Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 48 คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน มีมติให้เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์สลายม็อบ "ตากใบ" เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 47 ทั้งหมด

รายงานฉบับดังกล่าวถูกเปิดเผยมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยนายพิเชต สุนทรพิพิธ ประธานคณะกรรม การอิสระฯ ได้สรุปผลการสอบสวนกรณีตากใบเสร็จและรายงานต่อครม. เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 47 มี
เฉพาะข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระฯ

ขณะที่รายงานฉบับที่ นายอานันท์นำมาเปิดเผยมีทั้งหมด 58 หน้า แบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยนอกจาก 2 ส่วนข้างต้นแล้วยังมี บทนำและข้อเท็จจริงกรณีความไม่สงบที่ อ.ตากใบ ซึ่งอรรถา
ธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของวันที่ 25 ต.ค. 2547

หากพิจารณารายงานฉบับเต็ม ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือมติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 26 เมษายน 2548 พบว่า ในภาคข้อเท็จจริงกรณีความไม่สงบที่ อ.ตากใบ มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากการรายงานต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2547 ดังต่อไปนี้

กรณีการไม่ยอมสลายตัวของผู้ชุมนุม จากการเปิดเผยรายงานครั้งที่แล้ว ระบุว่า มีการวางแผนโดยกลุ่มบุคคลชัดเจน โดยอ้างเรื่องการจับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) แต่จากการเปิดเผยรายงานครั้งล่าสุดระบุว่า ผู้มาชุมนุมส่วนมากไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการ

ทั้งนี้ผลสอบฉบับเต็มระบุว่า ผู้ร่วมชุมนุมมีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มผู้ก่อการ ทั้งกลุ่มที่ตั้งใจมาทำละหมาดหรือให้กำลังใจแก่กลุ่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) และบางส่วนมาดูเหตุการณ์เท่านั้น แต่เมื่อมีการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่ทำให้ไม่สามารถออกมาได้

ส่วนประเด็นการไม่ยอมสลายตัวของผู้มาชุมนุมนั้น ในรายงานดังกล่าวครั้งนี้ระบุว่า มีสาเหตุจากการกีดขวางของกลุ่มแกนนำ ที่ตั้งใจก่อความไม่สงบจำนวนหนึ่ง และเมื่อมีการเจรจาชี้แจงของเจ้าหน้าที่ ก็มีการส่งเสียงโห่รบกวนจากกลุ่มแกนนำดังกล่าว ทำให้ผู้มาชุมนุมส่วนมากไม่ได้ยิน (ข้อเท็จจริงฯ ส่วนที่ 1)

รายงานฯ ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับแกนนำในการชุมนุมซึ่งเป็นเป้าหมายในการควบคุมว่า มีประมาณ 30 - 40 คน ในขณะที่ผู้ถูกควบคุมตัวมีทั้งสิ้น 1,370 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมและถูกควบ คุมตัวรวมทั้งสิ้น 85 คน

ในช่วงสลายการชุมนุม พบว่า มีการยิงปืนในแนวระนาบ โดยมีหลักฐานจากการบันทึกภาพของผู้สื่อข่าว อ.ส.ม.ท.ซึ่งนายทหารหลายนายชี้แจงว่า เป็นวิธีทางการทหารที่จะไม่ให้ผู้ชุมนุมซึ่งหมอบไปแล้วลุกขึ้นมาอีก (ข้อเท็จจริงฯ ส่วนที่ 2)

รถบรรทุก - มีข้อมูลจากผู้ถูกควบคุมให้ข้อมูลว่า คันแรกออกจาก สภ.อ.ตากใบเวลา 15.40 น. ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเวลาประมาณ 17.40 น. บางคันออกเวลา 18.00 น. ถึงค่ายเวลา 21.00 น. บางคันออกเวลา 21.00 น ถึงค่ายเวลา 02.00น. (ข้อเท็จจริงฯ ส่วนที่ 5) ซึ่งในรายงานฉบับแรก(28 ธ.ค.47) ไม่ได้ลงรายละเอียดเวลาการขนย้าย

ในข้อเท็จจริงเรื่องเวลาดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมีผู้เสียชีวิตจากการกดทับในคันแรกๆ ผู้ควบคุมรถน่าจะแจ้งข่าวให้รถบรรทุกเที่ยวหลังเพื่อแก้ไข หรือเตรียมพร้อมเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลได้

มีการทำร้ายผู้ถูกควบคุมระหว่างการขนย้าย ด้วยการตีด้วยพานท้ายปืนหรือกระบอง เตะ และเหยียบ เมื่อผู้ถูกควบคุมส่งเสียงหรือร้องขอความช่วยเหลือ แต่มีรถคันหนึ่งที่ผู้ถูกควบคุมได้รับการดูแลอย่างดี (ข้อเท็จจริงส่วนที่ 5)

การนอนคว่ำและซ้อนทับ - ผู้ถูกควบคุม 92 รายยืนยันว่าตลอดเวลาที่อยู่บนรถบรรทุกต้องอยู่ในท่านอนโดยไม่ได้เปลี่ยนท่า มีเพียงรายเดียวที่ได้นั่ง และในรถคันแรกซึ่ง พ.อ.นพนันท์ ชิ้นประดับ ซึ่งอยู่บริเวณจุดลำเลียงคนลงเป็นผู้พบว่า ในรถคันแรกของขบวนแรก ผู้ถูกควบคุมนอนคว่ำมาแต่ไม่มีการนอนทับซ้อน ในรถคันนี้มีผู้เสียชีวิต 1 คนแต่เกิดจากการถูกตีด้วยของแข็ง (ข้อเท็จจริงฯส่วนที่ 5)

เหตุที่พบผู้เสียชีวิตแล้วไม่รีบแจ้งให้ผู้ควบคุมคันถัดมา แต่กลับให้ลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถก็ต่อเมื่อถึงเรือนจำ แม้ว่ารถจะเข้ามาอยู่ในบริเวณค่ายอิงคยุทธบริหารแล้วก็ตาม ได้รับคำชี้แจงว่า แม้อยู่ในค่ายทหาร แต่การให้ผู้ถูกควบคุมลงมาจำนวนมากอาจจะไม่ปลอดภัย จึงต้องค่อยๆ ทยอยลำเลียงเข้าเรือนจำ (ข้อเท็จจริงส่วนที่ 7 ข้อ 1.6)

คำชี้แจงขัดแย้ง แม่ทัพภาคที่ 4 ชี้แจงว่าได้รับรายงานการเสียชีวิต เวลา 07.45 น. วันที่ 26 ต.ค.47 ว่ามีผู้เสียชีวิต 78 คน โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ออกจาก สภ.อ.ตากใบ เวลา 19.00 น. เพื่อพบนายกฯ ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส จ.นราธิวาส และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้เข้าเฝ้าที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และได้กลับจากเข้าเฝ้า เวลาประมาณ 04.00น. ของวันที่ 26 ต.ค. 47 ขณะนั้นไม่ได้รับรายงานใดๆ เพราะไม่มีใครติดต่อได้

แต่คำชี้แจงของ พล.อ.วิเศษ คงอุทัยกุล รองสมุหราชองครักษ์ แย้งว่า แม่ทัพภาคที่ 4 เข้าเฝ้าเวลา 00.30 น. และได้ทูลลากลับเวลาประมาณ 01.30 น. ซึ่งมีการพูดแล้วว่า มีคนตายประมาณ 70 คน ณ เวลานั้น และระหว่างเข้าเฝ้า หากมีเรื่องด่วนสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อกันได้ (ข้อเท็จจริงส่วนที่ 7 ข้อ 2.2และ2.3)

------------------------

สำหรับสาระสำคัญของผลสอบสวน ที่เปิดเผยไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 47 นั้น ระบุว่า มีความบกพร่องในการขนย้าย ตั้งแต่การไม่สามารถแยกแกนนำออกจากผู้ชุมชุมได้ ทำให้ต้องจับผู้มาร่วมชุมนุมทั้งหมดในขณะที่จำนวนรถที่จัดมาไม่เพียงพอ ทำให้ต้องซ้อนทับผู้ชุมนุมจนอาจเป็นเหตุให้ขาดอากาศและมีผู้เสียชีวิต ซึ่งทั้งหมด ถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่อยู่ควบคุมดูแล

โดยผู้บังคับบัญชาที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ ได้แก่ พล.ท. พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา

พล.ต สินชัย นุตสถิต รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับคำสั่งให้จัดเตรียมน้ำ อาหาร และพื้นที่รองรับที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่ไม่มีคำสั่งให้ดำเนินการเมื่อทราบว่าในการบรรทุกผู้ถูกควบคุมมีผู้เสียชีวิต
พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬเพชร ผบ.พล.ร.5 รับคำสั่งแม่ทัพภาคที่ 4 คุมกำลังสลายการชุมนุมและรับผิดชอบยุทธวิธี แต่ไม่ได้อยู่ดูแลภารกิจให้ลุล่วงและออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรี ที่ อ. เมือง จ.นราธิวาส เมื่อเวลา 19.30 น. โดยไม่มีความจำเป็น

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net