Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 21 มี.ค.48 "วันนี้คุณยังแก้ปัญหาแม่เมาะไม่ได้เลย แล้วคุณจะทำให้ชาวบ้านที่เวียงแหงเขาเชื่อใจได้อย่างไรว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาที่เวียงแหงนั้นจะสามารถแก้ได้" นายวสันต์ พานิช อนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับโครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหง

โครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหง จ. เชียงใหม่ มีเป้าหมายเปิดพื้นที่เหมืองเพื่อนำแร่ลิกไนต์ไปป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ. ลำปาง ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม. ในรัฐบาลที่แล้ว และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตพยายามเข้าไปศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไม่ยินยอม กรรมการสิทธิฯ จึงได้เสนอให้ กฟผ. ชะลอการทำอีไอเอ เพื่อรอระเบียบว่าด้วยการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ทว่า ภายหลังการเจรจากับกรรมการสิทธิฯ กฟผ. ก็ได้ทำสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ทำอีไอเอ ด้วยงบประมาณ 17 ล้านบาท

"เมื่อบอกให้รอระเบียบใหม่เพื่อรอการมีส่วนร่วมของประชาชนจะได้ไม่ต้องมีความขัดแย้ง แต่เมื่อเขาไม่ฟัง เขาเดินหน้าของเขาไป วันนี้ประชาชนก็ปฏิเสธไม่ให้เข้า พอไปจัดเวทีวันที่ 11 (มีนาคม) ประชาชนเกือบ 3,000 คนก็มีข้อเสนอมายื่นให้กรรมการสิทธิ เขาไม่ได้ปฏิเสธแค่อีไอเอแล้ว เขาปฏิเสธทั้งโครงการเลย" นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิฯ กล่าวเสริม

นายวสันต์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่กรรมการสิทธิฯ เสนอสำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้งกรณีเหมืองลิกไนต์เวียงแหงคือ ที่เราเสนอคือ ให้รอระเบียบรอระเบียบว่าด้วยการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังจะออกมาใหม่

"เพราะวันนี้แม่เมาะก็ยังมีถ่านหินอยู่จำนวนมาก และเหมืองเวียงแหงก็ยังไม่ได้เปิดกระบวนการ เพราะฉะนั้น ควรทำกระบวนการการมีส่วนร่วมให้ครบถ้วน เพื่อสรุปบทเรียนจากแม่เมาะ"

ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ อนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรและแร่ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า จริง ๆ แล้วการออกแบบทางเทคโนโลยีของการทำเหมืองไม่ใช่คำตอบของการที่จะป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ เพราะเทคโนโลยีของไทยยังไปไม่ถึง

ทั้งนี้ นายศศินได้ยกตัวอย่างกรณีค้นพบสุสานหอยขมที่เหมืองแม่เมาะ จ. ลำปาง ว่าเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่าเทคโนโลยีของไทยยังไม่สามารถรักษาสภาพแวดล้อมและชุมชนได้จริง

"การค้นพบชั้นหอยขมอายุมากที่สุดในโลกแต่ไม่สามารถรักษาไว้ได้ ก็จะเป็นกรณีเดียวกับที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะที่เวียงแหง หรือที่สะบ้าย้อย บทพิสูจน์ของการเจอซากหอยบอกกับเราว่า ความรู้ของเรามีไม่ถึงระดับที่จะรักษาไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน" นายศศินกล่าวในที่สุด

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net