Skip to main content
sharethis

REALPOLITIK BEFORE MINIMAL JUSTICE
ความอิหลักอิเหลื่อของทางราชการและรัฐบาลเรื่องรับผิดชอบต่อกรณีผู้ชุมนุม ๘๕ คนเสียชีวิตที่ตากใบเป็นประเด็น REALPOLITIK หรือนัยหนึ่ง "การเมืองบนพื้นฐานความจริงหรือความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติของอำนาจ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือพวกพ้องแล้วแต่กรณี" มากกว่าจะเป็นประเด็นหลักการทางนิติธรรม ยุติธรรม หรือศีลธรรมเชิงอุดมคติใด ๆ

ในแง่หนึ่ง ท่ามกลางภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานที่ชายแดนภาคใต้ กองทัพอยู่แถวหน้าในการรับมือการก่อการร้าย ฉะนั้นจึงต้องพยายามตีวงจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบไว้ ไม่ให้กำลังพลเสียขวัญกำลังใจ

อีกแง่หนึ่ง ฝ่ายนำทางการเมืองผู้เป็นเจ้าของนโยบายส่งทหารเพิ่มกำลังจากต่างถิ่นลงไปประชิดกับมวลชนต่างชาติพันธุ์และศาสนาในพื้นที่ เพื่อแปรชายแดนภาคใต้ให้เป็นแบบทหารหรือแบบอิรัก (MILITARIZATION หรือ IRAQIZATION) จนเป็นเงื่อนไขให้เกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมขึ้นนั้น ย่อมสามารถอาศัยเสียงข้างมากในประเทศเป็นเกราะกำบังตัวเองจากความรับผิดชอบเชิงนโยบาย ขณะเดียวกันก็แบ่งรับแบ่งสู้แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนในพื้นที่และประชาคมระหว่างประเทศ (ได้แก่มาเลเซียและอินโดนีเซียในอาเซียน, กลุ่มประเทศอิสลาม, องค์กรและประเทศมหาอำนาจในระบอบพิทักษ์สิทธิมนุษยชนสากล) เท่าที่พอจะหาผู้ถูกกะเกณฑ์ให้เสียสละมารับผิดได้

น้ำหนักแห่งความรับผิดชอบที่ทางราชการและรัฐบาลแสดงออกต่อพลเมืองไทย ๘๕ ชีวิตที่สูญเสียไปจึงตกห่างจากความคาดหมายของชุมชนมลายูมุสลิมในพื้นที่และเครือข่ายมุสลิมในประเทศจนยากจะรับได้ ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองภายใต้อำนาจเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดยังคงดำรงอยู่ต่อ ซึ่งจะยิ่งเป็นเชื้อไฟให้มวลชนญาติมิตรของผู้เสียชีวิตอุกอั่งคับแค้น ไม่เห็นหนทางอื่นในการทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ เท่ากับไปสร้างขยายแนวร่วมทางอ้อมและทางตรงให้ผู้ก่อการร้ายอีก

ความยุติธรรมขั้นต่ำสุด (MINIMAL JUSTICE) ที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับและยอมอยู่ด้วยอันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนจึงยังไม่บังเกิด การก่อการร้ายต่อต้านรัฐยังคงจะถูกถือเป็นทางเลือก ทำให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตายเพิ่มอีก

THE SUCCESS & FAILURE OF PEACE BOMBS
ปฏิบัติการนกกระดาษที่สถานีวิทยุบีบีซีเรียกว่า "PEACE BOMBS" ช่วยปลุกกระแสชาตินิยมในระดับควบคุมได้ขึ้นมาในขอบเขตทั่วประเทศ และกลบเกลื่อนความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ไว้จากความรู้สึกและรับรู้ของคนนอกพื้นที่, แต่มันย่อมไม่อาจบรรเทาความรุนแรงและผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เองลงไป, ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านพ้นซึ่งกลับตาลปัตรกันระหว่างระดับประเทศ (รัฐบาลได้ ส.ส. ๓๗๗ จาก ๕๐๐ ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร) กับระดับพื้นที่ (รัฐบาลได้ ส.ส. เพียง ๑ จาก ๕๔ ที่นั่งในภาคใต้) มีส่วนสะท้อนความจริงข้อนี้

RIGHT-WING AUTHORITARIANISM: AN INFANTILE DISORDER
เบื้องแรกสุด รัฐและสังคมไทยควรต้องคิดให้ชัดและแยกให้ออกว่าศัตรูคือ [ผู้ใช้วิธีก่อการร้าย ฆ่าฟันเจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ เพื่อเป้าหมายแยกดินแดน], ไม่ใช่ [ประชาชนมลายูมุสลิมที่ใช้สิทธิต่อสู้เรียกร้องอย่างสันติเพื่ออำนาจปกครองตนเองในท้องถิ่น], ฝ่ายหลังเป็นมิตรและจะเป็นฐานพลังการรุกทางการเมืองเพื่อปฏิรูปการเมืองภาคใต้ไปสู่สันติสุข
น่าเสียดายที่รัฐบาลยังจำแนกมิตร/ศัตรูไม่เป็น, คละเคล้าสับสนปนเป [ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล] เข้ากับ [ผู้เห็นด้วยกับผู้ก่อการร้ายแยกดินแดน], ขับไสมิตร เพิ่มศัตรู, ไม่ว่าจะเป็นกรณีนกกระดาษที่นายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล (ชุดก่อน) ใช้การเห็นด้วยหรือเห็นต่างจากการรณรงค์นี้มาขีดเส้นแบ่งจำแนกมิตร/ศัตรู, กรณีหน่วยงานข่าวกรองราชการบางหน่วยโยงนักวิชาการที่วิพากษ์ วิจารณ์แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลและเรียกร้องวิถีมุสลิม-ปกครองตนเองว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการร้าย, กรณีนายกฯมีดำริจะใช้มาตรการแบ่งโซนพื้นที่มาเลือกปฏิบัติในการจัดสรรงบประมาณ ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนบ่งส่อกลุ่มอาการอำนาจนิยมเอียงขวาไร้เดียงสา (RIGHT-WING AUTHORITARIANISM: AN INFANTILE DISORDER) ตามอารมณ์ชั่วแล่นที่เป็นคุณอย่างยิ่งต่อผู้ก่อการร้าย

ความเป็นมลายูกับความเป็นมุสลิม
สังคมไทยยังมองปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้และคนในพื้นที่แบบแยกส่วนโดยเห็นและเน้นแต่มิติทางศาสนาเรื่อง [ความเป็นมุสลิม], ไม่ค่อยเห็นและละเลยมิติทางชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์เรื่อง [ความเป็นมลายู] ทั้งที่ในความเป็นจริงทั้งสองส่วนเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวแยกไม่ออกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และทำให้ชุมชนมลายูมุสลิมมีเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากมุสลิมภาคอื่น

การเลือกเข้าใจแบบไม่ครบถ้วนนี้สะท้อนออกในคำเรียกหาพี่น้องมลายูมุสลิมว่า "ชาวไทยมุสลิม" ตลอดเวลา, เรียกขานภาษา (language) ที่พวกเขาพูดว่า "ภาษายาวี" ทั้งที่เอาเข้าจริงเป็น "ภาษามลายู" ขณะที่ "ยาวี" เป็นชื่อเรียกอักขระหรือตัวอักษร (script หรือ alphabet) อาหรับที่พวกเขาใช้มาขีดเขียนภาษามลายูนั้น (เทียบกับมาเลเซียที่เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันเขียนภาษามลายูแทน หรือเวียดนามที่เลิกใช้อักษรจีน เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันเขียนภาษาเวียดนาม) เป็นต้น

การมองปัญหาที่เห็นแต่มิติศาสนา ละเลยมิติชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ ทำให้คับแคบ เห็นเฉพาะส่วน ประเมินต่ำ ผิดพลาด เบี่ยงเบน และอาจแก้ไม่ถูกจุดหรือไม่ครอบคลุมเพียงพอ

TRIPLE MINORITIES
ปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาชนส่วนน้อยมลายูมุสลิมในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธเท่านั้น เพราะถ้ามองอย่างลึกซึ้งกว้างไกลแล้ว มันเป็นสถานการณ์ TRIPLE MINORITIES หรือ ชนส่วนน้อยซ้อนกันสามชั้น ต่างหาก กล่าวคือ

ชั้นแรก) ในระดับพื้นที่ ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในชายแดนภาคใต้

ชั้นสอง) ในระดับประเทศ ชาวมลายูมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ในประเทศไทย

ชั้นสาม) ในระดับภูมิภาค ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และภาคใต้ของฟิลิปปินส์

ความสลับซับซ้อนหลายชั้นดังกล่าวทำให้ต้องคำนึงถึง [สิทธิของคนส่วนน้อยในระบอบประชา
ธิปไตย] ให้มากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายจำต้องคิดเผื่อคนอื่นในเรื่องนี้ เพราะหากฝ่ายอื่นได้ ฝ่ายเราก็จะได้ด้วย เนื่องจากทั้งเราและเขา, ทั้งมลายูมุสลิมและไทยพุทธ ก็เป็นชนส่วนน้อยเหมือนกัน มีฐานะและประสบปัญหาชะตากรรมละม้ายคล้ายกัน เพียงแต่อยู่ในระดับต่าง ๆ กัน
เราควรยกระดับและเจาะลึกการคิดเรื่องสิทธิชนส่วนน้อยให้ลงไปในระดับชุมชนว่าจะดำรงความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อคนส่วนน้อยภายในชุมชนพื้นที่ของเราอย่างไร? และขี้นไปในระดับภูมิภาคว่าจะดำรงความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อคนส่วนน้อยในภูมิภาคอย่างไร? ได้เวลาที่ ASEAN จะต้องคิดเรื่องกฎบัตรสิทธิทางวัฒนธรรม (Charter of Cultural Rights) ในระดับภูมิภาคแล้ว

ประชาธิปไตยกับการก่อการร้าย, ความมั่นคงกับสิทธิมนุษยชน
ระบอบประชาธิปไตยควรจะรับมือการก่อการร้ายอย่างไร? เหมือนกันหรือไม่กับวิธีรับมือการก่อการร้ายของระบอบเผด็จการ?

คำถามนี้สำคัญเพราะประสบการณ์ในประเทศและสากลสองสามปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยหลายแห่งกำลังเลือกใช้วิธีการของเผด็จการไปปราบปรามการก่อการร้ายโดยยินยอมกระทั่งจงใจละเลยและละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน นิติธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

นี่นับเป็นตลกร้ายที่เป็นโศกนาฏกรรม เพราะมันเท่ากับว่าในกระบวนการปกป้องประชา-ธิปไตยไว้จากการก่อการร้าย เรากลับกำลังทำลายสิ่งที่น่าหวงแหนที่สุด ทรงคุณค่าคู่ควรแก่การปกป้องที่สุดในระบอบประชาธิปไตยลงไปกับมือของเราเอง ทว่าหากปราศจากเนื้อหาที่เป็นแก่นสารของประชาธิไตยเหล่านี้เสียแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงเรากำลังปกป้องอะไร? ปกป้องไว้จากใคร? เพื่อสิ่งใด?

ฉะนั้น เราจำต้องช่วยกันคิดค้นหาลู่ทางรับมือการก่อการร้ายที่เชื่อมโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับการธำรงรักษาและส่งเสริมประชาธิปไตย, ออกแบบวิธีเฉพาะตัวของประชาธิปไตยในการสู้ภัยก่อการร้าย, ผสมผสาน ๑) มาตรการทางการเมือง ๒) มาตรการความมั่นคง (ซึ่งครอบคลุมทั้งมาตรการด้านการทหารและกฎหมาย) และ ๓) มาตรการทางการพัฒนาเข้าด้วยกันภายในกรอบของรัฐธรรมนูญในสัดส่วนที่เหมาะสมยืดหยุ่นพลิกแพลงตามภัยคุกคามของการก่อการร้ายที่เปลี่ยน แปลงไป, เพื่อนำระเบียบวาระต่อต้านการก่อการร้ายกับระเบียบวาระสิทธิมนุษยชนมาอยู่ร่วมในกรอบโครงเดียวกันให้จงได้

แน่นอนว่าลำพังประชาธิปไตยย่อมไม่สามารถกวาดล้างการก่อการร้ายให้หมดไป แต่มันก็สร้างบริบทเงื่อนไขที่ช่วยเหนี่ยวรั้งยับยั้งการก่อการร้ายไว้ไม่ให้แผ่ขยายลุกลามและอาจนำไปสู่การเจรจาหาทางออกอย่างสันติได้ในที่สุด แม้ว่าอาจจะต้องผ่านช่วงการทดสอบฝ่าฟันอันเจ็บปวดยาว นานก็ตาม ดังประสบการณ์การยุติสงครามประชาชนระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างสันติในอดีตเป็นตัวอย่าง ปมเงื่อนคงอยู่ตรงจะจัดวางบทบาทของกองกำลังทหาร-ตำรวจกับหน่วยงานข่าวกรองของรัฐให้เหมาะสมไม่มากไม่เกินอย่างไร เพื่อสามารถทั้งรับมือการก่อการร้ายและเสริมสร้างประชาธิปไตยไปพร้อมกัน?

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการก่อการร้าย
หากยึดสภาพความจริงทางการทหารเป็นที่ตั้ง อาจวิเคราะห์ได้ว่ายุทธศาสตร์การก่อการร้ายในชายแดนภาคใต้น่าจะเป็นสงครามพร่ากำลังหรือ WAR OF ATTRITION กล่าวคือก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีไปเรื่อย ๆ ฆ่าฟันทำร้ายเจ้าหน้าที่ชาวบ้านไปเรื่อย ๆ, ถามว่าการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีดังกล่าวจะนำไปสู่ขั้นตอนการรุกทางยุทธศาสตร์การทหารในชายแดนภาคใต้หรือไม่? เมื่อไหร่? อย่างไร?

คำตอบที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการทหารที่สุดคือไม่และเป็นไปไม่ได้
ลำพังสงครามพร่ากำลังด้วยการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีโดยตัวมันเองจะไม่นำไปสู่การรุกทางยุทธศาสตร์การทหารจนถึงขั้นยึดเมืองใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรอก เพราะข้อจำกัดทางอาวุธยุทโธปกรณ์, ขั้นตอนการรุกทางยุทธศาสตร์การทหารนั้นต้องอาศัยอาวุธหนักประเภทรถถัง ปืนใหญ่ จรวดหรือปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งผลิตเองในป่าเขาหรือหมู่บ้านไม่ได้, อาวุธหนักขนาดนั้นผู้ก่อการร้ายไม่มี ต้องสั่งซื้อจากมหาอำนาจทางทหารภายนอกและลักลอบขนเข้ามา

ฉะนั้น ตราบใดที่ชายแดนภาคใต้ยังปิดต่อการขนส่งลำเลียงอาวุธหนัก รัฐบาลมาเลเซียไม่เปิดพรมแดนอำนวยความสะดวกเป็นทางผ่านให้ และกองทัพไทยยังสามารถผูกขาดอาวุธหนักในมือ, ตราบนั้นชัยชนะทางการทหารของขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ดูเหมือนขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนจะคาดหวังและรอคอยมากกว่าชัยชนะทางการทหารคือชัยชนะทางการเมืองเมื่อรัฐบาลหลงกลพลาดพลั้ง

หากมองแง่นี้ การก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีแบบสงครามพร่ากำลังก็น่าจะทำขึ้นเพื่อยั่วยุให้รัฐบาล over-react หรือใช้กำลังตอบโต้เกินกว่าเหตุ ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก ส่งทหารลงไปเต็มพื้นที่ militarization ชายแดนภาคใต้ กระทั่งฝ่ายรัฐเลือดเข้าตาสติแตก ลงมือก่อการร้ายโดยรัฐเอง (state terrorism) เพื่อตอบโต้โดยไม่จำแนกผู้ก่อการร้ายกับประชาชนชาวมลายูมุสลิม

ถึงจุดนั้นสถานการณ์ก็อาจพลิกผันกลายเป็นว่าฝ่ายรัฐดำเนินนโยบายเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานเชื้อชาติ-ศาสนา (racial or religious discrimination) เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์แพร่ขยายลุกลามในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง (ethnic conflict) จนรัฐล้มเหลวในการธำรงรักษาหลักนิติธรรมและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง (failed state) แบบที่เคยเกิดขึ้นในบอสเนียและ โคโซโวในอดีตยูโกสลาเวีย, หรือดาร์ฟูในซูดานปัจจุบัน
นี่ย่อมเปิดช่องให้มีการอ้างได้ว่าเกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ขึ้น เพื่อที่มหาอำนาจของโลก, องค์การระหว่างประเทศและแนวร่วมกลุ่มประเทศอิสลามในภูมิภาคและสากลจะจัดส่งกองกำลังนานาชาติเข้ามาแทรกแซงรักษาความสงบ ซึ่งนั่นก็จะกลายเป็นชัยชนะทางการเมืองของขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดน

ถ้าข้อวิเคราะห์ข้างต้นฟังขึ้น ก็จะพบว่าที่ผ่านมารัฐบาลและตำรวจ-ทหารสายเหยี่ยวหลงกลเดินตามยุทธวิธีของผู้ก่อการร้ายแยกดินแดนเกือบตลอด จนพลาดพลั้งทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า มาถึงจุดที่ประเทศอิสลามใน ASEAN เองคือมาเลเซีย อินโดนีเซีย, องค์การการประชุมโลกอิสลาม (OIC - Organization of Islamic Conference) และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ-อเมริกาเริ่มลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและปฏิบัติการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลไทยในชายแดนภาคใต้และยกประเด็นปัญหานี้เข้าสู่เวทีระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ

ในทางกลับกัน ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าบริเวณชายแดนภาคใต้ของไทยจะเป็นเดิมพันอันมีน้ำหนักคุณค่าสำคัญพอบนโต๊ะเจรจาแบ่งปันทรัพยากรและเขตอิทธิพลของบรรดาประเทศมหาอำนาจของโลกที่จะให้พวกเขาเสี่ยงทุ่มต้นทุนอาวุธและชีวิตผู้คนเข้ามาเกี่ยวพันด้วย (หากเทียบกับจุดยุทธศาสตร์คับขันของโลกอย่างคาบสมุทรเกาหลี, ไต้หวัน, อ่าวเปอร์เซียและตะวันออกกลาง เป็นต้น)

ในกรณีที่ชายแดนภาคใต้ไม่สำคัญพอที่มหาอำนาจจะเข้ามาแทรกแซง, การก่อการร้ายพร่ากำลังเพื่อยั่วยุ VS การก่อการร้ายโดยรัฐเพื่อตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน บ้ามาก็บ้าไป ก็จะแข่งกันไต่บันไดขีดขั้นความรุนแรงขึ้นไปเป็นเกลียวอุบาทว์แบบมืดบอดไม่เห็นที่สิ้นสุด และชีวิตเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็อาจจะล้มตายเปล่าเปลืองมากมาย

การแยกดินแดนกับการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ครั้งใหญ่
ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป้าหมายและข้อเรียกร้อง "แยกดินแดน" (SECESSION) เป็นเสมือนประตูปิดตายที่ไม่เปิดช่องทางหรือพื้นที่ให้แก่การเจรจาต่อรองหรือประนีประนอมปรองดองใด ๆ ระหว่างคู่ขัดแย้ง

ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่า "ดินแดน" (TERRITORY) ย่อมมีอยู่ผืนเดียว ถ้าไม่ติดเป็นปลายด้ามของขวานประเทศไทย ก็มีแต่แยกหลุดออกไปเป็นของคนอื่น, เมื่อเดิมพันถูกผูกติดกับอุปลักษณ์ (METAPHOR) เรื่อง "ดินแดน" และจินตนากรรมผ่านแผนที่ (A COMMUNITY OF PLACE THAT IS IMAGINED THROUGH MAPPING) ความขัดแย้งย่อมกลายเป็นเกมแพ้/ชนะเด็ดขาดที่ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ "ดินแดน" มา อีกฝ่ายก็ต้องเสีย "ดินแดน" ไป (ZERO-SUM GAME) เพราะผลประโยชน์ของสองฝ่ายที่ต่างก็อยากได้ "ดินแดน" นั้นมันขัดแย้งกันอย่างเป็นปฏิปักษ์ มีแต่ต้องสู้กันแตกหักไปข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น

แต่เอาเข้าจริง "แยกดินแดน" แปลว่าอะไร? สมมุติว่าเกิดการ "แยกดินแดน" ขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า "ดินแดน" ผืนที่เป็นปลายด้ามขวานจะถูกบิแบะแยกออกแล้วยกย้ายไปตั้งไว้ต่างหากที่อื่นตรงไหน มันก็ยังจะติดตั้งอยู่ที่เก่านั่นแหละ เพียงแต่ตกอยู่ใต้สังกัดและการปกครองของอำนาจรัฐใหม่ ซึ่งมิใช่อำนาจรัฐไทย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สิ่งที่ผู้ก่อการคิดจะเปลี่ยนและแยกมิใช่ "ดินแดน" เท่ากับ "อำนาจรัฐ" (STATE POWER) พวกเขาต้องการรัฐที่จะพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ของพวกเขา (A PROTECTIVE STATE), เป็นตัวแทนของพวกเขา, เป็นรัฐแห่งชาติปัตตานี-มลายู-มุสลิมของเขาเอง (THEIR OWN NATIONAL STATE)
ข้อเรียกร้องและเป้าหมาย "แยกดินแดน" จึงสะท้อนสิ่งที่ไม่มีหรือพวกผู้ก่อการรู้สึกว่าตัวหาไม่พบใน [รัฐไทย - ชาติไทย - และเศรษฐกิจทุนนิยมไทย] ปัจจุบัน กล่าวคือ: -

พวกเขาเรียกร้องรัฐใหม่ของตัวเองก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าตนไม่ได้รับการพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ด้วยความเสมอภาคและยุติธรรมจากรัฐไทย ตำรวจไทย ทหารไทย เจ้าหน้าที่ราชการไทย และรัฐบาลไทย

พวกเขาคิดฝันถึงชุมชนแห่งชาติของตัวเองบนผืนแผ่นดินของรัฐปัตตานีในอดีต ที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมของชาวมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าชาติไทยและความเป็นไทยของทางราชการไม่ได้ถูกจินตนากรรมมาให้เปิดกว้างและเป็นกลางทางภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์และศาสนามากพอที่จะต้อนรับนับรวมความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาของคนอย่างเขาให้เข้ามาร่วมรวมเป็นหนึ่งอย่างเสมอภาคและเคารพซึ่งกันและกันท่ามกลางความหลาก หลายของชุมชนชาติไทยอย่างแท้จริง

พวกเขาพากันข้ามพรมแดนไปทำงานในมาเลเซียเป็นหมื่น ๆ ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าเศรษฐกิจทุนนิยมฟากไทยได้รุกล้ำฉวยใช้ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแห่งชุมชนท้องถิ่นของเขา บีบคั้นกดดันให้พวกเขาจำต้องเปลี่ยนหนทางทำมาหากินและวิถีชีวิตอย่างเสียเปรียบและจนตรอก กระทั่งพวกเขาไม่สามารถดำรงชีวิตเศรษฐกิจที่มั่นคง พอเพียง ยั่งยืนและรักษาวิถีขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีทางเลือกได้

ฉะนั้น ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกันปฏิรูปรัฐไทย - ปฏิรูปชาติไทย - และปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมไทยทั้งโดยทั่วไปและโดยเฉพาะในชายแดนภาคใต้ให้บำบัดบรรเทาความเดือดร้อนและตอบ สนองข้อเรียกร้องที่ถูกต้องชอบธรรมดังกล่าวข้างต้นของพวกเขาในฐานะเพื่อนพี่น้องพลเมืองร่วมประเทศที่ไม่เหมือนกันแต่เท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ก็ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่ใครจะต้อง "แยกดินแดน" และก่อการร้ายฆ่าฟันกันเพื่อสิ่งนั้นอีก

พูดให้ถึงที่สุด ปัญหาก่อการร้าย "แยกดินแดน" ชายแดนภาคใต้จึงเกิดจากจุดอ่อน ข้อบก พร่องและความไม่เป็นธรรมของรัฐไทย, ชาติไทยและเศรษฐกิจทุนนิยมไทยดังที่เป็นมาและเป็นอยู่ ฉะนั้นมันจะแก้ไขได้ก็แต่โดยการปฏิรูปรัฐไทย - ชาติไทย - เศรษฐกิจทุนนิยมไทยครั้งใหญ่เท่านั้น

ที่น่าคิดยิ่งคือข้อเรียกร้องปฏิรูปเหล่านี้ก็สอดคล้องกับผลประโยชน์โดยทั่วไปของประชา-ชนไทยทุกเชื้อชาติศาสนาและเป็นความต้องการขององค์กรชาวบ้านหลายกลุ่มหลายฝ่ายในขบวนการเมืองภาคประชาชนทั่วประเทศด้วย, การผลักดันเปลี่ยนแปลงแนวทาง "แยกดินแดน" ให้กลายเป็นแนวทาง "ปฏิรูปรัฐไทย-ชาติไทย-ทุนนิยมไทยครั้งใหญ่" จะเป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายสงครามกลางเมืองและการก่อการร้ายให้กลายเป็น -> การต่อสู้ผลักดันทางการเมืองอย่างสันติวิธี, เปลี่ยนขบวนการทำลายคนอื่นและทำลายตัวเองของชนกลุ่มน้อยให้กลายเป็น -> ขบวนการสมานฉันท์สร้างสรรค์ร่วมกันของผู้คนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ, และเปลี่ยนสภาวะจุดอับ ZERO-SUM GAME ที่ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายต้องเสีย ให้กลายเป็น -> WIN-WIN SITUATION สำหรับทุกฝ่าย

เอาชนะการก่อการร้ายด้วยการรุกทางการเมือง
การรุกทางการเมืองด้วยการปฏิรูปชายแดนภาคใต้เพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจและปกป้องคุ้มครองสิทธิระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนส่วนมากกับชนส่วนน้อยด้วย กันเอง จึงเป็นกุญแจหัวใจที่จะเอาชนะการก่อการร้ายแยกดินแดนภาคใต้ด้วยการเมือง เพราะไม่มีการต่อต้านรัฐด้วยกำลังอาวุธของมวลชนแห่งใดในโลกที่ถูกพิชิตได้ด้วยการทหารล้วน ๆ มีแต่ต้องเอาชนะกันด้วยการเมืองทั้งนั้น

นอกจากนั้น การเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองท้องถิ่นของชายแดนภาคใต้ยังเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับกระบวนการเรียกร้องสิทธิทำนองเดียวกันของชุมชนทุกชาติพันธุ์ทุกท้องถิ่นทั่วประเทศด้วย เพราะรัฐที่นิยมอำนาจรวมศูนย์แบบ CEO เป็นปัญหาของคนไทยทุกพื้นที่ในการพัฒนาด้วยการเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรและรวบอำนาจตัดสินใจของคนในพื้นที่, ในกรณีชายแดนภาคใต้ ลักษณะ เฉพาะและสิทธิทางวัฒนธรรมเป็นมิติที่เพิ่มเติมเข้ามาซึ่งควรคำนึงแบบครอบคลุมทั้งคนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่และชนส่วนน้อยชาวไทยพุทธในพื้นที่ด้วย

วิพากษ์ขบวนการก่อการร้ายและคำถามเรื่องอำนาจปกครองตนเองท้องถิ่น
กระบวนการเสวนาสาธารณะในสังคมการเมืองไทยเพื่อการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ควรต้องทำควบคู่กันไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการก่อการร้าย

พูดอย่างตรงไปตรงมา ขบวนการก่อการร้ายเป็นองค์การกึ่งรัฐ (QUASI STATE) ที่ใช้ความรุนแรงประหัตประหารและข่มขู่คุกคามผู้เห็นต่าง, คนที่ถูกถือเป็นพวกอื่นและผู้บริสุทธิ์เยี่ยงศาลเตี้ย เลือกปฏิบัติและเลือกฆ่าคนบนพื้นฐานศาสนา-ชาติพันธุ์ อันนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ผลกระทบรุนแรงร้ายกาจของมันในสายตาและความรู้สึกของผู้ตกเป็นเหยื่อและญาติมิตรย่อมไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะประสบกับการก่อการร้ายโดยขบวนการในนาม "เพื่อการปลดปล่อย" และ "ญิฮาด" , หรือประสบกับการก่อการร้ายโดยรัฐภายใต้ข้ออ้าง "เพื่อปราบโจร"

แล้วอำนาจรัฐประเภทใดเล่าที่ขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนในนามศาสนามุ่งจะสถาปนาขึ้นมา? มันจะเป็นรัฐเทวาธิปไตย (THEOCRATIC STATE) ที่ยึดศรัทธาศาสนาหนึ่งเป็นที่ตั้ง หรือรัฐโลกวิสัย (SECULAR STATE) ที่ถือหลักเป็นกลางและเปิดกว้างทางศาสนา? เส้นแบ่งระหว่างรัฐกับศาสนาจะมีหรือไม่? และอยู่ตรงไหน? ในเมื่อพูดให้ถึงที่สุด ขึ้นชื่อว่ารัฐแล้วย่อมเป็นเรื่องของการบังคับขับไส (COERCION) ในขณะที่กิจทางศาสนาโดยแก่นแท้แล้วเป็นเรื่องของใจสมัคร (VOLITION)

ในอีกแง่หนึ่ง การปฏิรูปการเมืองชายแดนภาคใต้เพื่อการปกครองตนเองของท้องถิ่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้นอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีหลักประกันว่าอำนาจปกครองเสียงข้างมากของชาวมลายูมุสลิมในท้องถิ่นที่จะสร้างขึ้น (MAJORITY RULE) จะเคารพสิทธิของชนส่วนน้อยชาวไทยพุทธ (MINORITY RIGHTS), อำนาจนั้นจะไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานศาสนา-ชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม ไม่ทำซ้ำความผิดพลาดที่รัฐชาตินิยมคับแคบของไทยเคยทำต่อคนมลายูมุสลิมและชนเชื้อชาติศาสนาส่วนน้อยอื่น ๆ, เป็นองค์กรปกครองโลกวิสัยที่จะไม่ยัดเยียดข้อปฏิบัติพิเศษเฉพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่งต่อประชากรนานาศาสนิกทั้งหมด

เกษียร เตชะพีระ*
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net