Skip to main content
sharethis

ประชาไท- 20 เม.ย.48 นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว สำหรับการผลักดัน ถกเถียงกันเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าชุมชน ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่มีการเสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชน 50,000 รายชื่อ กระทั่งวันพรุ่งนี้ (21 เม.ย.47) ที่รัฐบาลจะทำการยืนยันร่างกฎหมายนี้ต่อสภา ซึ่งยังค้างพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ประเด็นที่ถกเถียงกันมาราธอนในกฎหมายฉบับนี้ก็คือ จะให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ได้หรือไม่ เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งเห็นว่าป่าอนุรักษ์เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่ไม่ควรเปิดโอกาสให้มนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์ไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะจะกระทบกระเทือนต่อสภาพป่าซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

ขณะที่บางส่วนเห็นว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะแก้ไขโดยการวางเงื่อนไขให้รัดกุม เพื่อจะได้ไม่ต้องอพยพชาวบ้าน และชุมชนดั้งเดิมจำนวนมาก อีกทั้งชุมชนหลายต่อหลายแห่งก็มีศักยภาพในการจัดการและดูแลรักษาป่าอยู่แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน

ด้วยประเด็นที่กล่าวมาทำให้ร่างกฎหมายนี้ได้รับการแก้ไขออกมาเป็นหลายแนวทาง นับตั้งแต่ฉบับของสภาผู้แทนราษฎร ฉบับของกรรมาธิการวุฒิสภา และฉบับของวุฒิสภา กระทั่งมาถึงขั้นของกรรมาธิการร่วมระหว่างสภาล่างและสภาบน ซึ่งส่งตัวแทนมาพิจารณาฝ่ายละ 12 คน

"กรรมาธิการร่วมประชุมกัน 4 ครั้งได้ข้อสรุปแล้ว แต่ยังไม่ทันได้ลงมติ ก็หมดสมัยของส.ส.พอดี" ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ หนึ่งในกรรมาธิการร่วมกล่าว

โดยส.ว.ที่เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ อาทิ นายพนัส ทัศนียานนท์ นายผ่อง เล้งอี้ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ในส่วนส.ส. อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายอลงกรณ์ พลบุตร นายสมบูรณ์ ไพรวัลย์ นายสืบแสง พรหมบุญ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว นายประพัฒนา ปัญญาชาติรักษ์

ดร.เพิ่มศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า ข้อสรุปของกรรมาธิการร่วมฯ ก็คือ อนุญาตให้มีการตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ได้ เพราะจากการสำรวจทำให้ส.ส. ส.ว. ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ทราบว่าขณะนี้ไม่มีป่าสงวนที่จะประกาศให้เป็นป่าชุมชนได้แล้ว เพราะกลายเป็นป่าอนุรักษ์หมด และชาวบ้านหลายที่ก็มีการจัดการและสามารถรักษาป่าได้อยู่แล้ว

"ส่วนใหญ่ยอมรับแล้ว แต่ว่าต้องกำหนดเงื่อนไขให้รัดกุม ซึ่งยังไม่ทันได้ลงรายละเอียดกัน แต่ก็มีกรรมาธิการบางคนเหมือนกันที่มาใหม่แล้วก็อยากพิจารณาใหม่หมด หรือเรียกข้อมูลมาดูใหม่ทั้งหมด เลยทำให้กระบวนการเป็นไปค่อนข้างล่าช้า" ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับกรรมาธิการร่วมฯ นั้น มีการเพิ่มเติม หมวด4/1 เรื่องการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์เข้าไป โดยระบุว่า การขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งหมายถึงชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันมาอย่างถาวร มีวัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นมายาวนาน โดยการจัดตั้งบริหารจัดการและการเพิกถอนให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎทรวง

นอกจากนี้ยังห้ามใช้พื้นที่ป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน ตลอดจนห้ามทำไม้โดยเด็ดขาด ส่วนการใช้ประโยชน์นั้นต้องเป็นการใช้อย่างสมดุลและยั่งยืนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ด้าน "ครูหยุย" วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.กรุงเทพฯ หนึ่งในกรรมาธิการร่วมฯ ให้ข้อมูลว่าหากรัฐบาลยืนยันกฎหมายป่าชุมชน กระบวนการจะดำเนินต่อไป โดยนับหนึ่งในชั้นที่ค้างอยู่ โดยจะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมาใหม่

"เท่าที่ดูรายชื่อที่ส่งมา ฝั่งส.ส.เป็นคนเดิมราว 70-80% ส่วนส.ว.จะเป็นคนเดิมทั้งหมด" ครูหยุย กล่าว

ส่วนร่างกฎหมายที่จะใช้พิจารณานั้น ครูหยุยกล่าวว่า คงจะต้องใช้ร่างที่กรรมาธิการร่วมฯ พิจารณาเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีการลงมติรับรอง ขึ้นมาเป็นตัวตั้ง

"เราตกลงกันในหลักการว่าอยู่ในเขตอนุรักษ์ได้ แต่มีเงื่อนไข ส่วนว่าตัวเลขกี่คนที่เข้าไปอยู่ในป่าได้ อันนี้เกรงจะเปิดช่องเกินไป เพราะปัจจุบันก็มีการเข้าชื่อกันครอบครองพื้นที่แล้ว จึงต้องหามาตรการกันเอาไว้ โดยถอนสิทธิพวกอยู่ทีหลัง เป็นการป้องกันคนเข้าไปใหม่ และไม่ให้คนดั้งเดิมถูกกลั่นแกล้ง" ครูหยุยกล่าว

คงต้องจับตาดูว่าพรุ่งนี้รัฐบาลจะยืนยันกฎหมายฉบับนี้ต่อสภา เพื่อทำการพิจารณาต่อไปหรือไม่ และเรื่องราวของกฎหมายมาราธอนฉบับนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net