Skip to main content
sharethis

สงขลา- 21 เม.ย.48 เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 20 เมษายน 2548 กลุ่มรักษ์ มอ. ซึ่งกำลังรณรงค์คัดค้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะใช้พื้นที่สีเขียวสร้างตึกไอที ได้จัดงานเลี้ยงน้ำชา "คืนความรักให้ต้นไม้ " ที่สวนป่าตรงข้ามลานจอดรถคณะวิทยาการจัดการ โดยมีผู้มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การแสดงเดี่ยวแซกโซโฟน นายคมสันต์ วงค์วรรณ์, ฟังนิทานเรื่อง "ความรักของต้นไม้" โดยกลุ่มละครการศึกษา "มานี มานะ" , อ่านบทกวี - ปลูกต้นไม้ร่วมกัน โดยตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, เสวนาเรื่อง "๙๐ ต้น(ไม้) = ๑ ตึกไอที?" โดยกลุ่มรักษ์ มอ., การแสดงหุ่นเงาเรื่อง "Swimmy" โดยกลุ่มละครการศึกษา "มานี มานะ" และสอนวาดภาพด้วยสีชอล์ก โดยนายภาณุ พิทักษ์เผ่า

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548 กลุ่มรักษ์ ม.อ. ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายกสภามหาวิทยาลัย เรียกร้องให้ทบทวนการใช้พื้นที่สีเขียวสร้างตึกไอที พร้อมแนบรายชื่อผู้คัดค้านรวม 1,336 คน

สำหรับจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว มีเนื้อหา ดังต่อไปนี้

1. ตามที่มหาวิทยาลัยชี้แจงเรื่องงบประมาณว่า "ด้วยนโยบายของรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้หน่วยงานมีศูนย์กลางรวมเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ จึงได้ให้งบประมาณเป็นกรณีพิเศษในปีนี้ ในวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้งบประมาณให้หมดสิ้นตามงวดปี โดยเฉพาะปีแรกนี้ต้องจ่ายภายใน กันยายน 2548 ให้หมด 60 ล้านบาท ไม่เช่นนั้นเงินส่วนนี้จะถูกยกไปไว้ปีหน้า และกระทบเงินงบประมาณปีหน้าที่จะได้มาใหม่ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องรีบจ้างบริษัทออกแบบให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 4 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องอาศัยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารนี้ ได้แก่ หอสมุดกลาง หน่วยทะเบียนกลาง ศูนย์คอมพิวเตอร์ สำนักวิจัย และคณะวิทยาศาสตร์"

กลุ่มรักษ์ มอ. เข้าใจในข้อจำกัดเรื่องเวลาการใช้เงินงบประมาณ แต่เห็นว่าแม้จะมีเวลาจำกัด เราก็ไม่ควรละเลยความรอบคอบ และความถูกต้องในมิติอื่นที่นอกเหนือการใช้เงินให้ทัน มิฉะนั้นแล้วการตัดสินใจที่รีบร้อนกำลังสร้างปัญหาใหม่ซึ่งอาจมีผลเสียมากกว่าการใช้เงินประมาณไม่ทันตามงวดปี

นอกจากนี้คำชี้แจงของมหาวิทยาลัยยังไม่กระจ่างว่า ถ้าใช้เงินไม่ทันแล้วต้องถูกยกเงินส่วนนี้ไปไว้ในปีงบประมาณหน้านั้น มันจะทำให้มหาวิทยาลัยเสียหายอย่างไรบ้าง มากน้อยขนาดไหน และถ้าเรามีเหตุผลเพียงพอ การอธิบายความล่าช้าให้หน่วยเหนือเข้าใจเป็นสิ่งจะกระทำไม่ได้เลยหรือ

2. การที่มหาวิทยาลัยชี้แจงเหตุผลในข้อ 2 นี้ ว่า "ระยะแรกสถานที่ก่อสร้างตกลงกันไว้ บนที่บริเวณลานจอดรถ ระหว่างตึกฟิสิกส์ และคณะทรัพย์ช่องระหว่างอาคารคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม และโรงอาหารฟิสิกส์ แต่ด้วยความต้องการที่มีจำนวนมากจึงทำให้บริษัทไม่สามารถออกแบบในพื้นที่ทีกำหนดได้ และทำให้วงเงินก่อสร้างสูงกว่างบประมาณที่ได้ ทำให้เมื่อรูปแบบเสร็จไม่สามารถก่อสร้างบนพื้นที่จริงได้ และการปรับรูปทรงเพื่อให้วางอาคารได้ จะทำให้ต้องรื้อโรงอาหารฟิสิกส์ ซึ่งจะก่อไห้เกิดปัญหาต่อสถานที่รับประทานอาหารของบุคคลากรและนักศึกษาเป็นจำนวนมาก การที่จะให้บริษัทปรับเปลี่ยนรูปแบบในเวลาจำกัดไม่สามารถทำได้ทันในการหาบริษัทเพื่อก่อสร้างให้ทันในปีนี้ได้ และค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบบก็จะเกิดขึ้นมาก"

ทั้งหมดเป็นคำอธิบายที่คลุมเครือมาก จนไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถสร้างในที่กำหนดเดิมได้ เพราะในเมื่อ ก่อนที่ ม.อ.จะจัดจ้างให้บริษัทนี้ (บริษัทแปลน) มาออกแบบโดยวิธีประกวดแบบนั้น ม.อ.ในฐานะผู้ว่าจ้างจะต้องกำหนดโจทย์ (Terms of Reference: TOR) ให้แก่บริษัทออกแบบก่อนเสมอ ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติปกติที่พึงกระทำ และที่สำคัญคือ ผู้ว่าจ้างต้องระบุตำแหน่งพื้นที่หรือผังพื้นที่ และจะต้องมีจำนวนวงเงินงบประมาณก่อสร้างให้ หาไม่แล้วสถาปนิกจะไม่สามารถออกแบบได้ตามวัตถุประสงค์ ฉะนั้น การอ้างว่าเพราะความต้องการที่มีจำนวนมากจึงทำให้บริษัทไม่สามารถออกแบบในพื้นที่ที่กำหนดได้ และทำให้วงเงินก่อสร้างสูงกว่างบประมาณที่ได้ ฯลฯ จึงเป็นข้ออ้างที่ยังเป็นคำถามสำหรับทุกคน หรือทางมหาวิทยาลัยกำลังบอกว่าการจัดจ้างออกแบบครั้งนี้ ม.อ.ไม่ได้กำหนดโจทย์ที่เป็นสาระสำคัญดังกล่าวไว้ล่วงหน้าให้แก่บริษัทผู้ออกแบบ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มหาวิทยาลัยก็ต้องตอบคำถามแก่ประชาคม ม.อ.ให้ได้ว่า ทำไมถึงไม่ทำ?

3. ข้อนี้มหาวิทยาลัยได้อธิบายวิธีการตรวจรับงานว่า "การตรวจรับแบบซึ่งกำหนดไว้ในแต่ละงวด จะใช้เวลาเป็นเดือนเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบลักษณะอาคาร และพื้นที่ที่เป็นไปตามความต้องการของหน่วยงาน และตรวจสอบความถูกต้องในแต่ละด้าน...."
แสดงว่ามหาวิทยาลัยกำลังชี้แจงให้ประชาคม ม.อ. เห็นว่า ในฐานะผู้ว่าจ้าง ม.อ. เราได้มีระบบการตรวจรับงานที่ดีมาก โดยกระทำอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อรักษาประโยชน์ของ ม.อ. อย่างเต็มความสามารถแล้ว ถ้าอย่างนั้นการที่มหาวิทยาลัยอธิบายในข้อ 2 ว่ามีปัญหาที่บริษัทออกแบบไม่สามารถออกแบบในพื้นที่ที่กำหนดได้และทำให้วงเงินก่อสร้างสูงกว่างบประมาณที่ได้นั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อ ม.อ. มีระบบตรวจรับงานที่ดีอย่างที่มหาวิทยาลัยอ้างไว้ในข้อนี้ ทั้งนี้แต่ละข้อที่มหาวิทยาลัยกำลังชี้แจงนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น

4. มหาวิทยาลัยได้ชี้แจงว่า "เนื่องจากเมื่อรูปแบบเสร็จเรียบร้อย พบว่า อาคารที่ก่อสร้างจริง แม้จะสร้างได้แต่ทำให้เกิดปัญหากับอาคารรอบด้าน ซึ่งจะเป็นปัญหายิ่งกว่าการย้ายไปสร้างบริเวณอื่น ระยะแรกได้มีการมองหาสถานที่อื่นที่พอจะก่อสร้างได้ มีทั้งหมด 3 แห่ง คือ
1. บริเวณตลาดเกษตรของคณะทรัพย์ที่ข้างรั้วปุณณกัณฑ์
2. บริเวณสวนป่าข้างสระว่ายน้ำ บริเวณสามแยกหน้าคณะวิทยาศาสตร์
3. บริเวณสวนป่าข้างลานจอดรถสำนักงานอธิการบดี "
ฟังแล้วมีคำถามข้อแรกว่า ทำไมกรรมการตรวจรับการจ้างในครั้งนี้ จึงยอมรับงานแบบแปลนที่พอจะนำไปสร้างจริงกลับมีปัญหากับอาคารรอบด้านเช่นนี้ได้ ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยได้อ้างไว้ในข้อ 3 เองว่า มหาวิทยาลัยมีวิธีการตรวจรับแบบที่ดี เป็นขั้นเป็นตอน ละเอียดรอบคอบแล้ว และคำถามที่สองก็คือ มีผู้รับผิดชอบต่อเรื่องนี้หรือไม่ แล้วใครหรือฝ่ายใดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และคำถามสุดท้ายในประเด็นนี้คือ ทำไมมหาวิทยาลัยเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีง่ายๆ โดยการย้ายสถานที่ก่อสร้างเช่นนี้

นอกจากนี้เรามียังความเห็นต่อประเด็นการย้ายสถานที่ว่า การย้ายสถานที่ก่อสร้างโดยใช้แปลนเดิมที่ออกแบบไว้สำหรับที่หนึ่งไปสร้างอีกที่หนึ่งนั้น ในกรณีที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ เป็นตึกสูง เป็นอาคารในสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สถาปนิกจะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญๆ อีกหลายอย่างที่นอกเหนือจากหน้าที่ของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมใกล้เคียง ตำแหน่งที่ตั้งและทิศทางของอาคาร ตลอดจนความงดงามทางสถาปัตยกรรมของอาคารซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง และด้านของอาคารที่เป็นมุมมองจากภายนอกได้เป็นต้น

5. มหาวิทยาลัยได้อธิบายว่าทำไมไม่เลือกพื้นที่ตลาดเกษตรว่า "จากการพิจารณาพื้นที่บริเวณคณะทรัพย์พบว่า ปัญหาอยู่ที่ไม่เป็นศูนย์กลางสำหรับนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณใกล้เคียงหอสมุดกลางเดิม และการย้ายที่ศูนย์คอมพิวเตอร์มาอยู่บริเวณนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสถานที่มาบริเวณนี้สูงมาก โดยเฉพาะการลากสายไฟเบอร์คอมพิวเตอร์จะเสียค่าใช้จ่ายมาก นอกจากนี้บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ของคณะทรัพย์ การเจรจาเพื่อตกลงเรื่องสถานที่จะไม่สามรถทำได้ในเวลาอันจำกัด ซึ่งไม่สามารถจัดจ้างบริษัทได้ทันในการก่อสร้างปีนี้"

6. มหาวิทยาลัยให้เหตุผลที่ไม่เลือกบริเวณสวนป่าข้างสระว่ายน้ำว่า "จากการพิจารณาพื้นที่บริเวณสามแยกข้างสระน้ำ พบว่าพื้นที่เป็นลักษณะต่างระดับมาก ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่มาก และบริเวณนั้นเป็นแหล่งที่มีการจราจรค่อนข้างหนาแน่นทำให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น หากมีการก่อสร้างอาคารใหญ่บริเวณนั้น และหากก่อสร้างบริเวณนั้น ก็ต้องตัดต้นไม้หลายต้นเช่นเดียวกัน"

7. มหาวิทยาลัยอธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงเลือกบริเวณสวนป่าข้างลานจอดรถสำนักงานอธิการบดีเป็นที่ก่อสร้างว่า "การพิจารณาพื้นที่บริเวณลานจอดรถข้างสำนักงานอธิการบดี ซึ่งเป็นพื้นที่ราบกว่า และเป็นบริเวณที่การจราจรไม่คับคั่งมาก เมื่อเทียบกับบริเวณสามแยกข้างสระน้ำ และศูนย์ที่อยู่ใกลคณะที่เป็นแหล่งรองรับนักศึกษาปี 1 ที่เป็นส่วนกลางเกือบทั้งหมด ทั้งคณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์ และอยู่ใกล้หอพักนักศึกษา และศูนย์กิจกรรมนักศึกษา รวมถึงใกล้ศูนย์คอมพิวเตอร์เดิม ทำให้การทำงานและการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องราคาน้อยที่สุดเมื่อเทียบพื้นที่อีก 2 แห่ง แต่มีปัญหาต้องตัดต้นไม้ที่มีอยู่ ซึ่งตามรูปแบบเมื่อก่อสร้างเสร็จ จะต้องปลูกต้นไม้เพิ่มในบางส่วน และในการก่อสร้างให้ใช้วิธีตัดต้นไม้ให้น้อยที่สุด และอาจใช้วิธีชลอต้นไม้บางต้นไม้บางต้นตามความจำเป็น การตัดสินใจเลือกบริเวณนี้เป็นส่วนที่สามารถทำได้ในเวลาสั้นและเร็วที่สุด ในการให้บริษัทสำรวจพื้นที่ใหม่ และปักผังก่อสร้าง"

ทั้งสามข้อข้างต้น (ข้อ 5 - 7) คือ เหตุผลในการตัดสินใจเลือกสถานที่ก่อสร้างใหม่ที่ย้ายสถานที่เดิม (บริเวณลานจอดรถระหว่างตึกฟิสิกส์ และคณะทรัพย์) ที่มหาวิทยาลัยเห็นว่าบริเวณสวนป่าข้างลานจอดรถสำนักงานอธิการบดีเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในบรรดาสามทางเลือกที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ โดยมหาวิทยาลัยได้ให้น้ำหนักกับเรื่องต้นทุนในการก่อสร้างว่า ที่นี่ราคาถูกที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายการวางสายไฟเบอร์ออพติค

การที่อ้างว่าถ้าสร้างที่ทางเลือกอื่นแล้ว จะทำให้มีต้นทุนมากนั้น ไม่ใช่การคิดวิเคราะห์อย่างใช้เหตุใช้ผลเชิงวิชาการ เราควรมองสองด้านทั้งผลดี (benefits) และผลเสีย (costs) ของแต่ละทางเลือก ไม่เฉพาะประโยชน์ที่วัดเป็นตัวเงินได้ (tangible) เท่านั้น แต่ต้องมองถึงประโยชน์ที่ไม่สามารถตีค่าทางตลาดได้ (intangible) ด้วย ซึ่งต้องพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมดก่อน จึงนำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อเลือกทางเลือกที่ให้ผลดีสุทธิสูงสุด การจะเทียบว่าต้นทุนวางสายไฟเบอร์ออพติคของทางเลือกบริเวณตลาดเกษตรของคณะทรัพย์สูงกว่า ทางเลือกสวนป่าข้างลานจอดรถสำนักงานอธิการบดีนั้น ขอให้มหาวิทยาลัยชี้แจงต้นทุนดังกล่าวของสองทางเลือกนี้เป็นตัวเงินที่ชัดเจน

กลุ่มฯ และประชาคม ม.อ. ต้องการรู้ว่า การตัดสินใจเลือกของมหาวิทยาลัยเพื่อประหยัดส่วนต่างเงินลงทุนจำนวนนี้นั้น จะเทียบได้กับคุณค่าและประโยชน์ของสวนป่าบริเวณดังกล่าวที่จะมีอยู่ตลอดไปได้หรือไม่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเงินที่เราประหยัดได้นั้นมันคุ้มกันหรือไม่ กับการที่เราจะต้องสูญเสียสวนป่าที่มีคุณค่าส่วนนี้ไป

8. ข้อสุดท้ายมหาวิทยาลัยได้สรุปว่าได้ทำเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว "ขณะนี้มหาวิทยาลัยสามารถเปิดซองประมูล และได้บริษัทผู้จะก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว และเงินงบประมาณตามเงินงวด เพื่อจะลงสร้างให้ทันตามปีงบประมาณที่กำหนดซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป และต้องใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี" เราเห็นว่ายังไม่มีอะไรสายเกินไป สำหรับการตัดสินใจที่คำนึงผลในระยะยาว ที่ผ่านการช่วยกันคิดช่วยกันมองของคนในสังคม ม.อ.

กลุ่มรักษ์ ม.อ. รู้สึกห่วงใยต่ออนาคตของมหาวิทยาลัยของเรา เพราะเคยมีปัญหาเกิดขึ้นหลายครั้งเนื่องจากการตัดสินใจที่ขาดข้อมูลที่และขาดการรับฟังความเห็นจากประชาคม ตัวอย่างเช่น การสร้างรางสาธารณูปโภคทั่ววิทยาเขต เพื่อนำสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์จากเสาลงสู่ใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เนื่องจากความผิดพลาดทางวิชาการ

ทางกลุ่มฯเชื่อว่า เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าให้โอกาสแก่ประชาคมได้มีส่วนร่วม ที่สำคัญคือไม่มีใครรับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดดังกล่าวเลย และตัวอย่างล่าสุด ก็คือ การละเมิดแผนแม่บทในกรณีเลือกสร้างตึกไอทีในครั้งนี้ ทั้งที่บริเวณพื้นที่สวนป่าแหล่งนี้ได้ถูกประกาศไว้แล้วว่าให้เป็นพื้นที่สีเขียวและส่วนบริหารของมหาวิทยาลัย

กลุ่มรักษ์ ม.อ. ขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทบทวนการเลือกสวนป่าเพื่อใช้สร้างตึกไอที เราขอวิงวอนให้ท่านใช้วิจารณญาณใช้สติ เพื่อยุติแนวคิดที่จะใช้ต้นไม้ใหญ่ใช้ธรรมชาติไปเพื่อแก้ปัญหาการสร้างตึกใหม่ เราเรียกร้องให้ท่านเปิดรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างจากประชาคม ม.อ. เราเชื่อมั่นว่าพลังบริสุทธิ์แห่งธรรมชาติ จะนำมาซึ่งทางออกที่ถูกต้อง ที่สร้างความก้าวหน้า และสันติสุขให้สังคม ม.อ. ตลอดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net