Skip to main content
sharethis

สถานการณ์สื่อมวลชนไทย ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
ยุคแห่งการบั่นทอนความน่าเชื่อถือสื่อมวลชนไทย

สื่อมวลชนไทยในยุครัฐบาลทักษิณ ยังตกอยู่ในภาวการณ์การแทรกแซงจากอำนาจรัฐและ
รัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2547 ย่างก้าวเข้าสู่ปี 2548 ท่าทีของรัฐบาลทักษิณที่มีต่อสื่อมวลชนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางสร้างสรรค์

แม้ในการไปเป็นองค์ปาฐก ในงานไทยแลนด์ เพรส แฟร์ เมื่อเดือนกันยายน 2547 ที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ปวารณาว่า จะเคารพความเป็นอิสระของสื่อ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้สื่อทำงานอย่างอิสระสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความรอบรู้และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ คำแนะนำต่างๆ จากสื่ออย่างเต็มที่

ในท้ายที่สุดรัฐบาลไม่ได้กระทำดังที่สัญญาไว้ใด ๆ แต่กลับใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการแทรก
แซงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างที่ทำมาโดยตลอด ไม่ว่าการใช้วิธีการขู่ตัดโฆษณา การแทรก
แซงผ่านผู้บริหารสื่อ ความพยายามในการซื้อกิจการสื่อ การเข้าไปถือหุ้นในกิจการสื่อที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การขู่ว่าจะฟ้องหมิ่นประมาทหรือฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายมูลค่าสูงเกินจริง เพื่อให้คู่ความแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้วิธีการโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบและกลยุทธ์ใน 3 ลักษณะคือ แทรก
แซง กวาดต้อนและพยายามแบ่งแยก แต่เมื่อไม่บรรลุผลเด็ดขาด ระยะหลังจึงนำวิธีการราคาถูก เช่น กล่าวหาป้ายสีสื่อมวลชนต่างๆ นานา ตั้งแต่กล่าวหาว่า สื่อมวลชนบ่อนทำลายความมั่นคงในชาติ หรือสื่อมวลชน "เต้าข่าว" หรือสร้างข่าวขึ้นมาเองซึ่งปรากฏการณ์ข้อหลังนี้เริ่มถี่มากขึ้นในช่วงนี้

นายกรัฐมนตรีได้สร้างแบบอย่างของการกล่าวร้ายสื่อมวลชน จนกลายเป็นเยี่ยงทำให้ผู้บริหารระดับสูงทั้งในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐหลายคนเอาอย่าง ทำให้การกล่าวหาสื่อมวลชนแพร่ระบาดไปมากยิ่งขึ้นการกล่าวร้ายดังกล่าวไม่อาจจะแปลเจตนาเป็นอื่นได้

นอกจากจะเป็นความพยายามทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเห็นว่า สื่อเป็นผู้บิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นการชี้ให้สาธารณชนเกิดทัศนคติในทางลบ เพื่อหวังลดความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

นอกจากจะไม่ส่งเสริมให้สื่อมวลชนได้แสดงบทบาทอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของชาติแล้ว รัฐบาลยังไม่สนับสนุนให้สื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่กลับเลือกให้ข้อมูลข่าวสาร ซ้ำร้ายการมีรัฐบาลเสียงข้างมากและเป็นรัฐบาลพรรคเดียว กลับไม่เป็นปัจจัยเอื้อใน
การปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง

การแปรเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักประกันในเรื่องอิสรภาพในการทำงานของสื่อมวลชนที่ตราไว้ในหลายมาตรา ก็ยังไม่มีผลปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมทั้งๆที่การได้มาซึ่งเสียงข้างมากนั้นเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

บทบาทของรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและเป็นอยู่ยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ตระหนักถึงปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งมีบทบัญญัติเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนและที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองไว้แล้ว ความไม่ตระหนักนี้ทำให้ไม่เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะการสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างเสรีนั้น จะช่วยทำให้เกิดความโปร่งใส และปัญหาต่างๆไม่ว่าปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาสิทธิมนุษยชน หรือการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมก็จะลดน้อยลง

ช่วงรอยต่อของปี 2547 ตลอดจนถึงปี 2548 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการบริหารงานรัฐบาลทักษิณ 1 ที่สิ้นสุดลงและก้าวสู่การเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะการเลือกตั้งในวันที่ 6 กุมภา พันธ์ 2548 สามารถนำ ส.ส. เข้าสภาผู้แทนราษฎรได้มากถึง 377 คนและสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จตามที่ได้ประกาศไว้ ส่งผลให้ฝ่ายค้านมีเสียงไม่มากพอที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เรื่องทุจริตคอร์รัปชันได้

ขณะเดียวกันองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็ได้ถูกแทรกแซงอย่างต่อเนื่อง จนไม่อาจทำหน้าที่ตรวจ
สอบได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อมวลชนตระหนักดีว่า เป็นภาระ
หน้าที่ที่จะต้องทำงานให้เต็มกำลัง แม้ว่าท่าทีของรัฐบาลทักษิณที่มีต่อสื่อมวลชนจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางสร้างสรรค์ก็ตาม

ในภาวะเช่นนี้ สื่อมวลชนไทยจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไปโดยยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพราะเชื่อมั่นว่า นี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ไม่แปดเปื้อนข้อกล่าวหาและเป็นเหยื่อการบ่อนทำลายที่กำลังเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันก็จะไม่เพิกเฉยต่อการตรวจสอบกันเอง เพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมแห่งวิชาชีพและความเชื่อถือของสังคม เพราะสื่อมวลชนเป็นสถาบันแห่งวิชาชีพที่ต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบรัฐบาลและสังคมแทนประชาชน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
3 พฤษภาคม 2548

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net