Skip to main content
sharethis

โดย โซฟีน ที. อีบราฮิม
แปลจาก PAKISTAN: The Maiming by Landmines Continues
By Zofeen T. Ebrahim*

------------------------------------------------------------

(*โซฟีน ที. อีบราฮิม เขียนเรื่องนี้ภายใต้โครงการรายงานความขัดแย้งที่สนับสนุนโดยไอพีเอสเอเชีย-แปซิฟิกและมูลนิธิญี่ปุ่น)

บาจอร์เอเจนซี,ปากีสถาน,29 มีนาคม (ไอพีเอส) -- ขณะซาลาฮุดดินสหายสนิทของอับดุล มาลิคเหยียบกับระเบิดที่ฝังไว้ในสนามโรงเรียนของหมู่บ้านเมื่อหกปีก่อนจนต้องเสียขาไปข้างหนึ่งนั้น ทว่าต่อมาในปี 2002,มาลิคได้ตระหนักว่าเหยื่อรายถัดมากลับเป็นตัวเขาเอง

ใบหน้าของมาลิคยังมีรอยกากะบาดเพราะถูกสะเก็ดระเบิด เมื่อแรกเห็นเขาคิดว่าระเบิดลูกนั้น "เป็นกล่องขัดรองเท้า" ทว่ามันระเบิดขึ้นเมื่ออยู่ในมือของเขา แรงระเบิดทำให้เขากระเด็นออกมา

แม้ไม่มีใครช่วยได้ แต่มาลิคหยิบช้อนด้วยการหนีบแขน โดยไม่ทำข้าวหกขณะตักใส่ปาก

แต่ข้าวไม่ใช่อาหารประจำวันในบ้าน ตามปกติจึงต้องมีใครสักคนช่วยฉีกจาปัตตี (ขนมปังทำด้วยข้าวสาลี) จุ่มแกงกะหรี่ป้อนให้เขา นอกจากนั้นต้องช่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าและหวีผม มาลิคกล่าวว่า เมื่ออยู่บ้านมีคนช่วยมากมาย เขามีพี่สาวสี่คนและน้องชายสามคน กระนั้น,เขาไม่คิดว่าอาการพิการจะยั่งยืนถาวรจนต้องพึ่งคนอื่นไปตลอดชีวิต

มาลิคต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะใช้มือเขียนหนังสือไม่ได้ แต่เขาโชว์ให้เห็นด้วยการใช้มือกุดทั้งสองข้างจับปากกา เขาฝันว่าจะบรรลุความฝันด้วยการเป็นวิศวกรสร้างถนนสักวันหนึ่ง

แต่ซาลาฮุดดินจำไม่ได้แน่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาในวันนั้น "ผมตื่นขึ้นมาและพบตัวเองอยู่ในโรงพยาบาล ขาข้างหนึ่งหักขณะอีกข้างหนึ่งหายไป"

เป็นเวลาสี่สิบวันที่ซาลาฮุดดิน-หนูน้อยวัยเจ็ดขวบ,ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่บาจอร์เอเจนซี่อยู่กับความเจ็บปวด

หลังจากเกิดเหตุขึ้นกับเขา,โมฮัมเหม็ด นาซีร์-บิดาซึ่งเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนมัทยมในหมู่บ้าน,เข้ารับภารกิจด้วยตัวเองที่จะทำการกวาดล้างกับระเบิดและลูกระเบิดตกค้าง(UXO)

"ผมดูแลผู้ประสบเหตุระเบิดทั้งหมดในตำบลเทห์ซิล และไปเยี่ยมผู้เคราะห์ร้ายทุกคนด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังรายงานเหตุการณ์ให้องค์กรต่างๆที่ช่วยเหลือผู้โดนกับระเบิดให้ทราบ ทั้งเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างความสนใจให้กับสื่อมวลชน" นาซีร์กล่าวกับไอพีเอส.

หลังจากรอคอยถึงหกปี, องค์กรสันติภาพยั่งยืนและการพัฒนา(SPADO)-ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรรณรงค์นานาชาติเพื่อยุติกับระเบิด(ICBL),ได้จัดหาเงินทุนมาเพื่อทำอวัยวะเทียมให้กับซาลาฮุดดินเมื่อปลายปีที่แล้ว

ที่น่าขำคือทิวทัศน์ของบาจอร์เอเจนซี-หุบเขาที่แวดล้อมด้วยยอดเขาหิมาลัยอันปกคลุมด้วยหิมะในอาณาบริเวณชายแดนของภาคตะวันตกเฉียงเหนือแห่งนี้ ดูขัดแย้งกับความเป็นจริงของพื้นที่อย่างรุนแรง

บาจอร์อันงดงาม เป็นหนึ่งในเขตปกครองเจ็ดแห่งของดินแดนชนเผ่า(FATA)ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ทว่าเต็มไปด้วยหญิง,ชายและเด็กที่สูญเสียอวัยวะและมีแผลเป็นบนใบหน้า ทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของกับระเบิด

กองทัพปากีสถานใช้กับระเบิดในสงครามต่อต้านอินเดียที่เกิดขึ้นในปี1947,1965, และ 1971 นอกจากนี้ยังใช้ในสงครามเมื่อครั้งโซเวียตบุกเข้ามาในอัฟกานิสถาน ปากีสถานยังคงนโยบายใช้กับระเบิดเพื่อป้องกันพื้นที่ชายแดนของตนต่อไป

เมื่อปี 2003, มีผู้ตกเป็นเหยื่อกับระเบิดและ UXO 138 ราย ในจำนวนนี้ 48 คนเสียชีวิต ขณะ 90 คนบาดเจ็บสาหัส

ระหว่างปี 2000-2003, ICBL รายงานว่ามีเหยื่อกับระเบิดและUXO เพิ่มขึ้นอีก 428 รายในพื้นที่ชายแดนระหว่างอินเดียและอัฟกานิสถาน ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2004 มีเหยื่อกับระเบิดอีก 32 ราย

รายงานของ ICBL ระบุอีกว่า "ปากีสถานรายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2003 ว่าได้เคลียร์กับระเบิดออกไปแล้ว 99% จากที่วางไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2001 และต้นปี 2002 ในบริเวณชายแดนที่ติดกับอินเดีย" แต่รายงานมิได้ระบุว่าได้เคลียร์กับระเบิดออกไปจากเขตปกครอง FATA หรือไม่
นายราซา ชาห์ ข่าน- ผอ.SPADO, ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับอาวุธขนาดเล็กในเขต FATA แถลงว่า "คุณสามารถซื้อกับระเบิดได้ในราคาเพียงลูกละ 200 รูปี (ราว 136 บาท) มันราคาถูกมากและสามารถนำข้ามชายแดนไปได้โดยไม่มีปัญหา"

"คุณจะนำไปวางที่ไหนก็ได้ มันจะนอนนิ่งจนกว่าจะมีใครไปเหยียบ แล้วมันจะฆ่าและทำร้ายพลเรือน,มิตรสหายของคุณหรือศัตรู,ทหารและผู้พิทักษ์สันติภาพ หรือแม้กระทั่งสัตว์" ข่านกล่าว

ตามการแถลงของ ICBL,ในอดีตปากีสถานเป็นผู้ส่งออกกับระเบิดสังหารรายสำคัญ กับระเบิดของปากีสถานจะพบได้ในอัฟกานิสถาน, อีริเทรีย, อีธิโอเปีย,โซมาเลีย, ศรีลังกา และพื้นที่อื่นๆ

ปากีสถานมีโรงงานสรรพาวุธของรัฐที่ผลิตกับระเบิดสังหาร 6 ชนิด นับแต่วันที่ 1 มกราคม 1977 ประเทศนี้ผลิตเฉพาะกับระเบิดที่สามารถค้นหาได้ การผลิต "ระเบิดสะเก็ด" ถูกสั่งห้ามไปแล้ว

กล่าวกันว่านับแต่ปี 1991, ปากีสถานเลิกส่งออกกับระเบิด ในปี 1997,ประเทศนี้สั่งระงับการส่งออกจนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1999 ได้สั่งห้ามการส่งออกกับระเบิดสังหารโดยสิ้น

ปากีสถานมิได้ลงนามในอนุสัญญาอ็อตตาวา 1997 ที่ระบุห้ามใช้,ผลิต,ครอบครองหรือแพร่กระจายกับระเบิดสังหารบุคคลที่ให้สัตยาบันโดย 124 ประเทศ และลงนามโดย 150 ประเทศ

องค์กร SPADO ได้รณรงค์และให้ความรู้เรื่องการหลีกเลี่ยงกับระเบิดโดยผ่านรายการฟุตบอลเพื่อเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญได้เดินทางไปตามโรงเรียน,สุเหร่าและที่สาธารณะในหมู่บ้านเพื่อเผยแพร่ข่าว โดยเฉพาะในชุมชนที่เสี่ยงภัยกับระเบิด

ทว่าเป้าหมายสำคัญคือกลุ่มสตรีที่ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถเข้าถึงได้โดยตรงเนื่องจากการแยกสันโดษตามประเพณีท้องถิ่น

ดร.กี-บลา อายาส คณะบดีแห่งศูนย์อิสลามและตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยเปชวาแถลงว่า
"ต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนโดยเฉพาะสตรีและเด็กหญิงในชนบทจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้คนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ การศึกษาเท่านั้นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงบวก"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net