Skip to main content
sharethis

ขณะนี้ความหนักหน่วงที่ "เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี"กำลังเผชิญหน้าอยู่ คือหัวใจสำคัญของโครงการนั้นคือ "สัตว์"

สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 3 สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เกิดขึ้น

* 22 เมษายน 2548 "พลเมืองเหนือ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ โสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการด้านสัตว์ป่าของโครงการนี้
--------------------------

พลเมืองเหนือ : ความคืบหน้าของสัตว์ในไนท์ซาฟารี
โสภณ : คนละส่วนกันแล้วครับ ด้านโน้นเป็นของ อพท. หรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแล้ว สมัยก่อนไนท์ซาฟารีขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเพื่อศึกษาการจัดตั้งสวนสัตว์กลางคืนจังหวัดเชียงใหม่และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว(สสค.) ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้กฤษฎีกาโยกไปอยู่กับอพท. ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว งานไม่น่าจะต่อเนื่อง

พลเมืองเหนือ : ผอ.เป็นอนุกรรมการสัตว์ป่าอยู่ก่อนมิใช่หรือ ?
โสภณ : ตอนนี้คิดว่าน่าจะพ้นตรงนั้นไปแล้ว ก็เลยไม่ได้ต่อเนื่อง เพราะเราได้ทำแผนไปแล้วว่า ถ้าจะจัดการเรื่องสัตว์ป่านั้น จะต้องทำอย่างไร ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ระยะเวลาการเตรียมการ แต่นั่นเป็นแผนเดิม แต่ชุดนี้ก็ไม่ทราบว่าเขาจะทำอย่างไร

พลเมืองเหนือ : อพท.จะต้องมาตั้งต้นใหม่
โสภณ : ใช่ครับ แต่ในส่วนอะไรที่สวนสัตว์ให้ได้ ก็ให้ไป แต่บางอย่างเราก็ทุ่มให้ทั้งหมดไม่ได้ ถ้าเป็นสัตว์ที่พอมีก็ให้ได้ แต่ตามแผนของไนท์ซาฟารีจะเป็นสัตว์เป็นกลุ่ม เราก็อาจให้ได้ไม่ครบตามนั้น หรืออาจให้ไม่ได้ เช่นแรดขาว มีเฉพาะสวนสัตว์เขาเขียวและโคราช ที่เขาดินกับเชียงใหม่ก็ยังไม่มี ส่วนที่ต้องจัดหาจากที่อื่นต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ เพราะบางตัวการจัดหาต้องใช้งบประมาณ

พลเมืองเหนือ: ถ้าอพท.จะต้องเริ่มต้นเริ่มเรื่องสัตว์ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง
โสภณ: 1 .ทีมงานจะต้องเตรียมการเรื่องบุคลากรมาฝึกให้เข้าใจ 2. เรื่องสัตว์ต้องทำต่อเนื่อง วางแผนให้ชัดเจนว่าอะไรที่จะต้องจัดหาจัดซื้อให้ถูกระเบียบที่เขามีอยู่แล้ว ที่เขามีใบอนุญาตถูกต้อง และ 3. ต้องเตรียมพัฒนาเชิงธุรกิจรองรับด้วย
-------------------------------

23 เมษายน 2548 Bogonko Bosirem จากสำนักข่าว เอเอฟพี รายงานการไปเยือนเคนยาของคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดยนางเพ็ญศักดิ์ จักสูตรจินดา สว.สกลนคร และนายวิบูลย์ แช่มชื่น ส.ว.กาฬสินธุ์ ข่าวพาดหัวว่า คณะไทยแสวงหาความร่วมมือเพื่อลดการคัดค้านอย่างรุนแรงทั้งในและนอกประเทศต่อแผนการส่งสัตว์ป่าจากเคนยามายังสวนสัตว์ใน ไทย

"อย่าตื่นตกใจ ต้องใจเย็นเข้าไว้"วุฒิสมาชิก นางเพ็ญศักดิ์ จักสูตรจินดา สว.สกลนคร หัวหน้าคณะบอกกับผู้สื่อข่าว บ่งบอกว่า ข้อโต้แย้งทำให้ภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณะลดลงและมักจะบั่นทอนโครงการข้อตกลงระหว่างประเทศให้หยุดชะงัก

"ยังไม่มีข้อตกลงใดเป็นที่ยุติและยังไม่มีการชำระเงินใดๆทั้งสิ้น"เธอกล่าวหลังการประชุมร่วมกับนักอนุรักษ์ผู้โต้แย้งว่าข้อตกลงดังกล่าวจะก่ออันตรายต่อสัตว์ด้วยการย้ายพวกมันจากป่าไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตามหน่วยงานกิจการสัตว์ป่าแห่งเคนยา(Kenya Wildlife Service, KWS)กล่าวในวันเดียวกันว่า ขณะนี้ทางไทยได้เสนอเงินทุนกว่าล้านดอลลาร์(766,000ยูโร)ให้แก่ชาติแอฟริกาตะวันออกในการสร้างศูนย์อนุรักษ์สัตว์เพื่อแลกเปลี่ยนกับสัตว์ป่า

ข้อตกลงในการส่งสัตว์ป่ามากกว่า300 ตัวจากกว่า30ชนิด รวมทั้งช้าง ฮิปโป สิงโต และแรดที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งกลายเป็นชนวนการคัดค้านจากนักอนุรักษ์และกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ทางการเคนยากล่าวว่าข้อตกลงได้ถูกปรับให้เหลือเพียงม้าลาย ยีราฟ และกาเซลล์ โดยไม่มีแรดและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อื่น แต่กลุ่มผู้คัดค้านยังคงไม่ยอมอ่อนข้อ ส่งผลให้การส่งสัตว์ล่าช้าและการเปิดสวนสัตว์กลางคืนเชียงใหม่ต้องเลื่อนออกไป

นายวิบูลย์ แช่มชื่น ส.ว.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ชนิดของสัตว์ที่อยู่ในรายการที่ทางไทยร้องขอว่าบางชนิดอาจอยู่ในบัญชีแดง(ใกล้สูญพันธุ์) บางชนิดก็ไม่ใช่ อ้างถึงการประชุมการค้าระหว่างประเทศเกี่ยว
กับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เมื่อปี1989ซึ่งควบคุมการค้าสัตว์ป่า

นายวิบูลย์กล่าวว่า ไทยได้ร้องขอสัตว์ป่าประมาณ318ตัวจาก20 กว่าชนิด ซึ่งแผนการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของชาวไทย ที่ส่วนมากไม่ได้มีเงินมากพอที่จะจ่ายสำหรับการเที่ยวซาฟารีที่เคนยาได้

อย่างไรก็ตามกลุ่มนักอนุรักษ์ท้องถิ่นและนานาชาติกล่าวว่านอกจากเป็นการทำร้ายสัตว์แล้วข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้เกิดคำถามขึ้นในอนุสัญญาป้องกันสัตว์ป่าของเคนยา

พวกเขาจึงเตือนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ว่านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเคนยาอาจไม่อยากมาประเทศที่คิดถึงแต่เงินรายได้จากการท่องเที่ยว นักอนุรักษ์หลายคนได้เขียนจดหมายคัดค้านถึงประธานาธิบดีMwai Kibakiแห่งเคนยากระตุ้นการยับยั้งข้อตกลง แต่ยังไม่มีการลงมติใดๆที่เป็นที่สิ้นสุด

ก่อนหน้านี้องค์กรพัฒนาเอกชนต่างประเทศต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการจับสัตว์ป่ามาโชว์และความไม่โปร่งใสในการแลกเปลี่ยนสัตว์ระหว่างไทยและเคนยา เพราะมีสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ในบัญชีคุ้มครองของไซเตส (CITES) เช่น เสือชีต้า แรดขาว สิงโต

วันเดียวกัน 23 เมษายน 2548 ที่ประเทศอินโดนีเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศไทยสานสัมพันธ์เคนยา หวังใช้เป็นประตูไปสู่ทวีปแอฟริกา พร้อมยืนยันจะส่งสัตว์ป่า 300 ตัวมายังไนท์ ซาฟารีที่เชียงใหม่แน่นอน

โดยระหว่างเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำเอเชีย-แอฟริกา ครั้งที่ 2 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโด
นีเซีย นายกันตธีร์ ศุภมงคลรัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้หารือทวิภาคีกับนายชิราอู อาลี มวาควัยรัฐมนตรีต่างประเทศเคนยาว่า ไทยต้องการให้เคนยาเป็นประตูไปสู่ทวีปแอฟริกา เนื่องจากในขณะนี้มีสายการบินเคนยาที่บินตรงระหว่างเคนยาและไทยแล้ว

ขณะเดียวกันเคนยาก็ยืนยันว่าจะส่งสัตว์ป่าจำนวน 300 ตัวไปไว้ที่เชียงใหม่ไนท์ ซาฟารีแน่นอน หากว่าสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการส่งได้ ก็จะรีบจัดให้ทันที ทั้งนี้สัตว์ดังกล่าวสามารถขยายพันธุ์ได้เร็ว ซึ่งหากมีจำนวนมากก็สามารถส่งกลับไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net