Skip to main content
sharethis

ล่าสุด ผลการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทด้านการขนส่งเพื่อรองรับการเป็นศูนย์คมนาคมและศูนย์กลางภาคเหนือตอนบนของเมืองเชียงใหม่ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ก็ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนมีนาคม 2548 ที่ผ่านมา และได้กำหนดเป็นแผนงานและโครงการครอบคลุมหลายด้านทั้งการพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมทางถนน, การปรับปรุงพัฒนาสถานีขนส่ง, การปรับปรุงและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและขนส่งมวลชน, การปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการจราจร-ขนส่ง รวมทั้งสิ้น 38 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 179,371 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ในช่วงระยะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ที่เมืองแห่งนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการรุกคืบของการค้า การลงทุน การอพยพย้ายถิ่นหรือการเข้ามาหางานทำ รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านต่างๆที่รัฐบาลกำลังทุ่มลงมาให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจทุกด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจ แน่นอนที่สุดว่าในอนาคตจะเกิดการขยายตัวของเมืองในอัตราที่สูงขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งปัจจุบันปัญหาที่เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติก็คือ ปัญหาจราจรในเขตเมือง ดังนั้น การเร่งพัฒนาระบบการขนส่งและการจราจร จึงมีความจำเป็นอย่างที่สุด

ทั้งนี้ จากแผนแม่บทฯ ดังกล่าวชี้ให้เห็นสภาพการขนส่งและการจราจรที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสามารถคาดคะเนความต้องการของการเดินทางของคนและสินค้าในรูปแบบต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

วิกฤติปัญหาจราจรเชียงใหม่
ถนนสายหลักปริมาณรถพุ่ง

การเดินทางของคนในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับจราจรในเขตเมืองจำแนกออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การเดินทางในเขตผังเมือง และการเดินทางเข้า-ออกเขตผังเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพบว่าความต้องการในการเดินทางของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตผังเมืองรวม มีความต้องการในการเดินทางระหว่างคู่โซนทั้งหมดภายในเขตผังเมืองรวมเชียงใหม่ในปีปัจจุบันเป็นจำนวน 1,411,988 เที่ยว-คนต่อวัน และคิดเป็นปริมาณจราจรในโครงข่ายเส้นทางทั้งหมดจำนวน 699,783 เที่ยวการเดินทางเทียบเท่ารถยนต์ส่วนบุคคลต่อวัน ส่วนการเดินทางเข้า-ออกเขตผังเมืองรวม มีความต้องการเดินทางจำนวน 305,316 เที่ยว-คนต่อวัน และมีความต้องการในการเดินทางระหว่างพื้นที่ภายนอกรอบเขตผังเมืองรวมเชียงใหม่ทั้งหมดจำนวน 21,105 เที่ยว-คนต่อวัน

ปริมาณจราจรบนถนนสายหลักในเขตเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ณ จุดสำรวจบริเวณสะพานป่าแดดมีค่ารวมทั้งวันสูงสุด 71,093 คันต่อวัน รองลงมาคือถนนมหิดล บริเวณเชียงใหม่แลนด์มีปริมาณการจราจร 70,118 คันต่อวัน ในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าปริมาณจราจรบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ณ จุดสำรวจบริเวณสะพานป่าตันมีค่าสูงสุด 5,659 คันต่อชั่วโมง รองลงมาคือถนนมหิดล บริเวณเชียงใหม่แลนด์มีปริมาณจราจร 5,208 คันต่อชั่วโมง ส่วนในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเย็น พบว่าจุดที่มีปริมาณจราจรสูงสุดคือ บริเวณเชียงใหม่แลนด์ 9,354 คันต่อชั่วโมง รองลงมาคือสะพานป่าตัน 6,310 คันต่อชั่วโมง

สำหรับปริมาณจราจรบนถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างเมืองเชียงใหม่ ปริมาณการจราจรที่เข้า-ออกเขตผังเมืองเชียงใหม่ โดยใช้ถนนสายหลัก 7 เส้นทางมีปริมาณการจราจรรวม 145,065 คันต่อวัน โดยทางหลวงหมายเลข 11 (ถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง) มีปริมาณการจราจรสูงสุดประมาณ 38,763 คันต่อวัน รองลงมาคือทางหลวงหมายเลข 108 (ถนนสายเชียงใหม่-ฮอด) มีปริมาณจราจร 30,869 คันต่อวัน ส่วนในชั่วโมงเร่งด่วนพบว่าปริมาณจราจรที่เข้า-ออกเมืองโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 11 มีค่าสูงสุดในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าคือ 3,230 คันต่อชั่วโมง และ 3,798 คันต่อชั่วโมง ในชั่วโมงเร่งด่วนเย็น รองลงมาคือทางหลวงหมายเลข 108 มีปริมาณการจราจร ในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า 2,914 คันต่อชั่วโมง และ 2,948 คันต่อชั่วโมง ในชั่วโมงเร่งด่วนเย็น

สำหรับปริมาณการจราจรที่เข้าสู่ทางแยกสำคัญในเขตเมืองเชียงใหม่ พบว่าทางที่มีปริมาณจราจรสูงสุดคือ ทางแยกต่างระดับบนทางหลวงหมายเลข 1141 (ถนนมหิดล) และทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 11 (ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์) ซึ่งบริเวณสี่แยกแอร์พอร์ต มีปริมาณจราจรเข้าสู่ทางแยกมากที่สุดคือ 10,837 คันต่อชั่วโมง ในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า รองลงมาคือสี่แยกข่วงสิงห์ มีปริมาณจราจรเข้าสู่ทางแยก 9,056 คันต่อชั่วโมง

ทั้งนี้แผนแม่บทฯ ดังกล่าวได้เสนอแนะให้จัดทำโครงการที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาจราจรในระดับเขตเมืองเชียงใหม่จำนวน 15 โครงการ รวมเป็นเงินลงทุนทั้งหมด 15,411 ล้านบาท ซึ่งแนวทางของแผนแม่บทพัฒนาในเขตเมือง จะมุ่งเน้นไปในด้านการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งเป็นลักษณะของโครงการต่อเนื่องที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการรถประจำทาง โครงการรถไฟฟ้า โครงการระบบรถเมล์ด่วน (Bus Rapid Transit, BRT) และนอกเหนือจากการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะแล้ว จะต้องมีการนำเอาพฤติกรรมการเดินทางให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ได้แก่ โครงการจอดแล้วจร (Park & Ride) โครงการควบคุมการจราจร (Traffic Control)

เปิดข้อมูลขนส่งสินค้า
รถบรรทุก-รถไฟพุ่งสูง

การขนส่งสินค้าที่ขนส่งเข้า-ออกจากจังหวัดเชียงใหม่แยกตามประเภทยานพาหนะที่ใช้ขนส่งสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ ทางรถบรรทุก ทางรถไฟ และทางอากาศ

การขนส่งสินค้าทางรถบรรทุก มีปริมาณการขนส่ง 15,888,800 ตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนสินค้าขาเข้าและขาออกเท่ากับร้อยละ 74 และร้อยละ 26 ตามลำดับ ซึ่งสินค้าขนส่งหลักที่เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่จัดอยู่ในกลุ่มของสินค้าในภาคการผลิต ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์โลหะ ขณะที่สินค้าขาออกจากจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่ จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ร้อยละ 50 ของปริมาณขนส่งจะเป็นการขนส่งระหว่างจังหวัดเชียงใหม่-กรุงเทพฯ และประมาณร้อยละ 15 เป็นการขนส่งภายในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

การขนส่งทางรถไฟ จากการสำรวจพบว่ามีปริมาณการขนส่ง 68,379 ตันต่อปี แบ่งเป็นสัดส่วนสินค้าขาเข้าและขาออกเท่ากับร้อยละ 96 และร้อยละ 4 ตามลำดับ การขนส่งสินค้าเข้า-ออกจังหวัดเชียงใหม่โดยทางรถไฟ ประเภทสินค้าขนส่งหลัก ได้แก่ สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมประมาณร้อยละ 90 และ 70 สำหรับการขนส่งขาเข้าและขาออกจังหวัดเชียงใหม่ตามลำดับ รองลงมาคือ สินค้าประเภทการเกษตรเช่น ข้าว ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ

การขนส่งทางอากาศ มีปริมาณการขนส่ง 25,000 ตันต่อปี มีสัดส่วนการขนส่งสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออกเท่ากับร้อยละ 38 และ 62 ตามลำดับ สามารถจำแนกสินค้าออกเป็น 5 กลุ่มคือ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรกรรม สินค้าศิลปหัตถกรรม เคมีภัณฑ์ และสินค้าอื่นๆ ซึ่งกว่าร้อยละ 50 เป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ขนส่งระหว่างท่าอากาศยานกับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูน โดยจุดต้นทางปลายทางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เข้าออกจังหวัดเชียงใหม่จำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภายในประเทศ คือ กรุงเทพฯและจังหวัดภูเก็ต ส่วนการขนส่งระหว่างประเทศมีจุดปลายทางการขนส่งสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน และฮ่องกง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การขนส่งสินค้าทางถนนมีสัดส่วนในการขนส่งสูงถึงร้อยละ 99 และคาดว่าจะเป็น ตัวที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการจราจร ซึ่งสินค้าที่จะเข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนบนจะผ่านจุดหลักคือ จังหวัดลำปาง และในแผนแม่บทฯ ก็ได้มีการเสนอโครงการอยู่ในกลุ่มโครงการระดับภูมิภาค ที่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของโครง
ข่ายถนนเพื่อการเดินทางระหว่างจังหวัด รวมถึงการจัดระบบขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกระหว่างเมือง (Logistics) จัดตั้งศูนย์ขนถ่ายสินค้าของภูมิภาคขึ้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางกระจายและรวบรวมสินค้าที่เข้าและออกจากภูมิภาค 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน.

************

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net