Skip to main content
sharethis

หากมองถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะปี 2544 - 2547 จะพบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ได้ในระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น ภายใต้กรอบการบริหารเศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual Track) ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวมดีขึ้น และแม้ปัญหาสังคมหลายประการได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ขณะเดียวกันปัญหาสังคมก็มีความซับซ้อนและมีปัญหาใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่ปัญหาสภาพแวดล้อมและทรัพยากร
ธรรมชาติที่ลดความรุนแรง แต่ก็ยังไม่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

และด้วยเหตุผลสำคัญที่การพัฒนากำลังจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่เศรษฐกิจไทยจะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถเผชิญกับสภาวะแวดล้อมใหม่ และสามารถพัฒนาได้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา มีการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถเผชิญกับความผันผวนของกระแสโลก มีการเจริญเติบโตที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชน และมีการกระจายผลประโยชน์ให้กับประชาชนในระดับฐานรากได้ดีขึ้น

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับทราบและพิจารณาเห็นชอบข้อเสนอกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปี (2548 - 2551) ของสำนักงานคณะกรรม
การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา และให้ความเห็นชอบกรอบการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดของกรอบแผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยแผนงานและเป้าหมายในระยะ 4 ปี ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2548 โดยเป้าหมายสำคัญคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมตามกรอบยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด ให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปีข้างหน้า ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้การดำเนินการแบ่งเป็นยุทธศาสตร์ 6 ด้านเพื่อการบริหารยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิผล ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมเชิงรุก 2. ยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่าภาคการเกษตรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 3.ยุทธศาสตร์การขยายฐานภาคบริการ 4. ยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่าภาคอุตสาห
กรรมและการค้าระหว่างประเทศ 5.ยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการต่างประเทศ 6.ยุทธศาสตร์การปรับปรุงประสิทธิภาพภาครัฐ

กลุ่มล้านนา 8 จังหวัดปรับโครงสร้างใหม่
มุ่งเพิ่มทุนทางสังคม-สร้างฐานศก.ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 - 22 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ ได้จัดสัมมนาการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือกลุ่มจังหวัดล้านนา ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐของกลุ่มจังหวัดล้านนา 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

นายสุรพันธ์ จุ่นพิจารณ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อ1.ชี้แจงทำความเข้าใจกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปี (2548 - 2551) แก่กลุ่มจังหวัด 2.สนับสนุนให้กลุ่มจังหวัดปรับยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามโอกาส ศักยภาพ และการแก้ปัญหาของกลุ่มจังหวัด 3.สนับสนุนให้กลุ่มจังหวัดดำเนินกระบวนการต่อเนื่องจัดทำแผนการลงทุนและโครงการที่มีลำดับความสำคัญสูง ตามกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ หลักการพื้นฐานของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมนั้น จะยึดพื้นฐาน 4 ด้านคือ ฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง, เพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยฐานความรู้, เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค, และเน้นนโยบายสังคมเชิงรุก

จากการระดมความคิดเห็นของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในช่วง 3 วัน ทำให้ได้ร่างกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดล้านนาใหม่ ที่ยังคงยึดพื้นฐานกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดเดิมไว้เหมือนเดิม แต่ได้เพิ่มเติมและให้น้ำหนักความสำคัญประเด็นทางสังคมมากขึ้นตามกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปี ที่มุ่งให้ความสำคัญในประเด็นทางสังคมมากขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาคือ ประตูทองการค้าสู่โลก โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา สังคมน่าอยู่ทุกถิ่นที่

โดยได้กำหนดแผนงานโครงการที่กลุ่มจังหวัดล้านนาจะขับเคลื่อนไปด้วยกันใน 4 กรอบหลักคือ 1.ทุนทางสังคม 2. ภาคการเกษตร 3.เศรษฐกิจการค้า และศูนย์กลางบริการ-สุขภาพ

สำหรับแผนงานโครงการด้านสังคมประกอบด้วย 1.โครงการเสริมสร้างทุนทางสังคมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่น โครงการสถาบันล้านนาศึกษาเพื่อการพัฒนา, โครงการ Social Capital Mapping 2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและกระบวนการประชาสังคม 3.โครงการจัดทำแผนชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง 4.โครงการพัฒนาเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ส่วนแผนงานโครงการด้านการเกษตร ได้แก่ โครงการลำไยปลอดภัยสู่ตลาดโลก, โครงการพัฒนาข้าวอินทรีย์สู่ตลาดโลก, โครงการเร่งรัดระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ, โครงการเกษตรปลอดภัยของกลุ่มจังหวัด, โครงการพัฒนาคุณภาพข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในกลุ่มจังหวัด, โครงการศูนย์ตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปชุมชน

แผนงานโครงการด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการค้าในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS), โครงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเครือข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมกลุ่มจังหวัดล้านนา (Lanna Knowledge Center), โครงการพัฒนาหัตถอุตสาหกรรมล้านนาสู่ตลาดโลก, โครงการลงทุนด้านลอจิสติกในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน, โครงการอนุรักษ์ส่งเสริมสืบสานการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยว, โครงการจัดทำแผนการใช้ที่ดินและทำผังเมืองกลุ่มล้านนา, โครงการจัดทำศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจและการลงทุนกลุ่มจังหวัด, โครงการศึกษาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยเครื่องบินขนาดเล็กในกลุ่มจังหวัด

แผนงานโครงการด้านสุขภาพ ได้แก่ โครงการพัฒนาสมุนไพรล้านนาครบวงจร, โครงการพัฒนา "ล้านนาสปา" เพื่อสุขภาพครบวงจร, โครงการพัฒนาธุรกิจบริการทางการแพทย์-สปาเพื่อสุขภาพ และโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจบริการสุขภาพ

หลังจากได้ผลการระดมความเห็นครั้งนี้แล้ว แนวทางการดำเนินการขั้นต่อไปคือการจัดทำแผน
ปฏิบัติการ (Action Plan) ทั้งในส่วนแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ และการทำ Road Map รายปี จากนั้นจะไปสู่ขั้นตอนการจัดทำแผนลงทุน (Investment Plan) การจัดทำงบประมาณที่จำเป็นสำหรับดำเนินการตามแผนปฏิบัติการรายปี และการจัดทำรายละเอียดแผนงานโครงการที่มีความสำคัญสูง เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ โดยหลังจากนี้จะสัญจรไปจัดสัมมนาในลักษณะเดียวกันนี้ในกลุ่มภาคเหนือตอนล่างที่จังหวัดพิษณุโลกและนครสวรรค์ เพื่อให้ได้กรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด ดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนเดือนเมษายน เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นลำดับต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net