Skip to main content
sharethis

บรรยายภาพ - นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ยืนคุยกับ
กับนายอิสมาแอ อาลี (คนกลางใส่แว่น) ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ ระหว่างเดินทางมาเยี่ยมวิทยาลัยอิสลามศึกษา เมื่อวันอาทิตย์(24 เม.ย.)ที่ผ่านมา

---------------------------------------------------------------------------

ศูนย์ข่าวภาคใต้ - "กรรมการสมานฉันท์ฯ" เปิดข้อมูลรายงานผลสอบตากใบ - กรือเซะฉบับเต็ม ขอปิดเฉพาะชื่อพยาน หวั่นเกิดอันตรายตามหลัง เสนอรัฐบาลเร่งตั้งคณะทำงานสะสางคนหาย จี้จัดระบบป้องกันชาวบ้านถูกอุ้ม "อานันท์" ย่องเงียบเยี่ยมวิทยาลัยอิสลามศึกษา ซักหลักสูตรการเรียนการสอน สั่ง "โคทม" เก็บข้อมูล นัดรอบหน้าจะมาฟังบรรยายสรุป

เมื่อเวลา 9.15 น. วันที่ 24 เมษายน 2548 ที่ห้องประชุมมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ โดยคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม 39 คน จากทั้งหมด 49 คน

ผู้ไม่มาประชุม

สำหรับผู้ไม่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ยะลา นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา พรรคประชาธิปัตย์ นายสุจริต ปัจฉิมนันท์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พล.ต.ท.สมศักดิ์ แขวงโสภา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน นายอิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลาม นายศรีศักดิ วัลลิโภดม นักวิชาการ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ

ดอดเยี่ยมวิทยาลัยอิสลามศึกษา

กระทั่ง เวลา 11.30 น. จึงมีการพักการประชุม โดยนายอานันท์ได้เดินทางไปเยี่ยมวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยพบกับนายอิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ โดยอานันท์ได้สอบถามเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมกับมอบหมายใหฟ้นายโคทม อารียา เลขาคณะกรรมการฯ ขอข้อมูลทั้งหมดของวิทยาลัยอิสลามศึกษา พร้อมกับแจ้งว่า จะกลับมารับฟังบรรยายสรุปอีกครั้งในวันหลัง

การประชุมภาคบ่ายเริ่มขึ้น 13.00 น. กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. การประชุมจึงแล้วเสร็จ จากนั้น นายอานันท์ ได้แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการฯ ได้ประมวลข้อมูลจากการลงพื้นที่พบปะประชาชน และญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังต้องนำข้อมูลทั้งหมด กลับไปประชุมหารือกันอีกหลายครั้ง

นายอานันท์ เปิดเผยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการฯ และแนวทางการปฏิบัติงาน โดยที่ประชุมเสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาทำงานในพื้นที่ทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่วนกลาง ซึ่งจะพิจารณาแต่งตั้งตามความเร่งด่วน พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งพล.อ.ณรงค์ เด่นอุดม อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานคณะอนุกรรมการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะอนุกรรมการชุดนี้ จะมีประมาณ 8 - 9 คน ทำหน้าที่คอยให้คำแนะนำการดำเนินงานของคณะกรรมการ รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารออกสู่ประชาชนในพื้นที่ โดยใช้สถานีวิทยุท้องถิ่นเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูล

แจกผลสอบ "ตากใบ - กรือเซะ

นายอานันท์ เปิดเผยต่อไปว่า ที่ประชุมเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานในส่วนกลาง เพื่อทำหน้าที่จัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของวาระต่างๆ ที่จะนำเข้าที่ประชุม โดยจะให้มีคนในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปเป็นคณะทำงานด้วย 3 คน นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงกิจกรรมต่างๆ ของกรรมการฯ โดยให้กรรมการฯ ที่มีกิจกรรมสร้างความสมานฉันท์อยู่แล้ว สามารถดำเนินการได้เลย สำหรับปฏิทินการดำเนินงาน จะมีการคณะกรรมการฯ เดือนละ 2 ครั้ง และจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุก 2 เดือน

นายอานันท์ เปิดเผยว่า ตนได้ให้คณะกรรมการฯ อ่านเนื้อหารายงานคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี และสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสกว่า 1 ชั่วโมง คณะกรรมการฯ อนุญาตให้เผยแพร่รายงานดังกล่าวได้ แต่ให้ปกปิดชื่อบุคคลที่ระบุไว้ในรายงานการสอบสวน เพื่อความปลอดภัยของพยาน โดยตัดแต่ชื่อออกไป แต่ไม่ได้ตัดข้อมูล

เสนอรัฐบาลติดตามคนหาย-ถูกอุ้ม

นายอานันท์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้สูญหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งหน่วยงานมาติดตามเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และมีการเยียวยาให้กับผู้สูญเสีย ซึ่งจะใช้แต่วัตถุอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องมีการพิจารณาในมิติอื่นๆ ด้วย การเยียวยาครอบครัวผู้ถูกอุ้ม เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการ ต้องตรวจสอบจำนวนผู้สูญหายมีกี่คน ต้องวางระบบ ต่อไปหากเจ้าหน้าที่ไปหาใคร ต้องแจ้งให้ทุกฝ่ายทราบว่าใครสั่ง และนำตัวไปที่ไหน เมื่อวางระบบแล้วโอกาสชาวบ้านจะหายไปคงยากขึ้น

นายประเวศ วะสี รองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบปะกับประชาชนนั้น พบว่ายังคงมีปัญหาอีกมากที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา จำนวนมาก จะใช้โครงข่ายสาธารณสุขเข้าช่วยเหลือทันที โดยจะตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงด้วย ซึ่งกรรมการฯ ได้เสนอให้กระทรวงยุติธรรมเข้ามาจัดการให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน นอกจากนี้ จะต้องปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการที่จะมาทำงานในพื้นที่ เนื่องจากมีข้าราชการจำนวนมากไม่มีคุณภาพ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เท่าที่ทราบมีการศึกษาวิธีการกันอยู่แล้วในระดับหนึ่ง

นายประเวศ เปิดเผยว่า พร้อมกันนี้คณะกรรมการฯ จะเสนอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่จะเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนข้อเสนอของสำนักจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม ที่จุฬาราชมนตรี เสนอให้รัฐบาลพิจารณามาตั้งแต่ปี 2523 ขณะนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net