Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประชาไท - 4 พ.ค.48 หลังจากเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทานออกมาเปิดเผยถึงความพยายามครั้งใหม่ในการผลักดันการสร้างเขื่อน 5 แห่งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติสั่งให้ชะลอไปเมื่อปี 2540 ก็ได้เกิดความหวาดหวั่นกันโดยทั่วไปว่าโครงการเขื่อนเจ้าปัญหาที่สมัชชาคนจนผลักดันให้ยุติเป็นผลสำเร็จนั้น กำลังจะถูกกรมชลประทานปลุกขึ้นมาอีกครั้ง อาจเพราะเป็นวาระที่ "สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" เพิ่งเข้ามารับงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วันนี้ความหวาดวิตกนั้นได้รับการยืนยันอีกครั้ง โดยนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.สัญจรที่จ.บุรีรัมย์ วันที่ 24 พ.ค.นี้ จะมีการนำเสนอโครงการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศแบบบูรณาการ โดย "อาจจะ" สอดแทรกโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้ง 5 แห่งดังกล่าวด้วย

"เขื่อนทั้ง 5 แห่งถูกนำมาอ้างว่าจะใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งบ้าง น้ำท่วมบ้าง ซึ่งน่าจะต้องทบทวนว่าจริงหรือไม่ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีเขื่อนทั้งใหญ่และกลางกว่า 700 แห่งแล้ว แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่ คงต้องคิดให้มากๆ เพราะเขื่อนมันแพง ทั้งค่าลงทุนและค่าสูญเสียภายหลัง ถ้าไม่คุ้มก็ไม่มีทางรื้อ ดูเขื่อนบางปะกงเป็นตัวอย่าง" นายหาญณรงค์กล่าว

เขื่อนทั้ง 5 แห่งที่กล่าวถึงนี้ ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร ส่วนเขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช นั้นมีการเพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง และทางกรมชลประทานระบุด้วยว่าเขื่อนโป่งขุนเพชร จะถูกเสนอให้ทบทวนเป็นอันดับแรก เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่ชัดเจนถึงข้อมูล สถานะที่เป็นจริงของโครงการในปัจจุบัน วานนี้(3 พ.ค.) ทางคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้เชิญส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ ชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมชลประทาน มาร่วมกันชี้แจงทำความเข้าใจต่อกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน

"โครงการทั้งหมดเรายังไม่ได้ทำอะไรทั้งนั้น เพราะติดมติครม.ปี 40 ที่สั่งให้ชะลอไว้ก่อน ถ้าไม่มีการทบทวนมตินี้เราก็ทำอะไรไม่ได้" นายธีรวัฒน์ ตั้งพานิช รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวยืนยันระหว่างร่วมประชุม

อาการ "ทำอะไรไม่ได้" ของกรมชลประทานนี้รวมไปถึงข้อเรียกร้องให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการโป่งขุนเพชร ซึ่งกรมชลฯ ระบุจะผลักดันการก่อสร้างเป็นอันดับแรกด้วย

ที่มาที่ไปของข้อเรียกร้องนี้มีมายาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 2540 ที่นายปองพล อดิเรกสาร ประธานแก้ปัญหาสมัชชาคนจน ได้ตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้นมาพิจารณาปัญหาในส่วนของเขื่อนที่ยังไม่ได้สร้าง โดยมีดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ นักวิชาการจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธาน

คณะกรรมการดังกล่าวได้ตั้งคณะทำงานเพื่อทำการศึกษาหาทางออกในกรณีเขื่อนโป่งขุนเพชรจนได้ข้อสรุปแล้วว่า โครงการนี้ควรมีการทำอีไอเอ และการศึกษาผลกระทบด้านสังคม (เอสไอเอ) แม้ขนาดของเขื่อนจะเล็กกว่าที่กฎหมายกำหนด(เพียงเล็กน้อย) ก็ตาม รวมทั้งควรมีการทำประชาพิจารณ์ พร้อมกับนำข้อมูลเปรียบเทียบกับทางเลือกอย่างอื่น

กระนั้นก็ตาม ผลการศึกษานี้รวมทั้งคณะกรรมการดังกล่าวได้ชะงัก และสลายไปหลังจากเปลี่ยนรัฐบาล โดยที่กรมชลประทานยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเพิ่มเติม คณะอนุกรรมการสิทธิฯ จึงพยามยามซักถามในเวทีเพื่อผลักดันให้กรมชลประทานดำเนินการตามแนวทางที่นักวิชาการศึกษาไว้แล้ว เพื่อให้เป็นตัวอย่างให้แก่อีก 4 โครงการที่เหลือ แทนที่จะไปผลักดันการก่อสร้างเขื่อน

ในส่วนของเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้จะมีการออกแบบเสร็จสิ้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพราะติดที่มติครม.2540 ดังกล่าว ขณะที่เขื่อนรับร่อนั้นกรมชลประทานก็ยืนยันว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อ เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันแล้ว

แม้รองอธิบดีกรชลประทานจะออกมายืนยัน แต่ความพยายามผลักดันเขื่อนทั้ง 5 แห่งนี้ก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ โดยก่อนหน้านี้ราวเดือนกรกฎาคม 2547 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีก็ได้ให้กรมชลประทานไปทบทวนข้อมูลคราวหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ กับการยืนยันว่ายังไม่มีการผลักดันอะไร นายธีรวัฒน์ก็ยืนยันเช่นกันว่าต้องบรรจุเขื่อนทั้ง 5 แห่งไว้ในแผนพัฒนาลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแผนการจัดการน้ำทั้งระบบของประเทศและเตรียมเสนอครม.ในวันที่ 24 พ.ค.นี้เช่นกัน

"แผนก็คือแผน ก็ต้องใส่เอาไว้ แม้จะไม่ทำอะไรแล้ว" เหตุผลของรองอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งทำให้กลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้แต่งงงวย และไม่มั่นใจต่อไป เพราะในขณะที่ปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่ดูเหมือนเขื่อนเจ้าปัญหาทั้ง 5 พร้อมจะกลับมาทุกเมื่อในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net