Skip to main content
sharethis

อุดรธานี- 17 ก.พ.48 เวลา 14.00 น. วันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบกรณีเหมืองแร่โปแตช ณ ห้องประจักษ์ศิลปาคม ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี โดยมีนายจารึก ปริญญาพล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเป็นประธานในที่ประชุม

"ที่ประชุมในวันนี้สรุปก็คือ ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาเนื่องจากว่าเรื่องโปแตชเป็นเรื่องใหม่ต่อความเข้าใจของคนอุดร เมื่อความเข้าใจไม่ตรงกันจึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา ทั้งนี้คณะทำงานจะต้องมาจากทุกฝ่ายทำหน้าที่หาข้อมูลทั้งหมดเท่าที่หามาได้ เพื่อเผยแพร่ให้พี่น้องประชาชนทราบ

ส่วนเรื่องขั้นตอนการอนุญาตประทานบัตรนั้น ให้คณะกรรมการทำหนังสือไปยัง สผ. เพื่อให้ยกเลิกรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม( EIA) ฉบับเดิม ที่บริษัทฯ ทำไปแล้วและกำลังเป็นปัญหาอยู่เสียก่อน เมื่อยกเลิกแล้วต้องประกาศให้ประชาชนรับทราบ ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังรอคำตอบที่ชัดเจนจาก สผ. ก็ให้ระงับการรังวัดไปก่อน เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่" นายจารึกกล่าว

ในกรณีความขัดแย้งในพื้นที่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ที่ประชุมมีข้อสรุปให้ตั้งคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่รวบรวม ศึกษาข้อมูลทั้งหมดของโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โดยใช้ข้อมูลจากคณะทำงานชุดเดิม ประกอบกับข้อมูลของทางบริษัทฯ รวมถึงการขอข้อมูลจากส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางกรอบการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างรอบด้าน อาทิ

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม โดยใช้งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการดำเนินการดังกล่าว และแถลงความคืบหน้าในการดำเนินการเป็นระยะ เพื่อให้คนในจังหวัดอุดรธานีได้รู้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

นายเฉลิมพล สนิทวงศ์ชัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ในเรื่องการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชนั้น ทุกคนต่างมีจิตใจที่รักชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งทางด้านกลุ่มสนับสนุนหรือกลุ่มคัดค้านเองก็ตาม ซึ่งหากว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ก็น่าจะสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีมาตรการในการดูแลเรื่องผลกระทบให้พี่น้องประชาชนมีความเชื่อมั่น ในส่วนของคณะอนุกรรมการที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ โดยที่ประ ชุมเสนอให้ใช้งบของ อบจ. เพื่อติดตามการดำเนินโครงการ เห็นว่ามีความเป็นไปได้และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ แต่ต้องช่วยกันใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาผลกระทบทั้งในข้อดีและข้อเสียจากโครงการเหมืองโปแตชให้มีความชัดเจน เพราะที่ผ่านมา คนอุดรฯ ได้รับรู้ข้อมูลไม่เพียง พอ ไม่ทั่วถึง อีกทั้งตอนนี้ยังไม่มีใครรู้มากกว่าใครในเรื่องเหมืองแร่โปแตช

ดังนั้น คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการหรือไม่ต่อไป ส่วนในประเด็นการรังวัดที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ ทั้งที่ EIA ยังมีปัญหา จนนำไปสู่ประเด็นความขัดแย้ง ซึ่งในที่ประชุมได้เสนอให้คณะกรรมการทำเรื่องถึง สผ. ให้ยกเลิกของเดิม เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาใหม่ และเมื่อรอให้ EIA มีความชัดเจนแล้วถึงมีการรังวัดชาวบ้านก็คงไม่มีปัญหาอะไร

นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า "เมื่อตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาแล้ว ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการรังวัดด้วย เพราะเป็นประเด็นที่ยังคั่งค้าง และทำให้เกิดความขัดแย้งอยู่ในขณะนี้ โดยในระหว่างที่คณะอนุกรรมการกำลังทำการศึกษาติดตามโครงการเหมืองแร่โปแตช ก็ควรให้ยุติการรังวัดในพื้นที่เอาไว้ก่อนดังที่ท่านผู้ว่าฯ ได้สรุปในที่ประชุม เพราะหากยังมีการรังวัด ก็จะทำให้มีความขัดแย้งในพื้นที่ ในขณะที่คณะกรรมการทำการศึกษา แล้วมันจะได้อะไร ดังนั้นหวังว่าจากการประชุมวันนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจและการปฏิบัติร่วมกันของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รังวัดกับบริษัทเอพีพีซี

ส่วนบรรยากาศในการประชุม มีการโต้เถียงกันค่อนข้างรุนแรงระหว่างตัวแทนของกลุ่มที่คัดค้านและกลุ่มที่สนับสนุนโครงการ ในกรณีที่บริษัทฯ ละเมิดข้อตกลงโดยเข้าไปทำการรังวัดปักหมุดในพื้นที่ทั้งที่ได้มีการตกลงกันก่อนหน้านี้ว่าจะระงับการดำเนินการในพื้นที่จนกว่าจะได้ข้อยุติจากคณะกรรมการชุดนี้ก่อน จนเป็นเหตุให้เกือบเกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านและคนงานของบริษัทเอพีพีซี เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่วนบรรยากาศนอกห้องประชุม บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ได้มีการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านทั้งสองฝ่าย โดยกลุ่มที่คัดค้านโครงการฯ จำนวนกว่า 500 คน ได้เดินรณรงค์เพื่อให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับคนเมือง ก่อนมารอให้กำลังใจตัวแทนชาวบ้านที่เป็นกรรมการเข้าร่วมประชุมที่บริเวณหน้าศาลากลาง จนถึงเวลาประชุมแล้วเสร็จและได้ข้อยุติดังกล่าวเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.

สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net