Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา กฎหมายค้างพิจารณาในช่วงรัฐบาลชุดที่แล้วทั้ง 41 ฉบับผ่านฉลุยตามความคาดหมาย รวมถึงกฎหมายที่วุฒิสภายับยั้งไปแล้วจำนวน 3 ฉบับก็ถูกนำมายืนยันด้วย คือ ร่างพ.ร.บ.ทางหลวง, ร่างพ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ปรับปรุงการบังคับคดี การคุ้ม ครองสิทธิเจ้าหนี้และลูกหนี้ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาและอัตราค่าธรรมเนียม)

นั่นเท่ากับว่า แม้สภาสูงจะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว แต่รัฐบาลก็เดินหน้าต่อ ซึ่งสามารถจะหยิบยกสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ลงมติผ่านในขั้นสุดท้ายเมื่อไรก็ได้ และวุฒิสภาไม่สามารถเข้ามามีบทบาทใดๆ ได้อีกแล้ว

แต่ร่างกฎหมายฉบับที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่าใคร คือ ร่างพ.ร.บ.ทางหลวง โดยกฎหมายนี้ แบ่งเป็น 2 เวอร์ชั่น คือ ฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาในครั้งแรก และฉบับที่ตั้งกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง 2 สภาที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นอีกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงการพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 2 พ.ย.47 แล้ว ที่ประชุมก็ยังมีมติไม่เห็นชอบด้วย

ต่อกรณีนี้ นายการุณ ใสงาม ส.ว.บุรีรัมย์ ชี้ให้เห็นความสำคัญในการยับยั้งของวุฒิสภาใน "วันที่ 2 พ.ย.47" ว่านับเนื่องจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาไม่ถึง 180 วัน จึงผิดบทบัญญัติตามมาตรา 176 ตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านมการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมกันมาแล้ว แต่ถูกยับยั้ง ให้รอไว้ 180 วัน โดยสภาผู้แทนราษฎรสามารถใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งยืนยันตามร่างเดิมหรือร่างของกรรมาธิการร่วมก็ได้

นอกจากนี้นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กรุงเทพฯ ยังประกาศกลางสภาว่า หากกฎหมายทางหลวงผ่านการเห็นชอบ คงมีสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะวุฒิสมาชิกจำนวนไม่น้อยที่จะร่วมกันลงชื่อ ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่ามีบางมาตราผิดรัฐธรรมนูญ

"ต่อไปนี้ การชุมนุมหน้าทำเนียบฯ และหน้ารัฐสภา ก็ไม่สามารถทำได้ แต่กรณีขบวนแห่ตามประเพณีทำได้ แสดงให้เห็นว่ามีการเขียนกฎหมายเลือกปฏิบัติเพื่อห้ามการชุมนุมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องขัดธรรมนูญอย่างชัดเจน" นายจอนกล่าว

มาตราเจ้าปัญหาที่นายจอนกล่าวถึงนี้คือ มาตรา 20 ซึ่งกรรมาธิการร่วมได้ปรับแก้ฉบับของส.ส.ดังนี้

มาตรา ๒๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา ๔๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ "มาตรา ๔๖/๑ ห้ามมิให้ผู้ใดชุมนุมกันในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร หรืออาจเป็นอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือผู้ใช้ทางหลวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง หรือเป็นการเดินแถว ขบวนแห่ หรือชุมนุมกันตามประเพณีหรือวัฒนธรรม หรือเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรืออยู่ในเขตที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎทรวง"

ส่วนฉบับของส.ส.ระบุว่า ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา 46/1 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 โดยระบุว่า

"มาตรา 46/1 ห้ามมิให้ผู้ใดชุมนุมกันในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวาง หรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะหรือคนเดินเท้า "

ส่วนมาตรา 46 ฉบับดั้งเดิมพ.ศ.2535 นั้นระบุเพียงเรื่องของสัตว์ "ห้ามมิให้ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์บนทาง จราจร ทางเท้าหรือไหล่ทาง เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามข้อบังคับที่ผู้อำนวยการทางหลวง

ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามมิให้ผู้ใดขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์ ในเขตทางหลวงสายใดทั้งสายหรือบางส่วน ทั้งนี้ เว้นแต่ ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย จากผู้อำนวยการทางหลวงในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนด เงื่อนไขอย่างใดก็ได้ ประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามวรรคสอง ให้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา"

นอกจากนี้ยังมีการนิยามคำว่า "ทางหลวง" ให้ครอบคลุมกว้างขวาง โดยระบุว่า
" "ทางหลวง" หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน หรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น นอกจากทางรถไฟและหมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อ หรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะ ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมาย สัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณ ที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร ที่พักริมทาง เรือสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย"

จะเห็นได้ว่าการห้ามในมาตรา๔๖/๑ ที่ใช้ถ้อยคำว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดชุมนุมกันในเขตทางหลวง.." เมื่อพิจารณาร่วมไปกับนิยามของคำว่าทางหลวง รวมทั้งประเภทต่างๆ ของทางหลวงแล้ว จะเห็นว่ามีความหมายกว้างขวางกินอาณาเขตไปยังพื้นที่เกือบทุกพื้นที่ที่เป็นที่สาธารณะทั้งในเมืองและชนบท จึงเป็นการห้ามการชุมนุมในพื้นที่ใดๆ ที่เป็นที่ดินหรือพื้นที่อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับทางทั้งหลายทั้งปวงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ที่เป็นที่สาธารณะ

อีกทั้งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว มีเจตนาหลักคือการห้ามการชุมนุม โดยมีข้อยกเว้นคือการ
ได้รับการอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวง ซึ่งวุฒิสมาชิกคิดว่านี่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพใน
การชุมนุมอย่างแจ้งชัด

และเหตุผลสำคัญที่วุฒิสมาชิกส่วนที่ไม่เห็นด้วยตั้งคำถามคือ เรามีกฎหมายต่างๆ ที่กำหนดในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วหลายฉบับ จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีมาตราเจ้าปัญหานี้

ตัวอย่างกฎหมายอื่น ที่พอจะยกมาให้เห็นได้ อาทิ

ประมวลกฎหมายอาญา
"มาตรา ๓๗๒ ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน หรือกระทำโดยประการอื่นใดให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารสถาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท"

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
"มาตรา ๑๐๘ ห้ามมิให้ผู้ใด เดินแถว เดินเป็นขบวนแห่หรือเดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจรเว้นแต่ (๑) เป็นแถวทหารหรือตำรวจ ที่มีผู้ควบคุมตามระเบียบแบบแผน (๒) แถวหรือขบวนแห่งหรือขบวนใดๆ ที่เจ้าพนักงานจราจรได้อนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด"

"มาตรา ๑๐๙ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร"

"มาตรา ๑๓๙ ในทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใดที่เจ้าพนักงานจราจรเห็นว่าถ้าได้ออกประกาศข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการจราจรแล้วจะเป็นการปลอดภัย และสะดวกในการจราจรให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจออกประกาศข้อบังคับหรือระเบียบดังต่อไปนี้ ......... (๓) ควบคุมขบวนแห่ หรือการชุมนุมสาธารณะ…….."

การฝ่าฝืน มาตรา ๑๐๘ และมาตรา ๑๐๙ มีโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท และการฝ่าฝืนมาตรา ๑๓๙ มีโทษปรับครั้งละไม่เกินหนึ่งพันบาท

แหม! ท่านวุฒิสมาชิกก็กฎหมายที่มีอยู่ ไม่พูดถึงการห้าม "การชุมนุม" จังๆ เลยนี่นา......

มุทิตา เชื้อชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net