Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 25 พ.ค. 2548-- "ภาวะที่ต่างมุ่งแสวงหาผลกำไรจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการเกี่ยวกับความรู้และข้อมูลซึ่งยังไม่มีเท่าที่ควร เมื่อนานาชาติต่างแสวงเอาของไทย ด้วยการพยายามจดสิทธิบัตร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ภาครัฐสนับสนุนอย่างเร่งด่วน และระดมความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง" นางวิมล คิดชอบ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าภาพกล่าวเปิดงานในการอภิปรายแลกเปลี่ยนการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge) และวัฒนธรรมพื้นบ้าน (Folklore) ในสถานการณ์สากล ณ กระทรวงการต่างประเทศ

เวทีดังกล่าวเป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ ท่าที จุดยืน และแนวทางการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน

แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองถึง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไข พ.ศ. 2535 แต่ทั้งหมดนี้ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้นซึ่งต้องนำมาพิจารณาต่อไป

"กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีการเก็บข้อมูลในแนวทางเดียวกันที่จะนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันไป ไม่ได้จดแล้วขึ้นหิ้ง คำถามก็คือทำอย่างไรจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ในแต่ละภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน ซึ่งเงื่อนไขในแต่ละกฎหมายควรมีการพูดคุยหรือไม่ จัดชั้นให้ตรงกับภูมิปัญญานั้นอย่างไร ใครเป็นผู้กำกับ ต้องระวังปัญหาที่ตามมาหากข้อมูลนั้นบริโภคยาก" นางวิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ทั้งนี้ นางวิบูลย์ลักษณ์ เสนอต่อว่า วิธีการปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันเป็นเก็บข้อมูลไว้เพียงอย่างเดียว และป้องกันการพัฒนาต่อยอดโดยใช้สิทธิบัตร แต่ทุกวันนี้หลายที่เอาภูมิปัญญาของเราไปพัฒนาต่อยอด แต่เราเองยังไม่รู้จะปิดช่องโหว่อย่างไร และตรวจสอบเรียกร้องอย่างไร

"การคุ้มครองภูมิปัญญาเราต้องเข้มแข็ง ถ้าขยายผลถึงสิ่งมีชีวิตเราก็จะสูญเสียไป หากเราพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ดีพอ พยายามขยายคุ้มครองให้กว้างขวาง และมีหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดี สิ่งที่จะกลับเข้าสู่ชุมชนผู้เป็นเจ้าของภูมิปัญญาก็อาจไม่ถูกจำกัดสิทธิต่อไป" นางวิบูลย์ลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net