Skip to main content
sharethis

ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย
เศรษฐวิเคราะห์ (มองเศรษฐกิจ) ปีที่ 11 ฉบับที่ 1622 วันที่ 12 เมษายน 2548

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อุณหภูมิการแข่งขันของตลาดโทร ศัพท์เคลื่อนที่ก็ทวีความร้อนแรงเพิ่มขึ้นเช่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับอัตราค่าโทรศัพท์ลดลงเหลือเพียงต่ำสุดนาทีละ 25 สตางค์ ต้อนรับวันมหาสงกรานต์ของไทย หรือการโทรนาทีแรก 5 บาท แถมฟรีอีก 4 นาที

เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง (แบบมีเงื่อนไข) อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สินค้าอื่นๆ กลับมีแนวโน้มของราคาปรับเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน ค่าโดยสารรถประจำทาง หรือ การปรับเพิ่มราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

โทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็นสำหรับการติดต่อในยุคนี้ การพัฒนาประโยชน์ของโทรศัพท์ให้สามารถทำงานได้มากกว่าการโทรออกรับสายทั่วไปยิ่งทำให้โทรศัพท์
เคลื่อนที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการใช้โทรศัพท์นั้นจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติในช่วงเทศกาล สำหรับในเทศกาลสงกรานต์ก็เช่นเดียวกัน นอกจากจะถือเป็นวันปีใหม่ไทยแล้วยังถือว่าเป็นวันครอบครัวที่ญาติพี่น้องต่างพากันไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่และเป็นเทศกาลที่ผู้ที่ทำงานอยู่ในสถานที่ห่างไกลเดินทางกลับไปบ้าน หรือออกไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ในช่วงระหว่างการเดินทางหรือในช่วงเทศกาลสาดน้ำที่สนุกสนานนั้น การติดต่อสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีส่วนช่วยให้การติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

การติดต่อกันระหว่างเดินทาง การนัดหมาย การติดต่อกลับไปยังบ้านเพื่อแสดงความห่วงใยกันและกันยิ่งหากผู้ใช้โทรศัพท์ที่อยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เข้ามาช่วยลดช่องว่างระยะทางได้เป็นอย่างดี

จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 28 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2548 จะมีปริมาณการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สูงกว่าในช่วงปกติประมาณร้อยละ 10-15

ซึ่งในปีนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้จัดกิจกรรมสนับสนุนเทศกาลทั้งในรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์และรูปแบบการให้การสนับสนุนกิจกรรมภายนอก กิจกรรมแบบออนไลน์หรือการสร้างบรรยากาศแบบเสมือนจริง (virtual) บนโทรศัพท์เคลื่อนที่และบนเว็บไซต์ของผู้ให้บริการเพื่อกระตุ้นหรือสร้างความมีส่วนร่วมของผู้ใช้โทรศัพท์และสร้างกิจกรรมแบบอินเตอร์แอกทีฟ (inter
active) ระหว่างผู้ใช้บริการ

เพื่อกระตุ้นการใช้บริการเสริมทางด้านเอสเอ็มเอส (Short Message Service : SMS) ข้อความมัล
ติมีเดีย (Multimedia Message Service: MMS) และการเชื่อมต่อแว็ปไซต์ (wap site) และมักจะเป็นกิจกรรมที่ถูกนำมาใช้ในช่วงเทศกาลอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนารูปแบบของบริการที่หลาก
หลายมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงระหว่างเทศกาลต่างๆ นั้น ผู้ใช้โทรศัพท์
เคลื่อนที่จะมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อส่งข้อความให้กับเพื่อนหรือญาติพี่น้องในอัตราที่สูงกว่าปกติประมาณ 2-3 เท่าตัว

ทั้งนี้บริการส่งข้อความสั้นจะได้รับความนิยมสูงสุด โดยปกติการส่งข้อความสั้นจะมีอัตราการส่งวันละ 10-15 ล้านข้อความต่อวัน และข้อความมัลติมีเดียประมาณ 1-2 ล้านข้อความต่อวัน และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2547 นี้ คาดว่าบริการส่งข้อความยังคงได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มที่นิยมใช้บริการยังคงเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

สำหรับในช่วงเทศกาลในปี 2548 นี้ บรรยากาศการแข่งขันของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นค่อนข้างรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้ให้บริการแต่ละรายได้มีการปรับอัตราค่าบริการใหม่ลดลงจากเดิมเหลืออัตราต่ำสุด 25 สตางค์ต่อนาที หรือโทร 1 นาทีแถม 4 นาที ที่ทำให้แม้ว่าแนวโน้มการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการจะเพิ่มสูงขึ้นแต่อัตราค่าบริการที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มีค่าใช้จ่ายในการโทรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบพรีเพดและโพสต์เพดประมาณ 280-350 บาทต่อเดือนและ 1,100-1,200 บาทต่อเดือน ตามลำดับ ในปี 2547 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3-5 จากปี 2546

สำหรับแนวโน้มในปี 2548 นั้น คาดว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเลขหมายจะมีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากอัตราค่าบริการมีการปรับตัวลงมา ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทางด้านบริการเสริมยังมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5-7 ของค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้การปรับลดอัตราค่าบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นยังมีเงื่อนไขที่หลากหลายโดยส่วนใหญ่เป็นการกระตุ้นให้มีการใช้โทรศัพท์มากขึ้น (minutes of use) เนื่องจากเป็นการคิดค่าบริการในลักษณะนาทีแรกสูงกว่านาทีหลัง

และภายหลังจากมีการนำอัตราค่าบริการดังกล่าวมาใช้นั้นสามารถช่วยดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในระบบได้ค่อนข้างมาก และทำให้ผู้ให้บริการรายใหญ่ต้องเข้าสู่การแข่งขันทางด้านราคาค่าบริการด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ข้อเสนอทางด้านอัตราค่าบริการที่มีความหลากหลายนั้นทำให้ผู้ใช้บริการต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการให้บริการและความต้องการใช้งาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ ผู้ใช้โทรศัพท์ที่มีพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ในระยะเวลานาน การใช้โปรโมชั่นค่าโทรในนาทีแรกสูงและนาทีต่อไปคิดค่าบริการต่ำ เช่น นาทีแรก 5 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 0.50 บาท จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการโทร. แต่ละครั้งลดลง

ในขณะที่ผู้ใช้ที่มีพฤติกรรมโทร. น้อย เน้นรับสาย ควรเลือกใช้โปรโมชั่นที่มีค่าโทร.นาทีแรกต่ำ ส่วนการเลือกใช้บริการแบบรายเดือนหรือพรีเพดนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวกในการชำระเงิน

2. คุณภาพของเครือข่าย แม้ว่าอัตราค่าบริการจะลดต่ำลง แต่หากคุณภาพของเครือข่ายที่ใช้งานไม่ดีนัก มีการหลุดของสายบ่อยครั้งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการใช้โทรศัพท์อาจสูงขึ้นหากเลือกใช้บริการค่าโทรในนาทีแรกสูง เพราะหากมีการโทร. ซ้ำ ก็เท่ากับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

3. บริการเสริม หากผู้ใช้โทรศัพท์มีการใช้บริการเสริม เช่น เอสเอ็มเอส เอ็มเอ็มเอส เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในปริมาณค่อนข้างมาก ควรเลือกโปรโมชั่นที่มีอัตราค่าบริการเสริมที่ต่ำ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับบริการเสริมลงได้ หรือเลือกใช้บริการเสริมในลักษณะแพ็กเกจเหมาจ่ายจะคุ้มค่ากว่า

ข้อดีของการปรับลดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงนั้น จะช่วยให้ผู้ใช้บริการเสียค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ถูกลง ส่วนการกระจายตัวของกลุ่มผู้ใช้บริการไปยังผู้ให้บริการแต่ละรายนั้นขึ้นอยู่กับกิจกรรมส่งเสริมการขายของรายใดจะสร้างแรงจูงใจในการใช้บริการได้มากกว่ากัน

ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า ผู้ให้บริการจะเน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะการเน้นอัตราค่าบริการที่ลดต่ำลงมาก แต่เงื่อนไขในการให้บริการนั้นก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ที่ผู้ใช้บริการจะต้องพิจารณาเงื่อนไขให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้บริการของตนเองให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตามผลเสียของการกระตุ้นให้มีการใช้โทรศัพท์เพิ่มขึ้นนั้นอาจเป็นการสร้างพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์อย่างฟุ่มเฟือย หรือมีพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ที่นานขึ้นโดยในบางครั้งไม่มีความจำเป็นและเกิดความเคยชิน ในขณะที่โปรโมชั่นค่าโทร.ที่ลดลงนี้มีช่วงระยะเวลาในการให้บริการ หากหมดโปรโมชั่นแล้ว ผู้ให้บริการเคยชินกับการใช้โทรศัพท์ในเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

* ผู้สนใจสามารถสมัครสมาชิกเพื่อรับข้อมูลฉบับเต็ม ได้ที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด โทร. 273-1877, 2731883-5 หรือhttp://www.kasikornresearch.com

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net