Skip to main content
sharethis

น้ำตกห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ภาพจาก Tourthai.com
====================

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค พลเมืองเหนือ-ประชาไท

น้ำตกห้วยแก้ว สัญลักษณ์ความสำเร็จแรกของการบูรณาการการทำงานแบบซีอีโอยุคโกสินทร์ เกษทอง เป็นผู้ว่าฯ ที่รับบัญชาจากนายกทักษิณ ชินวัตรเมื่อกันยายน 2545 ให้น้ำห้วยแก้วกลับมาไหลชุ่มเย็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเชียงใหม่เหมือนยามวัยเยาว์ของท่านให้ได้

และก็สำเร็จเมื่อสำรวจพบการต่อท่อน้ำไปใช้โดยชาวบ้านและหน่วยงานราชการทั่วทั้งดอย บัญชาครั้งนี้เกิดการตัดท่อทิ้งทั้งหมด ให้น้ำธรรมชาติได้ไหลมาตามธรรมชาติ ด้วยงบประมาณ 40 ล้านบาท

วันที่นายกรัฐมนตรีมาเปิดน้ำตกห้วยแก้วโฉมใหม่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ห้วยแก้วไหลซ่าน่ารื่นรมย์

แต่แล้งนี้ ชะตากรรมของน้ำตกห้วยแก้ว ในเดือนมีนาคม 2548 ใกล้เข้าสู่วิกฤตเต็มทนแล้ว และแนวทางที่ภาคราชการกำลังจะทำคือ ผันน้ำจากลำน้ำห้วยผาลาดมาเสริมเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวผิดหวัง

----------------------

ในการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2548 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เรียกหน่วย งานที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้า เพื่อที่ช่วงเย็นจะได้นำเรียนเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโอกาสมาราชการที่จังหวัดเชียงใหม่พอดี เรื่องของน้ำตกห้วยแก้วไม่ได้อยู่ในวาระ แต่ผู้ว่าฯ ได้สอบถามจากตัวแทนของสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 16 เอง เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรายงาน

นายสุรพจน์ กาญจนสิงห์ ผู้จัดการส่วนต้นน้ำ ในฐานะผู้แทนเข้าประชุมชี้แจงว่า จากการตรวจ
สอบสภาพน้ำตกห้วยแก้วล่าสุดโดยรองอธิบดีกรมอุทยานพบว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งต่อเนื่อง ปัจจุบันแม้น้ำตกห้วยแก้วยังคงมีสภาพเป็นน้ำตกให้เห็นแต่มีน้ำไหลเพียง 6 ลิตรต่อวินาที ซึ่งหากต่ำกว่านี้ถือว่า วิกฤต โดยการแก้ไขเบื้องต้นมีแนวทางว่าจะพยายามผันน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียงมาเสริม แต่โอกาสของการผันลำน้ำช่างเคี่ยนคงเป็นไปได้ยาก เพราะมีผู้ใช้น้ำจากลุ่มน้ำช่างเคี่ยน
ตอนล่างจำนวนมาก ซึ่งอีกหนทางหนึ่งคือการนำน้ำจากห้วยผาลาดที่ปัจจุบันไม่มีผู้ใช้น้ำแล้ว แต่ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย โดยการอาจสร้างฝายขนาดเล็กเพื่อกักน้ำและผันน้ำในระบบท่อมาปล่อยเพิ่มเติมมายังน้ำตกห้วยแก้ว เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวที่จะมาเยี่ยมชมในเดือนเมษายนนี้ผิดหวัง

นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งหวังของนายกรัฐมนตรีที่อยากจะคืนชีวิตน้ำตกห้วยแก้วให้ชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว แต่ปัญหาคือ มีผู้ใช้น้ำจนทำให้ปริมาณน้ำน้อยกว่าธรรมชาติแต่เดิมที่เคยมี อยู่ระหว่างที่จะต้องแก้ไขโดยกรมอุทยาน ซึ่งอาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม

แต่ที่สำคัญคือ จะต้องแบ่งใช้น้ำจากต้นน้ำที่ประชาชนใช้อยู่อย่างไรไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนและยังคงมีน้ำตกไหลให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของเชียงใหม่

ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่จะเรียกประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการใช้น้ำในลำน้ำห้วยแก้วทั้งหมดมาหารือโดยด่วน และจะต้องตรวจสอบว่ายังคงมีการลักลอบต่อท่อผันน้ำจากน้ำตกห้วยแก้วไปใช้โดยใครอยู่อีกหรือไม่ โดยอาจจะต้องให้เกิดการมีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจจากทุกฝ่ายด้วย

วิธีการเบื้องต้นของภาคราชการที่เลือกจะใช้วิธีผันน้ำจากลำน้ำข้างเคียงมาเสริมน้ำตกห้วยแก้ว สะท้อนภาพการมองทรัพยากรน้ำแบบแยกส่วนเหมือนเดิม

ซึ่งการแห้งขอดของน้ำตกห้วยแก้วในขณะนี้ ก็มิใช่ปรากฏการณ์พิเศษ น้ำตกทั่วประเทศของเมือง
ไทยกำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน

ต้นสัปดาห์เดียวกัน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ปัญหาการจัดการน้ำระหว่างรัฐและประชาชนมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การจัดการปัญหาน้ำ จะมองน้ำเพียงโดดๆ มิได้

"ผมขึ้นไปดูน้ำตกที่เขาใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มันแห้งขอดทั้งๆ ที่ไม่เคยแห้งมาก่อน ถ้าเรามองเพียงน้ำตกแห้ง ก็จะเข้าใจว่าฝนน้อย อันที่จริงไม่ใช่ ปัญหาใหญ่คือ พื้นที่รอบเขาใหญ่มีการใช้น้ำมากเกินไป โดยเฉพาะน้ำบาดาล หากมีการใช้กิจกรรมจากน้ำมากเกินไป น้ำผิวดินก็ลดลง ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาต่อเชื่อมกันกับการจัดการทรัพยากรดินและป่าไม้ หากมองเพียงจะจัดการน้ำ ไม่มีทางจัดการสำเร็จได้ ต้องมองทั้งระบบนิเวศ"

นายประพัฒน์ ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาของลุ่มน้ำแม่จาง อันเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำวัง จังหวัดลำปาง ที่ไม่กลัวภัยแล้ง เพราะชาวบ้านขึ้นไปทำฝายน้ำล้นนับพันแห่งทำให้สามารถเก็บน้ำเป็นจุดๆ โดยไม่ไหลทิ้งเปล่าประโยชน์ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านดำเนินการเอง ไม่ว่าจะแล้งขนาดไหน ก็จะมีน้ำค่อยๆ ไหล ไม่มีการทิ้งอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยไม่ต้องนั่งรอเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพื้นที่อื่นช่วยกันทำฝาย ปลูกป่า เพื่อซับน้ำก็จะมีระยะเวลาต่อสู้กับภัยแล้งได้ยาวนานขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net