Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 4 มี.ค. 2548 -- "จากนี้ไป คณะนิติก็จะจบบทบาทในเรื่องนี้ เพราะเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่โดยส่วนตัวผมขอร้องให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 8 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้" นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชนกล่าว ภายหลังทราบว่า พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)ประชุมครม. ได้ผ่านขั้นตอนลงพระปรมาภิไธยแล้ว

ทั้งนี้ ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดเสวนาเรื่อง "พระราชกฤษฎีกาประชุม ครมฯ : เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรืออำนาจ ?" ขึ้นในวันนี้โดยเชิญนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้ร่าง พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าวมาร่วมเสวนาด้วย

สำหรับข้อวิตกกังวลของอาจารย์คณะนิติศาสตร์นั้น มุ่งไปที่มาตรา 7 และมาตรา 8 ซึ่งมาตรา 7 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการมอบอำนาจครม. ให้แก่นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบหรือมีคำสั่งแทนครม. ได้ และ มาตรา 8 ซึ่งกำหนดองค์ประชุมครม. เพียง 1 ใน 3 ของจำนวนครม. ทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งที่ตามจารีตที่เคยปฏิบัติมา ครม. จะเปิดประชุมได้ ต้องมีจำนวนรมต. เกินกึ่งหนึ่ง

โดยนายวรเจตน์ได้จำแนกประเด็นที่สนับสนุนว่าการตรา พ.ร.ฎ. การประชุมครม. ในมาตรา 8 ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายใน 4 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.ฎ. มากำหนดระเบียบปฏิบัติของ ครม. ไม่น่าจะทำได้ เพราะพ.ร.ฎ. มีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารธน.

ประเด็นที่ 2 การกำหนดองค์ประชุมครม. ตามมาตรา 8 โดยพ.ร.ฎ. ไม่น่าจะทำได้ เพราะธรรมเนียมปฏิบัติเดิมเกี่ยวกับการประชุมครม. มีศักดิ์ทางกฎหมายเทียบเท่าพระราชบัญญัติ แต่พ.ร.ฎ. มีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่าและบัญญัติต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติแต่เดิม

ประเด็นต่อมาที่นายวรเจตน์แสดงความวิตกกังวลคือ มาตรา 8 วรรค 2 ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อออกมติครม. ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศหรือกรณีฉุกเฉิน ซึ่งล้อไปกับหลักการตราพระราชกำหนดอันเป็นกฎหมายที่ไม่ต้องผ่านรัฐสภา เท่ากับว่า นายกกับรมต. เพียง 2 คนสามารถออกมติครม. ซึ่งจะกลายเป็นพระราชกำหนดได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการประชุมครม.

และประเด็นสุดท้าย คือการมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเพียงคนเดียวอนุมัติ เห็นชอบหรือสั่งการแทนรัฐมนตรีทั้งคณะซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 7

ด้านนายเอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตไปในทางเดียวกับนายวรเจตน์ โดยกล่าวว่า มาตรา 8 ของพ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าว ทำลายความเป็นองค์กรกลุ่มของคณะรัฐมนตรี

"การลดจำนวนองค์ประชุมคณะรัฐมนตรีหมายถึงความรวดเร็ว แต่ความรวดเร็วกับประสิทธิภาพมันควบคู่กันเสนอไปหรือไม่"

อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ปฏิเสธทุกข้อสังเกตเกี่ยวกับพ.ร.ฎ. ดังกล่าว พร้อมตอบโต้ว่า อาจารย์สายนิติศาสตร์ไม่รู้ข้อเท็จจริงทางบริหาร และมีความหวาดระแวงมากเกินไปอีกทั้งตีความกฎหมายเพียงอาศัยลายลักษณ์อักษร ซึ่งในความเป็นจริง คนที่จะเอากฎหมายไปใช้อย่างผิดเจตนารมณ์เช่นนั้นได้ก็ต้องเป็นนักกฎหมายแบบศรีธนญชัยเท่านั้น

นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ได้ต่อว่าผู้ร่วมเสวนาว่า ทำให้ตนเองกลายเป็นปีศาจ มีไว้วางใจกัน พร้อมทั้งบอกให้ผู้ดำเนินรายการจบการเสวนาเนื่องจากประเด็นการเสวนาวกวนอยู่กับที่พร้อมทั้งลาที่ประชุมเพื่อเดินทางกลับ ขณะที่นายเอกบุญกำลังเสนอให้แก้ข้อกฎหมายที่เป็นปัญหา

ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมเข้าฟังเสวนาคนหนึ่งลุกขึ้นตะโกนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าว ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาอีกคน ก็พยายามตั้งคำถามต่อนายบวรศักดิ์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ พร้อม ๆกันกับที่ผู้ฟังอีกหลายคนพากันลุกออกจากห้องเสวนา ทำให้การเสวนาในวันนี้จบลงด้วยความวุ่นวาย

การเสวนาเรื่อง พระราชกฤษฎีกาประชุม ครม. : เพื่อเพิมประสิทธิภาพหรือเพื่อเพิ่มอำนาจ?" จัดขึ้นที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณะบดีคณะนิติศาสต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติสาสตร์ มหวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.ดร. เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดำเนินรายการโดย อ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net