Skip to main content
sharethis

โรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ตั้งอยู่ใจกลางของจังหวัดยะลา ห่างจากตัวเมืองยะลา 30 กิโลเมตร ถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีระดับของการพัฒนาสูงที่สุดในจังหวัดยะลา มีการจัดบริการด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมมุสลิมได้อย่างลงตัว ดูแลประชากรจำนวน 16 ตำบล 82 หมู่บ้าน รวมประชากรประมาณ 82,000 คน เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางสวนผลไม้ มีสถานีอนามัยในพื้นที่จำนวน 16 แห่ง ณ.เดือนกุมภาพันธ์ 2548 โรงพยาบาลรามันมีบุคลากรทั้งสิ้น 212 คน เป็นแพทย์ 6 คน ทันตแพทย์ 2 คน เภสัชกร 4 คน และพยาบาล 71 คน
นพ.รอซาลี ปัตยบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน ได้นำเสนอบทเรียนที่เป็นประสบการณ์ตรงหลายกรณีที่น่าสนใจของโรงพยาบาลรามันต่อกรณีความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดย นพ.รอซาลีเล่าว่า

จากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอรามันเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และถี่ขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมีความเครียดมาก จากเหตุการณ์ภายนอกที่รายรอบโรงพยาบาล

ดังนั้นสิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่ต้องทำในสถานการณ์ความไม่สงบที่มีการลอบทำร้ายลอบยิงหรือวางระเบิดรายวันก็คือ การดูแลขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งมีความสำคัญมาก เป็นประเด็นชี้ขาดของคุณภาพงานในองค์กรในสถานการณ์วิกฤต โดยทางโรงพยาบาลรามันได้ค่อยๆเก็บตกประเด็นด้านความปลอดภัยและขวัญกำลังใจมาตลอด

อีกทั้งความเครียดจากงานภายในโรงพยาบาลก็มีมากขึ้น เนื่องจากภาระงานของโรงพยาบาลในทุกจุดบริการเพิ่มมากขึ้น จากที่สถานีอนามัยต้องปิดบ่อยครั้ง อีกทั้งผู้ป่วยก็ไม่กล้าที่จะไปใช้บริการที่คลินิกในช่วงเย็นหรือค่ำ ทำให้มีคนไข้มารับบริการที่โรงพยาบาลในตอนกลางวันมากขึ้น

สำหรับเรื่องเจ้าหน้าที่ขอย้าย มีอยู่ทุกที่ ที่อำเภอรามันนั้นก็มีมาก เนื่องจาก ภาระงานที่เพิ่มขึ้นมากทำให้ย้ายออกมากขึ้น สถานการณ์การเงินของโรงพยาบาล ย่ำแย่มากขึ้น ที่ผ่านมาเงินถูกใช้ไปในการพัฒนาคุณภาพมาก และหยุดการพัฒนาไม่ได้ เนื่องจากถ้าหยุดจะทำให้เจ้าหน้าที่ล้าและเรียกพลังกลับคืนมาได้ยากมาก โจทย์ที่สำคัญก็คือ จะรักษาระบบคุณภาพให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างไรในท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่บั่นทอนจิตใจในการทำงานลงไปทุกวัน

จากเหตุการณ์ต่างๆรายวันและการแก้ปัญหาแบบที่เป็นอยู่นั้น สถานการณ์จะไม่มีวันสิ้นสุด ความไม่สงบจะเกิดไปเรี่อยๆ และทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นในโรงพยาบาลจึงมีมาตรการรองรับเหตุการณ์ความไม่สงบ เสริมความปลอดภัยในโรงพยาบาลให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ กล่าวคือ

มีการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และให้มีการทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยทางโรงพยาบาลได้ติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิด และผู้ใดพบกับเหตุการณ์สำคัญ ต้องนำมาทบทวนระบบ พิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน และนำไปสู่การวางระบบที่สมบูรณ์กว่าเดิม ใช้ข้อมูลจากบันทึกเหตุการณ์ของเวรตรวจการนอกเวลาราชการเพื่อทราบสถานการณ์ นอกเหนือจากรายงานตรวจการพยาบาล รวมทั้งจัดให้มีบันทึกรายงานการตรวจรอบ ๆ ของโรงพยาบาล และมีระบบการรายงานเหตุการณ์ที่สำคัญแก่ผู้เกี่ยวข้อง

มีการเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและรอบ ๆโรงพยาบาล อีกทั้งยังมีระบบข้อเสนอแนะของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ในทุก ๆส่วน เพื่อช่วยเติมเต็มมาตรการต่างๆ และนอกจากนั้นก็มีข้อเสนอแนะจากผู้นำท้องถิ่น ผู้นำทางศาสนา ซึ่งสำคัญมากและเป็นประโยชน์มาก

การปรับปรุงด้านกายภาพเพื่อความปลอดภัย อันได้แก่ การปรับพื้นที่ให้รั้วรอบโรงพยาบาลนั้นโล่ง สามารถมองเห็นง่าย สะดวกต่อการดูแล การจัดระบบทางเข้าออกจากเข้าออกสองทางให้เหลือเพียงประตูเดียว

กำหนดเขตพื้นที่เฉพาะที่ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น เขตบ้านพัก อาคารบริหารของโรงพยาบาล มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดสำคัญของโรงพยาบาล ซึ่งมีประโยชน์มาก ในเบื้องต้นพบว่า ปัญหารถมอเตอร์ไซด์หายไม่พบอีกเลยหลังติดกล้องวงจรปิดมีการติดตั้งแสงสว่างให้เพียงพอในทุกจุดของโรงพยาบาล แม้ในพื้นที่รอบนอกอาคาร เรียกได้ว่า "สว่างไสวทั่วทั้งโรงพยาบาล "

ปรับปรุงระบบโทรศัพท์ให้มีประสิทธิภาพ เดิมโรงพยาบาลใช้ระบบโทรศัพท์ผ่านตู้สาขา ซึ่งไม่คล่องตัวในสถานการณ์แบบนี้ เนื่องจากเสียเวลาในการต่อหมายเลขภายในและเสียบ่อย จึงมีการเพิ่มหมายเลขโทรศัพท์สายนอกเพิ่มเติมให้สามารถต่อตรงโดยไม่เข้าระบบตู้สาขาด้วย

เพิ่มระบบตู้สาขาโทรศัพท์อีก 24 จุด เพื่อติดตั้งสำหรับติดต่อโดยตรงกับบ้านพักเจ้าหน้าที่ แฟลตพยาบาล ทุกห้อง ทุกหลัง

ได้ติดตั้งวิทยุสื่อสารประจำรถยนต์ทุกคัน ปรับปรุงระบบแม่ข่ายและเสาอากาศวิทยุสื่อสาร ยอมลงทุน จัดซื้อวิทยุสื่อสารภายในเพิ่มแก่หน่วยงานสำคัญ เช่น ยาม ศูนย์เปล พนักงานขับรถ ห้องฉุกเฉิน ตึกผู้ป่วยใน จัดให้มีแม้กระทั่งขวาน ชะแลง ในรถฉุกเฉิน Ambulance ของโรงพยาบาล

ด้านการเตรียมบุคลากรและการปรับระบบงานของโรงพยาบาล เช่น มีการฝึกอบรมการป้องกันตัว การใช้อาวุธปืน ให้กับยามทุกคนจัดให้มีบริการรถรับ-ส่ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ระหว่างตัวเมืองยะลาและรามัน และทุกกรณีที่มีการทำงานให้กับทางราชการ ซึ่งช่วยลดความหวั่นวิตกขณะเดินทางได้มาก

คนขึ้นเวรบ่ายไม่อนุญาตให้กลับบ้านหลังลงเวร ต้องให้พักที่โรงพยาบาล ไม่ให้กลับเองโดยพลการ ยามจะไม่อนุญาตให้ออกนอกโรงพยาบาล หากมีกิจธุระจำเป็น จะให้รถโรงพยาบาล ไปส่งถึงบ้านจัดให้มียามดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชม. โดยเพิ่มกำลังคนของเวรยาม จาก 3 คนเป็น 7คน หมุนเวียนปฏิบัติงานเวรละ 2 คน

กำหนดจุดอันตรายในโรงพยาบาล 4 จุด เพื่อให้มีการเฝ้าระวังดูแล และตรวจการณ์อย่างรอบคอบ การจัดระบบรับบัตร เข้า - ออก โรงพยาบาลสำหรับรถทุกคันที่ผ่านเข้ามาในโรงพยาบาล

มีการสรุปเหตุการณ์ประจำวันต่อผู้บังคับ มีระบบเวรตรวจการนอกเวลาราชการ

เพิ่มเจ้าหน้าที่เวรเปลในเวรบ่าย เพื่อให้มีอัตรากำลังผู้ชาย ณ จุดบริเวณให้บริการของห้องเวชระเบียน และห้องฉุกเฉิน เพราะในอดีตมักมีแต่เจ้าหน้าที่ผู้หญิงในจุดนี้

เลื่อนเวลาทำงานของโรงพยาบาลจาก 8.00 -16.00 น. เป็น 8.30-16.00 น. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเดินทางมาแต่เช้า ซึ่งหวั่นไหวต่อความปลอดภัยมากกว่าในช่วงสาย

ประสานตำรวจ ทหารในพื้นที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และเส้นทางการคมนาคมในจุดเสี่ยงหากมีความจำเป็น

มีการเตรียมสำรองอาหารในโรงครัวให้เพียงพอแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่สำหรับ 2-3 วัน

การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่โรงพยาบาลในระยะยาว โดยพยายามไม่ไปสร้างให้เกิดเงื่อนไขหรือความไม่พอใจของชุมชนต่องานบริการของโรงพยาบาล เมื่อชุมชนศรัทธาและเห็นว่าโรงพยาบาลรามันเป็นหน่วยงานที่พวกเขาต้องช่วยกันปกป้อง และช่วยดูแลเจ้าหน้าที่ทุกคนแล้ว เมื่อนั้นความอุ่นใจในการทำงานจะตามมาในที่สุด ดังนั้นโรงพยาบาลรามันจึงจัดให้มีการสร้างความตระหนักแก่เจ้าหน้าที่ทุกคนให้มีจิตบริการ ( service mind ) ที่เต็มใจให้บริการดุจญาติมิตร ทุกจุดบริการต้องให้บริการอย่างมีคุณภาพมาตรฐานด้วยรอยยิ้ม ทุกคนต้องช่วยกันสร้างศรัทธาให้กับชุมชน

การจัดบริการของโรงพยาบาลให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิม ซึ่งทางโรงพยาบาลรามันได้ให้ความสำคัญในการปรับระบบบริการในลักษณะนี้มาก่อนที่จะมีสถานการณ์แล้ว จัด exit nurse หรือพยาบาลประชาสัมพันธ์ ดูแลผู้รับบริการในโรงพยาบาล ให้ทั่วถึง คอยดูแลปัญหาของผู้รับบริการ โดยยึดหลักการที่ว่า " ปัญหาทุกปัญหาต้องทิ้งไว้ในโรงพยาบาล อย่าให้เอากลับไปที่บ้าน " เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ต้องสร้างและบริการให้เกิดความประทับใจ ให้กับผู้รับบริการทั้ง 82,000 คน

โรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา นับเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีการจัดระบบการเตรียมความพร้อมในการป้องกันความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด แต่นั่นหมายความว่า ต้นทุนของการวางระบบและเตรียมความพร้อมนั้นก็มีต้นทุนที่สูงมาก ไม่เฉพาะงบลงทุนในครั้งแรกเท่านั้น แต่รวมถึงงบประมาณในการบำรุงรักษาระบบในระยะยาวด้วย ไม่ว่าการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่เป็นยาม เวรเปลหรือ exit nurse ค่าไฟฟ้าที่สว่างไสว ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการส่งเจ้าหน้าที่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบสื่อสาร กล้องวงจรปิด รั้ว หรือการปรับปรุงภูมิสถาปัตย์เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ใช้งบประมาณของโรงพยาบาลเองเป็นส่วนมาก

ดังนั้นควรที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ลงมาศึกษาเพื่อสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมแก่โรงพยาบาลต่างๆใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น เพราะงบดำเนินการของโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ควรเป็นภาระของโรงพยาบาลนั้นๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งโรงพยาบาลขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่ขาดแคลนเงินบำรุง หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางอย่างเป็นระบบแล้ว ก็ยากที่จะสามารถจัดระบบความพร้อมในการป้องกันความเสี่ยงต่อสถานการณ์ความไม่สงบในลักษณะเดียวกับโรงพยาบาลรามันได้

นพ.รอซาลี ปัตยบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net