Skip to main content
sharethis

ในสภาวการณ์ทางการเมืองไทยที่พรรคการเมืองใหญ่สามารถคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ถึงจำนวน 377 เสียง และจัดตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ ส่งผลให้กลไกการตรวจสอบฝ่ายบริหารและกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะในระบบของรัฐสภามีข้อจำกัดอย่างมาก ขณะที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาและกลไกในระบบที่เป็นทางการอื่นๆ ถูกแทรกแซงหรือไม่ก็อยู่ในสภาพอ่อนแอ ภาวะเช่นนี้มีแนวโน้มที่ประชาธิปไตยจะถูกเบี่ยงเบนไปสู่ระบบอำนาจนิยม โดยรัฐบาลพรรคเดียวมักอ้างว่า ตนได้รับฉันทานุมัติมาจากประชาชนเสียงข้างมากแล้ว และตีกรอบ
นโยบายแก้ไขความยากจนผ่านนโยบายประชานิยมต่างๆ

วิธีคิด กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการนำนโยบายไปปฏิบัติเช่นนี้ จึงขาดการมีส่วนร่วม ขาดการตรวจสอบ และขาดการให้พื้นที่ทางสังคมแก่คนจน ด้อยโอกาส ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาที่ไม่อยู่ในกรอบนโยบายแบบประชานิยมของรัฐบาล

ดังนั้น ในภาวะที่กลไกการตรวจสอบนอกพื้นที่การเมืองปรกติและกลไกนอกรัฐสภามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง สมัชชาคนจนและเครือข่ายพันธมิตรจึงเห็นร่วมกันในการสถาปนา "คณะกรรมาธิการภาคประชาชนตรวจสอบนโยบายความยากจนและสังคม" เพื่อเป็นกลไกของภาคประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาลและมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะหนุนเสริมให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้น

โดย "คณะกรรมาธิการภาคประชาชนตรวจสอบนโยบายความยากจนและสังคม" ที่จัดตั้งขึ้น มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อตรวจสอบให้รัฐบาลดำเนินการบริหารประเทศให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการบริหารปกครองประเทศ
2. เพื่อเป็นกลไกในการติดตาม ตรวจสอบ นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อความยากจน
3. เพื่อเป็นกลไกในการระดมความเห็น ข้อมูล และปัญหาจากฝ่ายต่างๆ ที่มีต่อนโยบายด้านสังคมและความยากจนของรัฐบาล รวมทั้งนำเสนอนโยบายทางเลือกและเสนอความเห็นต่อสังคม

บทบาท หน้าที่ และแนวทางในการทำงานของคณะกรรมาธิการคือ
-ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิจัย ติดตามนโยบายรัฐบาล บนฐานประสบการณ์ปัญหาของคนจนและสังคม
-จัดเวทีนำเสนอผลการติดตามนโยบายด้านสังคมและความยากจน โดยกำหนดอย่างเป็นวาระที่แน่นอน
-จัดเวทีสาธารณะเพื่อรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และสร้างนโยบายทางเลือก

องค์ประกอบของคณะกรรมาธิการประกอบด้วย
ที่ปรึกษา ได้แก่ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ.บัณฑร อ่อนดำ อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม
คณะกรรมการฯ
1.ตัวแทนพ่อครัวใหญ่ 7 เครือข่าย
2.สถาบันวิชาการและนักวิชาการ
-ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-วิทยาลัยวันศุกร์
-มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
-ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฎโคราช
-เครือข่ายนักวิชาการเพื่อคนจน
ฯลฯ
3.นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
4.ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
5.ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
6.ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน

คณะกรรมาธิการภาคประชาชนตรวจสอบนโยบายความยากจน จะเป็นกระบวนการที่ให้หลักประกันว่า พี่น้องคนจนจะมีช่องทางและกลไกเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองที่สร้างสรรค์ ไม่มีวาระซ่อนเร้น

สุดท้ายนี้ เราเชื่อมั่นว่า 4 ปี จะหายจน ถ้าประชาชนร่วมตรวจสอบและมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายด้านความยากจนและสังคมของรัฐบาล

ประชาชนต้องกำหนดอนาคตเอง
สมัชชาคนจน
15 มีนาคม 2548
หน้ารัฐสภา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net