Skip to main content
sharethis

ลมหายใจของการท่องเที่ยวไทย ที่แผ่วลงทันตาเมื่อคลื่นสึนามิโถมเข้าใส่กำลังต้องการการเยียวยาอย่างหนัก
แต่คงมิใช่เพียงแค่ภาคใต้เท่านั้น เมื่อ 3 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ควรมีทั้งประเทศได้หายวับไปถึง 8 แสนคน เป้าหมายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่วางไว้ 13 ล้านคนหากไม่มีการปรับตัวย่อมห่างไกลความจริง

พี่เบิร์ด และ น้องสุขใจ คือความหวังที่จะสร้างกระแสท่องเที่ยวในประเทศให้ได้ 16 ล้านคน/ครั้ง แต่เพียงแค่นี้คงยังไม่พอโดยเฉพาะกับภาคเหนือ ที่เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นแล้ว จำนวนผู้มาเยือนถือว่าน้อยที่สุดแล้ว เราจะทำอย่างไร ถึงจะฝ่าวิกฤตการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้

ททท.ชี้เหนือยังมีความหวัง

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ที่โรงแรมอิมพิเรียลแม่ปิง เชียงใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใน 16 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อร่วมกันวางแผนตลาดการท่อง
เที่ยวภาคเหนือทั้งในและต่างประเทศ และจัดเตรียมสินค้าทางการท่องเที่ยวในปี 2549

นางจุฑาพร เริงรณอาษา รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยฝ่ายตลาดในประเทศกล่าวว่า อัตราการเติบ
โตของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาในภาคเหนือ 16 จังหวัด ในปี 2547 เพิ่มสูงขึ้นมาก ต่างชาติเข้าภาคเหนือถึง 3.13 ล้านคน/ครั้ง และคนไทย 10.36 ล้านคน/ครั้ง โดยต่างชาติที่เข้ามาภาคเหนือสูงสุดคือตลาดอเมริกา เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ ปัจจัยสำคัญคือการเกิดขึ้นของสายการบินราคาประหยัด และนโยบายการเป็นฮับทางคมนาคมของเชียงใหม่ ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยมีปัจจัยกระตุ้นคือ แพนด้า

รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวเชื่อว่า ภาคเหนือน่าจะมีการเติบโตที่สูงขึ้น เมื่อดูตัวเลขในปี 2547 ที่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาภาคเหนือสูงกว่าปี 2546 ถึง 10% ในขณะที่คนไทยก็สูงประมาณ 7-8% ส่วนตัวเลขทั้งหมดของผู้เข้ามาเยี่ยมเยียนภาคเหนือทั้งหมดก็สูงขึ้นมา 8% ส่วนเป้าหมายการท่อง เที่ยวของปี 2548 คือนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 13.38 ล้านคน ส่วนของชาวไทยก็คือ 16.05 ล้านคนครั้ง

ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผลกระทบจากสึนามิก็ทำให้ไตรมาสแรกของปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวได้หายไปแล้วราวประมาณ 800,000คน ทำให้ ททท.ต้องเร่งระดมในทำการตลาดหรือกลยุทธ์ในการตลาดในเวลาที่เหลือให้เข้าเป้า แต่ผลกระทบต่อภาคเหนือยังไม่เห็นว่ามีมาก
อย่างไรก็ตาม รายงานพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยและต่างชาติที่เดินทางมาภาคเหนือนั้น สำหรับคนไทย จังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นจังหวัดยอดนิยม รองลงมาเป็นพิษณุโลก เชียงราย นครสวรรค์ และตาก ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากเชียงใหม่แล้ว ส่วนพิษณุโลกเป็นที่นิยมรองลงมาของคนไทย ขณะที่ต่างชาติให้ความสนใจเชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย และพิษณุโลก

แต่เมื่อเปรียบเทียบลำดับของจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนรวมเป็นสัดส่วนแล้ว ภาคเหนือยังเป็นภาคสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวเลือกมาเยือน ขณะที่ลำดับ 1 คือกรุงเทพ กลาง ใต้ อีสาน และตะวันออก

ซึ่งข้อมูลนี้ ททท.อธิบายว่าจำนวนจังหวัดของภาคเหนือที่มีมากกว่า แต่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนรายได้แล้ว ภาคเหนือยังมีรายได้เป็นอันดับ 3 รองจากกรุงเทพและภาคใต้

ทั้งนี้จุดแข็งของภาคเหนือที่สามารถพัฒนาต่อได้คือ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นโดดเด่น มีแหล่งท่อง
เที่ยวทางธรรมชาติมาก สินค้าโอท็อปผสมผสานกับวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืน เป็นศูนย์คมนาคมของภูมิภาคและสามารถมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ อย่างไรก็ตามภาคเหนือยังมีจุดอ่อนคือ สินค้าทางการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักมากเกินไป ความร่วมมือทางด้านส่งเสริมการตลาดมีไม่มาก การรับรู้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเฉพาะเมืองหลัก และการขาดการเชื่อมโยงทางคมนาคมภายในภูมิภาค ซึ่งจำเป็นที่ภาคเอกชนจะต้องมาร่วมมือกันวางแผนให้การตลาดการท่องเที่ยวภาคเหนือถูกทิศทาง

เปิดแผนสินค้าท่องเที่ยวเหนือ 49

นายจารุบุณณ์ ปาณานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าทางการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำเสนอถึงแนวทางการจัดเตรียมสินค้าทางการท่องเที่ยวภาคเหนือในปี 2549 ว่า ได้แบ่งเป็น 5 หมวดสำคัญคือ
1. เส้นทางเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะลุ่มน้ำโขง ที่จังหวัดเชียงรายจะมีโอกาสมาก และเตรียมจะมีการพัฒนาเส้นทางคาราวานวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงจากกรุงเทพ -พะเยา -ด่านชายแดนบ้านฮวก - เมืองคอบ - เมืองฮ่อน - เมืองเงิน - เมืองหงสา -ล่องน้ำโขง - แขวงไชยบุรี -หลวงพระบาง

2. เส้นทางเชื่อมโยงภายในภูมิภาค เช่นเส้นทางกราบรอยพระแก้วมรกต กำแพงเพชร ตาก ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย อันเป็นสถานที่พระพุทธรูปคู่เมืองเชียงใหม่ได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานมาก่อนที่จะมา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่กรุงเทพมหานคร ,เส้นทางเชื่อมชายแดนไทยและพม่า ตาก - แม่สอด - แม่ฮ่องสอน ,เส้นทางชมภูดูทะเลหมอก ภูชี้ฟ้า -ภูซาง-ภูลังกา - ดอยภูคา ,เส้นทาง Green Route & Adventure Fun Park & Unseen point ที่พิษณุโลกและเพชรบูรณ์

3. เส้นทางเชื่อมโยงภายในจังหวัด เช่นเส้นทางวิถีชุมชนไทยลื้อที่พะเยา เส้นทางอิ่มบุญสักการะพระธาตุเก้าจอมที่เชียงราย ทัวร์ 9 มงคลต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์
4.สินค้าท่องเที่ยวตามประเภทสินค้า เช่นอุทยาน ป่าเขา ที่จะเน้นอุทยานแห่งชาติต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่า หุบป่าตาด และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี บึงบรเพ็ด และต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเช่นการล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี หมู่บ้านวัฒนธรรมเข็กน้อย จ.เพชรบูรณ์

5.สินค้าความสนใจพิเศษ เช่น แหล่งที่พักที่สวยงามสะดวกสบาย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเช่นสปา กอล์ฟ แหล่งช็อปปิ้ง เช่นหมู่บ้านโอท็อปเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ ที่ จ.นครสวรรค์ ชุมชนบ้านทุ่งหลวง เครื่องเงินโบราณ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และเชิงเกษตรในแคมเปญ "ท่องเที่ยวสวน ชวนขึ้นเหนือ" "ล่องแก่งแหล่งเหนือ" เช่นแก่งน้ำปาย จ.แม่ฮ่องสอน แก่งน้ำแตง จ.เชียงใหม่ แก่งน้ำเข็ก จ.พิษณุโลก แก่งหลวงลำน้ำว้า จ.น่าน และอีก 6 แห่งผืนป่าตะวันตกที่ จ.กำแพงเพชรและตา รวมทั้งป่าอุ้มผางและน้ำตกทีลอซูในแคมเปญ "พาลูกไปจับรุ้งที่อุ้งผาง" และกิจกรรมโรยตัวหน้าผาเทวดาที่พะเยา เส้นทางจักรยานท่องเที่ยวเมืองเก่า รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นมา (MAN MADE) คือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และสวนนกไทยศึกษา และกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเช่น การเรียนการสอนทำอาหารไทย เทศกาลงานประเพณีที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นประเพณีสงกรานต์ศรีสัชนาลัยที่สุโขทัย ประเพณีอัฎฐมีบูชา ณ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ เทศกาลตรุษจีนที่นครสวรรค์และตักบาตรเทโวที่อุทัยธานี

เอกชนชี้ ยังไม่พ้นพงหนาม

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเอกชนผู้ประกอบการ ยังต้องการให้ททท.ทำมากกว่าการประชาสัมพันธ์หรือวางแผนการตลาดเพียงเท่านี้

นางเสาวลักษณ์ ชิมาด้า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ดูแลด้านการท่องเที่ยวกล่าวว่า ภาคเหนือยังมีปัญหาการคมนาคมที่เชื่อมต่อกันภายในภูมิภาค ซึ่งขาดความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวเช่นกรณีของแม่ฮ่องสอน เมื่อเกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศ หรือไฟป่า ก็ไม่ทำการบินทำให้นักท่องเที่ยวตกค้างหรือไม่อาจเดินทางมาได้ ซึ่งควรพัฒนาเส้นทางอื่นต่อ นอกจากนั้นการวางแผนการท่องเที่ยวที่ผ่านมายังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง

"ถ้ามีการคมนาคมที่ดีมันก็จะสามารถสงเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แขกนักท่องเที่ยวสามารถไปได้ทั่วถึง ที่แม่ฮ่องสอนอย่างเราขายทัวร์ไปถ้าสมมุติว่ามีไฟป่าหรือจะมีหมอกควันมานักท่องเที่ยวก็ไม่สามารถที่จะไปหรือจะกลับจากแม่ฮ่องสอนได้ ฉะนั้นในส่วนนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องก็น่าจะคิดถึงว่า ถ้าสมมุติว่าไปโดยทางเครื่องบินไม่ได้อาจจะต้องสร้างถนนที่สามารถจะไปสู่ตรงนั้นได้ดีหรือไม่ก็ที่สามารถที่จะท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างนั้นได้"

ตัวแทนผู้ประกอบการรายหนึ่งกล่าวเสริมว่าการคมนาคมเชื่อมโยงในภูมิภาคของเหนือถอยหลังเข้าคลอง เมื่อก่อนมีการเชื่อมโยงทางอากาศระหว่างน่าน แพร่ เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก แม่สอด แต่ขณะนี้หายหมด แม้กระทั่งกับแม่ฮ่องสอน ถนนหนทางก็ยังต้องปรับปรุงอีกมาก เช่นกรณีของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีสนามกอล์ฟที่สวยงามที่สุดในภาคก็ว่าได้ แต่คนที่จะไปลำบาก

นายทรงวิทย์ อิทธิพัฒนากุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ กล่าวว่าการที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค เรียกร้องให้สายการบินต่างประเทศเข้ามาเชียงใหม่ แต่หากจะให้เกิดความยั่งยืน น่าจะคือการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวให้ได้มากกว่า

เขามองว่า แหล่งท่องเที่ยวของภาคเหนืออาจไม่ประทับใจนักท่องเที่ยวพอ เพราะแหล่งท่องเที่ยวยังกระจัดกระจาย และไม่ได้มาตรฐาน หากมีศูนย์กลางที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในแง่มุมของชาวเขา น่าจะดึงดูดมากกว่า รวมทั้งประเพณีวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นสงกรานต์และลอยกระทง ยังคงดำเนินการแบบเดิมๆ ทำให้ไม่มีจุดขาย

"ถ้าเรายังจะขายสิ่งเดิมๆอยู่ ช่วงโลซีซั่นเขาจะมาได้อย่างไร ประเทศเขาอย่างเช่นยุโรปอากาศเขาดีช่วงนี้แน่นอนเขาก็เที่ยวประเทศเพื่อนบ้านเขา ฉะนั้นเราจะต้องมีกิจกรรมในช่วงนี้ทั้งกีฬา การประชุมเป็นต้น"

ขณะที่รัฐบาลกำลังมองตลาดจีนให้เข้ามากู้วิกฤตนักท่องเที่ยวขณะนี้ เขามองว่าถูกทิศทางเพราะขณะนี้จีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่สำหรับภาคเหนือหรือเชียงใหม่ มีสายการบินที่บินจากเชียงใหม่ไปคุนหมิงอาทิตย์ละ 2 เที่ยวบิน และเชียงใหม่ไปสิบสองปันนา ทำให้ในยอดนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้าไทยมาที่ภาคเหนือไม่ถึง 10 %
ทั้งๆ จุดขายของภาคเหนือสำหรับตลาดจีนยังมีอยู่โดยเฉพาะที่สามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย

ตัวแทนผู้ประกอบการอีกหลายรายยังเสนอให้เปิดจุดขายทางการท่องเที่ยวใหม่ เช่นแหล่งท่องเที่ยวที่บริหารจัดการดำเนินการโดยชุมชน โครงการในพระราชดำริ และเปิดตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้าภาคเหนือเพิ่มขึ้นด้วย เช่น กิจกรรมดูนกที่ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ไร่กาแฟ การเลี้ยงปลาเทราท์ เป็นต้น

"อยากจะให้เจียดงบด้านประชาสัมพันธ์มาเป็นงบซ่อมแซมดูแลแหล่งท่องเที่ยวเดิมด้วยเพราะหลายแห่งทรุดโทรมไป ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวใหม่เปิดตัวมาก็จริง แต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง สังเกตจากป้ายไปแหล่งท่องเที่ยวไม่มี มีแต่ป้ายโฆษณาขายที่พัก ร้านอาหาร"

สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ ให้แง่คิดว่า ก่อนที่จะรอความช่วยเหลือจากฝ่ายอื่น ผู้ประกอบการก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย โดยรวมตัวกันให้ติดเป็นเครือข่าย มีการโปรโมทตัวเอง

เอเย่นต์รายหนึ่งในกรุงเทพฯ พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารราชการ มีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้นมา เอกชนก็เห็นใจในบทบาทใหม่ และการทำงานที่ต้องพัฒนาตามคำสั่งจากเบื้องบน แต่การทำงานที่ไม่ประสานเชื่อมโยงกันของททท.ซึ่งเป็นหน่วยงานเดิมกับสำนักใหม่ที่ตั้งขึ้นมาส่งผลกระทบต่อเอกชนมาก จุดนี้ฝ่ายบริหารจะต้องทบทวน นอกจากนั้น จุดขายที่เลอะเลือนไปของเมืองท่องเที่ยวสำคัญของภาคเหนือ คืออันตรายอย่างยิ่ง

"ทุกวันนี้ดิฉันยังตลกตัวเองว่า ขายเชียงใหม่จะต้องขายแพนด้าเท่านั้น ซึ่งแปลกประหลาดมาก แต่ก่อนเชียงใหม่เคยชัดเจนเรื่องวัฒนธรรม แต่ตอนนี้เราได้ไปรองรับอีกตลาดหนึ่ง ส่วนสิ่งดีดีเดิมเดิมหายไป จำเป็นที่จะต้องทบทวนตัวเอง"

สถิติหนึ่งที่น่าคิดสำหรับภาคเหนือยิ่ง คือกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ภาพลักษณ์เดิมเราเคยคิดว่าจุดขายของเชียงใหม่และภาคเหนือคือวัฒนธรรมที่อ่อนช้อย งดงาม และธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร แต่ข้อมูลที่ ททท.ได้นำมาเสนอถึงพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยและต่างชาติในภาคเหนือน่าคิดและทบทวนมาก

เชื่อหรือไม่ว่า ช็อปปิ้งเป็นกิจกรรมอันดับ 1 ของทั้งคนไทยและต่างชาติ สำหรับคนไทยสูงในระดับ 60 % รองลงมาเป็นเรื่องของการทำบุญ ไหว้พระ ชมวิว อาหารพื้นเมือง และโบราณสถาน ขณะที่สำหรับต่างชาตินิยมช็อปปิ้งสูงถึง 80 % รองลงมาเป็นเรื่องของอาหาร ธรรมชาติ สุขภาพ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และชีวิตยามค่ำคืน

เมื่อสารพัดปัญหาที่ท้าทายคนในวงการท่องเที่ยวเป็นเช่นนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคงต้องช่วยกันออกแรงมากจะเพียงหวังพึ่ง"น้องสุขใจ" และ "พี่เบิร์ด"

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net