Skip to main content
sharethis

มหาวิทยาลัยของรัฐกำลังแปรสภาพเป็น McUniversity โดยที่กระบวน การแม็กโดนัลดานุวัตร กำลังแผ่อิทธิพลครอบงำภาคอุดมศึกษา (McDonaldization of Higher Education) ทั้งนี้เป็นที่คาดว่าภายในทศวรรษนี้ สั งคมไทยจะได้เห็น McUniversity ชนิดเต็มรูป

เส้นทางของมหาวิทยาลัยไปสู่ McUniversity เป็นเส้นทางเดียวกับร้าน อาหารประเภท "แดกด่วน ยัดเร็ว" (Fast Food) ซึ่งนำโดย McDonald

McDonald ธำรงชีพและขยายกิจการสืบต่อมาได้ ด้วยการปรับตัวสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคในระบบทุนนิยม ผู้บริโภคย่อมเป็นราชา ความเป็นราชาของผู้บริโภค (Consumer Sovereignty) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมิอาจทำแชเชือนไม่รับรู้ความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคมิอาจมีชีวิตยืนยาว

มหาวิทยาลัยกำลังเดินอยู่บนเส้นทางของการประกอบธุรกิจดุจเดียวกับ McDonald กระบวนการแปรสถาบันอุดมศึกษาเป็นธุรกิจเกิดจากเหตุปัจจัยอย่างน้อย 2 ด้าน ด้านหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ อีกด้านหนึ่งเป็นความต้องการของผู้คนในมหาวิทยาลัยนั้นเอง

รัฐบาลต้องการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ทั้งนี้ด้วยความเชื่อ ซึ่งอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ว่า การออกนอกระบบราชการจะช่วยเสริมส่งประสิทธิภาพการผลิตของมหาวิทยาลัย และเป็นผลดีต่อการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เมื่อการผลักดันให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการเป็นไปอย่างเชื่องช้า "ผู้หวังดี" ซึ่งอาจ "ประสงค์ร้าย" แนะนำให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาอาเซีย (Asian Development Bank) นำประเด็นการออกนอกระบบราชการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นเงื่อนไข

การดำเนินนโยบาย (Policy Conditionalities) ผูกติดกับเงินให้กู้ที่จัดสรรให้รัฐบาลไทย การยืมมือองค์กร "โลกบาล" ระดับภูมิภาค มาเร่งรัดมหาวิทยาลัยของรัฐ แม้จะประสบความสำเร็จ แต่วิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาลชุดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างมาก ผู้นำรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ มิได้มีคำตอบที่ชัดเจนว่า จะให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐออกนอกระบบราชการไป ทำไมกัน ข้อที่อาจเห็นร่วมกันก็คือ การลดการพึ่งพิงรัฐบาลในด้านการงบประมาณพ้นไปจากนั้น หาได้วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ไม่ จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยเข้าสู่วิถีแห่งตลาด (Marketisation) เพื่อแข่งขันกับมหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยนานาชาติ หรือว่าจะถ่ายโอนมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นของเอกชน (Privatization)

ในขณะที่รัฐบาลต้องการผลักไสให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐหาได้มีฉันทมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่สิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการก็คือ ความเป็นอิสระในด้านการบริหารงบประมาณ (Budget Autonomy) หาได้ต้องการลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดินไม่ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐร่ำร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้แก่มหาวิทยาลัยในลักษณะงบเงินอุดหนุนทั่วไป โดยที่มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการจัดสรรการใช้จ่าย ประดุจว่า งบเงินอุดหนุนทั่วไปเป็น "พระศรีอาริย์" ผู้นำพามหาวิทยาลัยสู่สรวงสวรรค์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมิได้สนใจเรื่องการออกนอกระบบราชการ หรือการลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน มากเท่าการได้รับจัดสรรงบเงินอุดหนุนทั่วไป

เมื่อระบบเศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤติการณ์การคลังระหว่างปี 2523- 2525 และเผชิญภาวะถดถอยทาง
เศรษฐกิจในช่วงเวลาอันยาวนานระหว่างปี 2523-2529 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำเนินนโยบายงบประมาณแบบกระยาจก ด้วยการรัดเข็มขัดทางการคลังระหว่างปีงบประมาณ 2525-2531 มหาวิทยาลัยของรัฐต้องเผชิญกับการรัดเข็มขัดทางการคลังของรัฐบาล ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานดังกล่าวนี้ มหาวิทยาลัยต้องลดการพึ่งพิงงบประมาณแผ่นดินและดิ้นรนแสวงหารายได้ของตนเอง การนำ มหาวิทยาลัยเข้าสู่วิถีแห่งตลาดเป็นหนทางที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายแห่งเลือก ครั้นเมื่อระบบเศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ยุคทองของการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 2530 โดย
เฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี 2530- 2534 วิถีแห่งตลาดสร้างรายได้แก่มหาวิทยาลัยและสมาชิกชนิดเป็นกอบเป็นกำ

มหาวิทยาลัยของรัฐเรียนรู้ที่จะ "เอาใจ" ตลาดมากขึ้น โครงการฝึกอบรมผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด รวมทั้งโครงการ Mini MBAs ซึ่งเฟื่องฟูในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่เบ่งบาน ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยของรัฐ มีอำนาจในการประสาทปริญญาบัตรและวุฒิบัตรตามกฎหมาย มหาวิทยาลัยเรียนรู้การหารายได้จากการใช้อำนาจนี้ กระบวนการแปรปริญญาบัตรและวุฒิบัตรให้เป็นสินค้า (Commoditization) เกิดขึ้นควบคู่กับกระบวนการแปรบริการการศึกษาให้เป็นสินค้า หากความต้องการแสวงหารายได้ยิ่งมีมากเพียงใด กระบวนการแปรปริญญาบัตรและวุฒิบัตร รวมทั้งการแปรบริการการศึกษาให้เป็นสินค้าย่อม เชี่ยวกรากมากเพียงนั้น การเดินสู่วิถีแห่งตลาดไม่เพียงแต่ทำให้มาตรฐานการศึกษาหย่อนยานเท่านั้น หากยังทำลายมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันผลิตองค์ความรู้อีกด้วย

ในเมื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยพากัน "เดินสาย" ฝึกอบรมและแปรสภาพเป็น "เซลส์แมน" ขายวุฒิบัตรและปริญญาบัตร มิไยต้องกล่าวว่า มหาวิทยาลัยในเมืองไทยโดยรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มิได้มี การออกแบบเชิงสถาบัน (Institutional Design) เพื่อให้เป็นสถาบันผลิตองค์ความรู้ตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุดังนี้ใครก็ตามที่ผลักดันให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการและเข้าสู่วิถีแห่งตลาด โดยหวังว่าจะก่อให้เกิดความ ก้าวหน้าขององค์ความรู้และวิทยาการ คงจะมีความไร้เดียงสาอย่างถึงที่สุด

มหาวิทยาลัยของรัฐไทยไม่เพียงแต่เดินสู่วิถีแห่งตลาด ดุจเดียวกับ McDonald เท่านั้น หากยังผลิต "สินค้า" ในลักษณะ Mass Production ดุจเดียว กับ McDonald อีกด้วย

การขยายขนาดของการประกอบการเพื่อให้มีการผลิตในลักษณะ Mass Production เกิดขึ้นหลายระลอก ระลอกแรก ได้แก่ การจัดตั้ง "ตลาดวิชา" ดังเช่นมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี 2514 และการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยมวลชน" (Mass University) ดังเช่นมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในเวลาต่อมา ระลอกที่สอง ได้แก่ การยกฐานะวิทยาลัยครูเป็นมหาวิทยาลัย โดยควบรวมกับวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรจนกลายเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และการยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นสถาบันราชภัฏ รวมตลอดจนการจัดตั้งสถาบันราชมงคล ซึ่งมีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาการผลิต "บริการอุดมศึกษา" ในลักษณะ Mass Production ก่อให้เกิด ผลกระทบอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก ความหมายของ "อุดมศึกษา" ในสังคมไทยแปรเปลี่ยนไป อุดมศึกษาในความหมายดั้ง
เดิมตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Higher Education ซึ่งหมายความถึงการเรียนการสอนความรู้ขั้นสูง (Advanced Learning) แต่เมื่อสถาบันอุดมศึกษาทำการผลิตในลักษณะ Mass Production อุดม
ศึกษาจึงหมายเพียงตติยศึกษา (Tertiary Education) เท่านั้น

ในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทุกคนสามารถศึกษาต่อใน ระดับตติยศึกษาได้ แต่มีเพียงบางคนเท่านั้นที่จะศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ การขยายขนาดการประกอบการในภาคอุดมศึกษามีผลในการแปรเปลี่ยนสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นเพียงสถาบันตติยศึกษา

ประการที่สอง การผลิตบริการอุดมศึกษาในลักษณะ Mass Production มีผลในการเหนี่ยวรั้งให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นสถาบันผลิตกำลัง คน โดยที่มิอาจทำหน้าที่ในฐานะสถาบันผลิตองค์ความรู้ได้

ประการที่สาม การเดินสู่วิถีแห่งตลาดและการขยายขนาดการประกอบการเพื่อให้มีการผลิตในลักษณะ Mass Production ทำให้บริการอุดมศึกษา มีลักษณะหลากหลาย (Product Differentiation) สาขาวิชาและหลักสูตรใหม่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยที่เป็นที่ถกเถียงกันได้ว่า สาขาวิชาและหลักสูตร ใหม่เหล่านั้น สมควรที่จะมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหรือไม่

มหาวิทยาลัยของรัฐไทยไม่เพียงแต่เดินสู่วิถีแห่งตลาดและดำเนินการ ผลิตในลักษณะ Mass
Production ดุจเดียวกับ McDonald เท่านั้น หากยังมีการจัดตั้งเครือข่ายสาขา (Chain) ดุจเดียวกับ McDonald อีกด้วย

McDonald จำเป็นต้องจัดระบบเครือข่ายสาขา เพื่อรองรับการ ผลิต ในลักษณะ Mass Production และเพื่อการเติบโตของธุรกิจ การเติบโตเป็น หัวใจของยุทธศาสตร์การประกอบธุรกิจของบรรษัทยักษ์ใหญ่ดังเช่น McDonald

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐไทยให้ความสำคัญแก่การเติบโตในฐานะกลยุทธ์ในการขยายฐานผล
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเติบโตด้วยการจัดตั้งแผนกหรือสาขาวิชาใหม่ รวมตลอดจนการจัดตั้งคณะวิชาใหม่ เกื้อกูลการขออัตรากำลังคนใหม่และการของบประมาณแผ่นดิน ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่ม ตำแหน่งใหม่ ดังเช่น หัวหน้าสาขาและคณบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นสัตว์เศรษฐกิจมีกิเลส มีตัณหาและมีราคะ คนเหล่านี้มิได้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐไปในทางที่ก่อให้เกิดสวัสดิการสูงสุดแก่สังคม (Social Welfare Maximization) หากแต่มุ่งแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดของผู้บริหารเอง (Managerial Utility Maximization)

ทั้งนี้เนื่องจากมีการแบ่งแยกระหว่างความเป็นเจ้าของ (Ownership) กับการควบคุมจัดการ (Control) ในขณะที่ชนชาวไทยเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยของรัฐไทย แต่อำนาจการควบคุมจัดการตกอยู่กับกลุ่มบุคคลผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่ โดยที่ไม่มีการสร้างกลไกการรับผิด (Accountability Mechanism) ต่อประชาชน

สภาพการณ์เช่นนี้ เปิดโอกาสให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุด ส่วนบุคคล และการขยายสาขาและคณะวิชาเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มพูนอรรถประโยชน์ของผู้บริหาร ด้วยเหตุดังนี้ มหาวิทยาลัยของรัฐพากันจัดตั้งภาคและคณะวิชาใหม่ ทั้งนี้โดยอ้างอิงแนวความคิดว่าด้วยมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบของ UNESCO โดยมิได้พิจารณาถึงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Competitive Ad vantage) และความพร้อมของตนเอง ทั้งนี้เนื่องจากการขยายขนาดให้ ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Size Maximization) ช่วยเพิ่มพูนอรรถประโยชน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั่นเอง

กระบวนการขยายอาณาจักรของมหาวิทยาลัยในชั้นแรกเป็นกระบวน การเติบโตจากภายใน (Internal Growth) ด้วยการจัดตั้งภาค/คณะวิชาขึ้น ใหม่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งก่อเกิดโดยมีหลายวิทยาเขตเป็นเพียงอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ ในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มเลือกเส้นทางการเติบโตด้วยการจัดตั้งวิทยาเขตขึ้นใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเดิมมีข้อจำกัดทางกายภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลือกเส้นทางนี้ สถาบันราชภัฏบางแห่งเช่าโรงเรียนเอกชนหรือห้างสรรพสินค้าสอนนักศึกษาภาคพิเศษ พัฒนาการล่าสุด ได้แก่ การเติบโตจากภายนอก (External Growth) บริษัทธุรกิจเติบโตจากภา ยนอกด้วยการควบกิจการ (Merger) หรือครอบกิจการ (Acquisition) มหาวิทยาลัยเติบโตจากภายนอกด้วยวิธีการเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยจากส่วนกลางเข้าไป "ครอบ" สถาบันราชภัฏ ในส่วนภูมิภาค และยึดสถาบันราชภัฏในภูมิภาคต่างๆ เป็นฐานการผลิต

มหาวิทยาลัยกำลังแปรสภาพเป็น Chain Store ดุจเดียวกับ McDonald การจัดระบบเครือข่ายสาขากำลังเริ่มต้น รูปโฉมของสาขากำลังหารูป แบบที่ลงตัว การจัดตั้งวิทยาเขตใหม่ต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งจะกระทำได้ก็แต่ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจอัน รุ่งเรือง การเช่าโรงเรียนเอกชนหรือห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรมเป็น "โรงพิมพ์ปริญญาบัตร" หรือ "โรงพิมพ์วุฒิบัตร" เป็นรูปแบบที่ไม่สมภาคภูมิ โดยที่บางคนอาจเห็นว่า เป็นการกระทำที่เสื่อมศักดิ์ศรี

การ "ครอบ" สถาบันราชภัฏในส่วนภูมิภาค กำลังกลายเป็นรูปแบบที่ลงตัว การทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Alliance Agreement) ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถาบันราชภัฏในส่วนภูมิภาค เกื้อประโยชน์แก่สถาบันราชภัฏในข้อที่มีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย และสามารถจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาอย่างเต็มภาคภูมิ

ส่วนมหาวิทยาลัยก็ได้ประโยชน์จากการใช้กำลังการผลิตส่วนเกิน (Excess Capacity) ให้เป็นประโยชน์ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งล้วนสนับสนุนสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ เพราะช่วยให้จังหวัดที่ตนเป็นผู้แทนมี "มหาวิทยาลัย" แต่การทำสัญญาเช่นนี้โดยพื้นฐาน ย่อมเป็นสัญญาที่ไม่เสมอภาค ดุจเดียวกับสนธิสัญญาบาวริง โดยที่ มหาวิทยาลัยเป็น "เมืองแม่" และสถาบันราชภัฏเป็น "ดาวบริการ" ส่วนเกินทาง เศรษฐกิจจาก "ธุรกิจร่วมทุน" (Joint Venture) ลักษณะนี้ย่อมตกแก่มหาวิทยาลัย ในสัดส่วนสำคัญ

มหาวิทยาลัยเหมือนกับ McDonald ในข้อที่ต่างผลิตบริการที่มีลักษณะ "แดกด่วน ยัดเร็ว" ต่างกันแต่เพียงว่า ผลผลิตของมหาวิทยาลัยมีลักษณะหลากหลายมากกว่า ความแตกต่างสำคัญอยู่ที่ระบบการบริหารและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี McDonald และธุรกิจ Fast Food ทั้งปวง จำเป็นต้องจัดระบบการบริหารที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีเป้าหมายในการลดต้นทุน ให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Cost Minimization) ความสำนึกด้านต้นทุน (Cost Consciousness) เป็นเรื่องสำคัญในองค์กรธุรกิจสมัยใหม่

แต่มหาวิทยาลัยของรัฐไทยหาได้มีความสำนึกด้านนี้ไม่ ไม่มีการจัดระบบการบัญชีต้นทุน (Cost Accounting) และมีการใช้ทรัพยากรไปในทางสูญเปล่า ในเมื่องบประมาณสำหรับการใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งไม่ต้องการหาเอง McDonald และธุรกิจ Fast Food ทั้งปวง ต้องจัดระบบการควบคุมคุณภาพสินค้า (Quality Control)

ทั้งนี้เพื่อมิให้ผลผลิตทางสาขา ต่างๆ มีคุณภาพแตกต่างกันหรือแตกต่างกันไม่มาก มหาวิทยาลัยของรัฐไทยหาได้มีระบบเช่นนี้ไม่ โดยที่ระบบการประกันคุณภาพทางวิชาการ (Quality Assurance) ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบราชการหรือไม่ก็ตาม บัดนี้มหาวิทยาลัยของรัฐไทยกำลังแปรโฉมเป็น McUniversity

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
06-07-2000

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net