Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 3 พ.ค.48 หลังจากเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทานออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กรมชลประทานเตรียมจะเสนอรัฐ
บาลให้ทบทวนมติครม.เมื่อปี 2540 ที่สั่งชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อน 5 แห่งอีกรอบ ก็ได้เกิดความหวาดหวั่นกันโดยทั่วไปว่าโครงการที่สมัชชาคนจนผลักดันให้ยุติเป็นผลสำเร็จนั้นกำลังจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

เขื่อนทั้ง 5 แห่งนี้ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร และเขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช ที่เพิ่มเติมเข้ามาที่หลัง โดยกรมชลประทานระบุด้วยว่าเขื่อนโป่งขุนเพชร จะถูกเสนอให้ทบทวนเป็นอันดับแรก เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ

ในวันนี้คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธาน จึงได้เชิญส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ ชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมชลประทาน มาร่วมกันชี้แจงทำความเข้าใจต่อกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน

โดยกรณีของเขื่อนโป่งขุนเพชร ซึ่งกรมชลฯ ระบุจะผลักดันการก่อสร้างเป็นอันดับต้นนั้นได้รับความสนใจเป็นพิเศษ คณะอนุกรรมการสิทธิฯ ได้ซักถามและรื้อฟื้นข้อสรุปของคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐบาลตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งมีนักวิชาการอย่างรศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประธาน

การศึกษาในครั้งนั้นได้ข้อสรุปว่า 1.โครงการนี้ควรมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบด้านสังคม (เอสไอเอ) แม้ขนาดของเขื่อนจะเล็กกว่าที่กฎหมายกำหนด (เพียงเล็กน้อย) ก็ตาม รวมทั้งควรมีการทำประชาพิจารณ์ พร้อมกับนำข้อมูลเปรียบเทียบกับทางเลือกอย่างอื่น

กระนั้นก็ตาม ผลการศึกษานี้รวมทั้งคณะกรรมการดังกล่าวได้ชะงัก และสลายไปหลังจากเปลี่ยนรัฐบาล โดยที่กรมชลประทานยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเพิ่มเติม จึงเป็นประเด็นที่คณะอนุกรรมการสิทธิฯ พยามยามซักถามในเวทีเพื่อผลักดันให้กรมชลประทานดำเนินการตามแนวทางที่นักวิชาการศึกษาไว้ ก่อนที่จะเสนอให้ผลักดันการสร้างเขื่อน อีกทั้งจะได้เป็นตัวอย่างให้แก่อีก 4 โครงการที่เหลือ

"ประเด็นการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร เกิดเมื่อตอนนายกฯ ทัวร์นกขมิ้น ซึ่งผู้ว่าฯ ชัยภูมิเสนอให้ก่อสร้างเพราะเกิดปัญหาภัยแล้ง กรมชลจึงเสนอครม.ตั้งแต่สมัยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ให้ทบทวนมติเดิมที่สั่งชะลอไว้ ซึ่งครม.สั่งกลับมาให้ตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ และตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น" นายธีรวัฒน์ ตั้งพานิช รองอธิบดีกรมชลประทานระบุ พร้อมยืนยันด้วยว่าการทำการศึกษาอีไอเอนั้นกรมชลประทานไม่มีอำนาจและงบประมาณในการดำเนินการ เนื่องจากมีมติครม.ปี 40 สั่งชะลออยู่ แต่หากครม.จะมีคำสั่งให้ศึกษาก็ไม่น่ามีปัญหา

ในส่วนของเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้จะมีการออก แบบเสร็จสิ้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพราะติดที่มติครม.2540 ดังกล่าว ขณะที่เขื่อนลับล่อนั้นกรมชลประทานยืนยันว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อ เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจบันแล้ว

"สรุปก็คือ ทั้ง5 เขื่อนเรายังไม่ได้ทำอะไร" นายธีรวัฒน์กล่าว

นี่คือคำยืนยันของรองอธิบดีกรชลประทาน ขณะที่ความพยายามผลักดันเขื่อนทั้ง 5 แห่งปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ราวเดือนกรกฎาคม 2547 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐ มนตรีก็ได้ให้กรมชลประทานไปทบทวนข้อมูลคราวหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ กับการยืนยันว่ายังไม่มีการผลักดันอะไร นายธีรวัฒน์ก็ยืนยันว่าต้องบรรจุเขื่อนทั้ง 5 แห่งไว้ในแผนพัฒนาลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแผนการจัดการน้ำทั้งระบบของประเทศอยู่ดี

ถึงที่สุดนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ จากมูลนิธคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เขื่อนทั้ง 5 แห่งถูกนำมาอ้างว่าจะใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งบ้าง น้ำท่วมบ้าง ซึ่งน่าจะต้องทบทวนว่าจริงหรือไม่ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีเขื่อนทั้งใหญ่และกลางกว่า 700 แห่งแล้ว แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่

"ต้องคิดให้มากๆ เพราะเขื่อนมันแพง ทั้งค่าลงทุนและค่าสูญเสียภายหลัง ถ้าไม่คุ้มก็ไม่มีทางรื้อ หรอก ดูเขื่อนบางปะกงเป็นตัวอย่าง"

"และน่าสังเกตว่าอธิบดีกรมชลประทานออกมาให้สัมภาษณ์ผลักดันเขื่อน 5 แห่งนี้ทุกปีไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ในครั้งนี้ก็เช่นกันที่เปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่และอาศัยเรื่องภัยแล้งประกอบอีก ทั้งที่โครงการ 5 เขื่อนนี้มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ชาวบ้านชุมนุมเป็นปีเป็นเดือน เสียเลือดเสียเนื้อเสียน้ำตามาก ถ้ารมต.หรือรัฐบาลตัดสินใจง่ายๆ สถานการณ์ก็น่าเป็นห่วงยิ่ง" นายหาญณรงค์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net