Skip to main content
sharethis

*(ซัม ริตแห่งพนมเปญโพสต์เขียนเรื่องนี้ภายใต้โครงการรายงานความขัดแย้ง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไอพีเอส.เอเชีย-แปซิฟิคกับมูลนิธิญี่ปุ่น)
--------------------------------------------------------------------------------------
พระตะบอง, 28 มี.ค. (ไอพีเอส) -- ขณะนั่งบนเปลถักด้วยผักตบชะวา, สเรย์ ลา,แม่หม้ายวัย 65 คอยจับตาดูหลานสี่คน ยามบุตรสาวและบุตรเขยนอนหลับอยู่ใต้ร่มไม้

"ฉันเวทนาตัวเองเหลือเกิน ฉันไม่เคยได้พักแม้แต่วันเดียว ชีวิตไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ประเทศคืนสู่สันติภาพเมื่อปี 1979" หญิงชราเล่าขณะพักกลางวันจากงานปลูกแตงโมในไร่ที่พระตะบอง,จังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา

"ทุกอย่างยังเหมือนเดิม, ตื่นแต่เช้ามาทำงานและเลิกงานในตอนเย็น ดูเหมือนว่าฉันไม่ได้อะไรจากความสงบของสงครามนอกจากทำงานในไร่,เดินไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องอยู่ใต้บังคับของใคร" นางสเรย์ ลากล่าว

หญิงชราเป็นหนึ่งในสตรีหลายพันคนที่กลายเป็นหม้ายในระหว่างการปกครองของเขมรแดงในปี 1975-79

จากการสำรวจของรัฐบาลเมื่อปี 1998 พบว่า สตรี 5.2% กลายเป็นหม้าย นายเอียง กันตาฟาวี-รมว.ฝ่ายกิจการสตรีและทหารผ่านศึก,แถลงว่า ครอบครัวที่มีสตรีเป็นหัวหน้าลดลงจาก 25% ของครอบครัวทั้งหมด เหลือเพียง 19% ในปัจจุบัน

กระนั้น, สตรีจำนวนมากยังคงเผชิญกับความทุกข์ยากหลังจากสูญเสียสามีไปในสงครามความขัดแย้ง

หมู่บ้านโอกัมโบตที่นางสเรย์ ลาอาศัยอยู่เป็นหนึ่งในชุมชนยากจนที่สุดของอำเภอเอกพนม,นายเอม ฟาน-ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านของชุมชนแห่งนั้นกล่าว เขาระบุว่า 91 ครอบครัวจากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 390 ครอบครัวมีหญิงหม้ายเป็นหัวหน้า หลายคนดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดภายใต้ความกดดันของหนี้สินและดำรงชีพด้วยการทำไร่

สามีของนางสเรย์ ลาเสียชีวิตเมื่อปี 1978 ทิ้งให้ภรรยาเลี้ยงดูลูกถึง 11 คน นางจำได้ว่าในยุคที่เขมรแดงขึ้นปกครองประเทศนั้นนางมีเพียงข้าวต้มมื้อละหนึ่งถ้วยเป็นอาหาร นางซดแต่น้ำและเก็บเม็ดข้าวไว้ในกระเป๋าเพื่อนำไปให้ลูกกิน

แต่เมื่อทหารของพอลพตรู้เข้า พวกเขากล่าวหานางว่า ทรยศต่อการปฏิวัติ ทั้งขู่ว่าจะฆ่านาง

ขณะนี้ลูกของนาง 9 คนแต่งงานแล้ว นั่นทำให้นางมีหลานถึง 33 คน บางคนช่วยนางทำไร่ หลายคนไปทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง

ในฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัว, นางสเรย์ ลายังคงแบกภาระไว้บนไหล่ ทุกเช้านางตื่นตั้งแต่ตีสี่ และเดินเท้าเป็นระยะทาง 10 กม.ไปทำไร่แตงโม หลังจากเสร็จงานที่ไร่เธอต้องเดินอีกสามชั่วโมงเพื่อกลับบ้าน "บางวันถ้าเพลียมากฉันนอนเสียที่ไร่ ถ้าสามีของฉันยังอยู่ชีวิตคงไม่ลำบากอย่างนี้" หญิงชราคร่ำครวญ

ในฤดูเกี่ยวข้าวที่ผ่านมา, นางได้ข้าวพอแค่จ่ายเป็นค่าเช่านาเท่านั้น เจ้าของนาเก็บค่าเช่าปีละ 300 กก. หญิงชราเล่าว่านางอาศัยการปลูกแตงโมเพื่อจะได้จ่ายค่าเช่าให้หมด

เรื่องของนางชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลของประชากรอันเนื่องมาจากการที่ผู้ชายต้องเสียชีวิตไปในสงครามเป็นจำนวนมาก เหลือเพียงผู้หญิงคอยแบกภาระหลังสงคราม

"สตรีหลายคนไม่ได้เตรียมตัวที่จะแบกภาระหารายได้ด้วยตัวเองหลังจากสูญเสียสามี" เค้ก กาลาบรู,ประธานสันนิบาตกัมพูชาเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษย์ชน,กล่าว "บ่อยครั้งผู้หญิงต้องเลี้ยงดูลูกหลายคน บางครั้งต้องเลี้ยงหลานของเพื่อนและญาติด้วย" เขาว่า

ซิม มารี ผอ.ฝ่ายกิจการสตรีของจังหวัดพระตะบอง,เปิดเผยว่า ในจังหวัดนี้มีหญิงหม้ายเป็นหัวหน้าครอบครัวอยู่ 30,300 ครัวเรือน จากจำนวนครอบครัวทั้งหมด 179,574 ครัวเรือน

คนจำนวนมากระบุว่าระบบปกครองเขมรแดงคือผู้รับผิดชอบในการทำให้สามีของหญิงหม้าย 60% เสียชีวิต ส่วนอีก 20% เสียชีวิตในระหว่างสงครามกลางเมืองในทศวรรษ 1980 ที่เหลือเสียชีวิตเพราะโรคร้ายเช่นมาเลเรีย และโรคเอดส์

ครอบครัวที่มีหญิงหม้ายเป็นหัวหน้ามักยากจน เนื่องจากต้องทำงานตามลำพังเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวที่มีลูกมากมาย,เธอกล่าว และว่าตามปกติหญิงหม้ายเหล่านี้ไม่มีที่ดินสำหรับการทำไร่ เนื่องจากพากันขายทุกสิ่งทุกอย่างไปเพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว

เธอประเมินว่าหญิงหม้ายในพระตะบองเพียง 7% เท่านั้นที่ที่ดินทำนาเป็นของตัวเอง 20% ทำงานในที่ดินของญาติ และอีก 10-13% ต้องเช่าที่ดิน บางคนเข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือไม่ก็มีธุรกิจเล็กๆที่บ้าน

นาง จัน ซวม, วัย 69,อาศัยอยู่ในอำเภอโอกัมโบต นางไร้ที่ดินปลูกข้าวจึงหันมาเพาะเห็ดเป็นอาชีพ บางครั้งนำเอาเปลือกและใบผลไม้มาทำเป็นธูป

"เมื่อลูกเขยต้องไปทำงานไกลบ้าน, ฉันต้องปีนต้นไม้ด้วยตัวเอง" นางเล่า "ฉันกลัวตกลงมา แต่ความหิวบังคับให้ต้องไต่ขึ้นไป"

เมื่อปี 1977, สามีของนางซวมซึ่งเป็นทหารถูกพลพรรคของเขมรแดงจับตัวไปไถนาร่วมกับคนอื่นๆในพระตะบอง ไม่กี่วันต่อมา,ทราบข่าวว่าสามีของนางถูกฆ่าพร้อมกับคนอื่นๆอีกหลายคน

"ฉันไม่รู้ว่าทำไมพวกเขาต้องฆ่าสามีฉันด้วย" นางซวมกล่าว และว่าจนบัดนี้นางยังรอการกลับมาของสามี นางซวมไม่มีวิทยุและทีวี.จึงไม่เคยทราบข่าวว่าจะมีการตั้งศาลพิพากษาเขมรแดง ซึ่งจะเริ่มขึ้นปลายปี 2006

นางดีใจที่ได้ทราบข่าวดังกล่าว : "พวกเขาฆ่าสามีของฉันเหมือนวัวควาย หากตั้งศาลพิพากษาเขมรแดง ฉันหวังว่าผู้นำเขมรแดงจะถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต"

"อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ : หากใครทำผิดก็ต้องชดใช้กรรม ถ้าไม่มีการลงโทษจะทำให้คนทำผิดก่อกรรมต่อไปอีก และจะเป็นตัวอย่างที่เลวสำหรับคนรุ่นหลัง" นางกล่าว

แม้จะยากจน,แต่นางซวมกล่าวว่า ควรนำเงินไปตั้งศาลพิพากษาเขมรแดงดีกว่านำมาช่วยเหลือนาง เนื่องจากนางเชื่อว่าจะมีเงินมาช่วยเหลือคนจนอยู่แล้ว

กระนั้น, นางเอียว เลียง,วัย 59,ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว นางกล่าวว่าอยากให้รัฐบาลนำเงินมาช่วยคนจนดีกว่านำไปตั้งศาล "มันไม่มีประโยชน์อะไร" นางกล่าว

นางเลียงมาจากหมู่บ้านตระพัง กอร์,อำเภอสะตวง จังหวัดกัมปงธม,ทางเหนือของพนมเปญ นางหย่าร้างกับสามีหลังจากเขมรแดงขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 1975 ในภายหลังทราบว่าสามีซึ่งเป็นทหารฝ่ายรัฐบาลป่วยตายในปี 1977

สองปีต่อมา,พลพรรคเขมรแดงแจ้งให้นางเลียงทราบว่านางอยู่ในรายชื่อผู้ที่จะถูกฆ่าในวันที่ 10 มกราคม 1979 และขณะนั้นมีการขุดหลุมสำหรับสังหารหมู่ไว้แล้ว

เขมรแดงกล่าวหานางว่าให้ที่หลบซ่อนแก่ทหารรัฐบาล นางเลียงจึงวางแผนจะหลบหนีเข้าป่า แต่พอดีกองทัพเวียดนามรุกเข้าสู่กัมพูชา และขับไล่เขมรแดงออกจากอำนาจ

ทหารรัฐบาลที่นางให้ที่หลบซ่อนยังคงมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ เขาทำหน้าที่เป็นองครักษ์ของนายก
รัฐมนตรี ฮุน เซ็น เขาเดินทางไปเยี่ยมนางอยู่เสมอ

ทุกวันนี้แม่หม้ายไม่ต้องโศกเศร้าอีกแล้ว, อวม เยนเตียง,ที่ปรึกษาฮุน เซ็นและเป็นประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษย์ชนแห่งกัมพูชากล่าว "ในยุคเขมรแดงไม่มีอะไรน่าเห็นใจเท่ากับการที่สามีหรือบิดาของใครถูกฆ่า ทั้งห้ามไม่ให้ใครร้องไห้ให้เห็น"

เค้ก กาลาบรูกล่าวว่า "ประสบการณ์จากสงคราม 25 ปีดูจะมีผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และผู้หญิงต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานกว่า"

สัม ริต
แปลจาก CAMBODIA: Decades After, Widows Battle the Demons of War
โดย Sam Rith* IPS

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net