้านแสดงข้อมูลสารสนเทศด้านการจราจร งบประมาณ 60 ล้านบาท
14.จัดทำที่จอดรถสำหรับระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ (Park & Ride) งบประมาณ 375 ล้านบาท
15.ควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่เขตทางและการจอดรถในเทศบาลนครเชียงใหม่ งบประมาณ 25 ล้านบาท และ
16. ควบคุมปริมาณจราจรในเขตเมืองเชียงใหม่พื้นที่ภายในวงแหวนด้านในสุด (Access Control) งบประมาณ 30 ล้านบาท

สำหรับผู้แทนภาคการศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประชุมเสนอความคิดเห็นหลักว่าภาคสถาบันการศึกษาในตัวเมืองที่มีจำนวนนักเรียนรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 คน ส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และอยากให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยจัดเส้นทางที่เข้าถึงสถาบันการศึกษาที่สำคัญ เช่น ถนนเจริญประเทศ, มหาวิทยาลัยราชภัฎ - มหาวิทยาลัยพายัพ, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิทยาลัยในเขตเทศบาล และควรมีจุดรับส่งนักเรียน ที่สำคัญที่เดินทางมาจากอำเภอรอบนอก แล้วนำรถขนส่งมวลชนรับส่งในช่วงเช้า - เย็น

นอกจากนั้นควรมีการวางแผนการขนส่งมวลชนอย่างเป็นระบบ เช่น การกำหนดเส้นทางให้มีหลายเส้นทาง, การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกกลุ่ม และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ในเรื่อง ความปลอดภัย , การประชาสัมพันธ์, การรณรงค์ให้ใช้รถเมล์เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น และควรจัดระบบรถสองแถวให้เป็นระบบไปพร้อม ๆ กัน โดยแบ่งเป็นสาย เพื่อจะเป็นส่วนเสริมและการขนส่งสาธารณะทางเลือกด้วย

ตอนนี้หลายสิ่งหลายอย่างพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บทขนส่งสาธารณะเมืองเชียงใหม่ของ สนข. หรือผลการศึกษาต่างๆ รวมถึงรถเมล์ของเทศบาลฯ แต่แผนแม่บท ผลวิจัยก็จะยังคงอยู่บนแผ่นกระดาษต่อไป รถเมล์ 26 คันอาจกลายเป็นซากผุพังไปในไม่ช้า หากทุกอย่างไม่มีการหยิบมาใช้ปฏิบัติจริง และสุดท้ายคนที่ต้องรับกรรมก็คือประชาชน ที่ต้องอยู่ใน "นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง" ด้วยความชอกช้ำระกำใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net