Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้-16 ก.พ.48 สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงส่งผลสะเทือนไม่หยุดหย่อน การติดตามจับกุมกลุ่มคนผู้ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้การ ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะบุคคลในระดับที่คนของรัฐเชื่อว่า เป็นผู้บงการ

ล่าสุด "พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์" อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกมาเปิดเผยว่า ก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548 นี้ จะออกหมายจับนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีก 2 ราย บอกใบ้อักษรย่อให้ได้นำกลับไปคาดเดากันได้

หนึ่งนั้นชื่อย่อ "ล." ส่วนอีกหนึ่งชื่อย่อ "อ."

"ล." เป็นเจ้าของโรงโม่หินแห่งหนึ่ง คนของรัฐเคยตรวจสอบพบพฤติกรรมกักตุนระเบิดไดนาไมต์ เชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบในจังหวัดยะลาและปัตตานี มีชื่ออยู่ในบัญชีดำผู้ก่อความไม่สงบ และค้าอาวุธสงคราม

หากพลิกแฟ้มประวัติ จะพบนักการเมืองที่ทำธุรกิจโรงโม่หินในพื้นที่ คือ "นายอับดุลลาเต๊ะ ยากัด" ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 67 ซึ่งมีอดีตเป็น "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา" เจ้าโรงโม่หินเจริญทิพย์การโยธา หมู่ 1 ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา

โรงโม่หินแห่งนี้ เคยถูกทหารจาก "กองทัพภาคที่ 4" บุกเข้าตรวจค้น เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2547 ที่ผ่านมา พบระเบิดไดนาไมต์ 53 แท่ง เชื้อปะทุอีก 28 ดอก

ข้อน่าสังเกตเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ "นายอับดุลลาเต๊ะ ยากัด" เคยอยู่ในคณะทำงานของ "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" แกนนำกลุ่มวาดะห์มาก่อน

ทว่า ต้องมาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" เมื่อ "นายอับดุลลาเต๊ะ ยากัด" ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา" แข่งกับ "นายอับดุลอาซิส เบ็ญหาวัน" นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา คนปัจจุบัน ที่มี "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" ให้การสนับสนุน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ "นายอับดุลลาเต๊ะ ยากัด" จะเบนหัวเรือมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา ในเขตเลือกตั้งที่ 2 แข่งกับ "นายไพศาล ยิ่งสมาน" จากพรรคความหวังใหม่ ในคราวเลือกตั้งปี 2544

ส่วน "อ." นั้น เป็นเจ้าของโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปัตตานี

คนของรัฐเชื่อว่า "อ." เกี่ยวข้องกับคนร้ายที่ขว้างระเบิดเพลิง ในตัวเมืองปัตตานี เมื่อปี 2547 และกรณีตำรวจ 2 นายถูกวัยรุ่นประกบยิง แต่ถูกตำรวจยิงสวนเสียชีวิตทั้ง 2 คน

ประเด็นที่ได้รับความสนใจจากคนของรัฐ ก็คือ ทั้ง 2 เป็นนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งข้อมูลทางการข่าวระบุว่า เป็นแหล่งซ่องสุมฝึกอาวุธให้กับเยาวชน

พร้อมๆ กับมีการใบ้ผ่านสื่อว่า เจ้าของโรงเรียนที่ชื่อ "อ." คนนี้ เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก
สภาผู้แทนราษฏรจังหวัดปัตตานี

พลันที่มีอักษรย่อ พร้อมบอกใบ้ลักษณะเฉพาะออกมาอย่างนี้ สายตาของคนในพื้นที่ จึงจ้องจับไปยัง "นายอิสมาแอล ยีดอรอแม" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ แทบจะทันที

"นายอิสมาแอล ยีดอรอแม" เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ชื่อ "โรงเรียนแสงประทีปวิทยา" ตั้งอยู่ที่ตำบลปุโล๊ะปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี บริเวณหลังสนามบินบ่อทอง ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก ห่างจากค่ายอิงคยุทธบริหาร 6 กิโลเมตร

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เคยเกิดเหตุคนร้ายยิงครูเสียชิวิต บริเวณหน้าโรงเรียนแห่งนี้มาแล้ว

"นายอิสมาแอล ยีดอรอแม" นอกจากจะเคยเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีแล้ว ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง "กรรมการค่ายอิงคยุทธบริหาร" ด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อยู่ตรงภรรยาของ "นายอิสมาแอล ยีดอรอแม" ที่ชื่อ "นางรอกีเยาะห์ ยีดอรอแม" ซึ่งเป็นหลานสาวของ "หะยีอามีน โต๊ะมีนา" อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดน จนต้องหลบลี้หนีหน้าไปเสียชีวิตที่ประเทศมาเลเซีย
เมื่อเป็นหลานเขยของ "หะยีอามีน โต๊ะมีนา" จึงพลอยมีฐานะเป็นหลานเขยของ "นายเด่น โต๊ะมีนา" สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี ผู้เป็นน้องชายของ "หะยีอามีน โต๊ะมีนา" ไปโดยปริยาย

อันเป็นคนแห่งตระกูล "โต๊ะมีนา" ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตั้งแต่ผู้เป็นบิดานาม "หะยีสุหลง โต๊ะมีนา" สืบเนื่องมาจนถึงบุตรชายคนโต ต่อด้วย "หะยีอามีน โต๊ะมีนา"

กระทั่ง "นายเด่น โต๊ะมีนา" เอง ซึ่งเติบโตมาจากร่มเงาบ้านพักภายใต้การอุปการะของ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" อดีตนายกรัฐมนตรีนักชาตินิยม ก็ปรากฏเป็นข่าวว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เป็นระยะ

ล่าสุด เมื่อปี 2547 ก็ถูกพาดพิงจาก "นายอนุพงษ์ พันธชยางกูร" กำนันตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ในช่วงที่กำนันผู้นี้กล่าวหา "นายนัจมุดดีน อูมา" อดีตผู้แทนจังหวัดนราธิวาส กับ "นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย แห่ง "กลุ่มวาดะห์"

"นายอิสมาแอล ยีดอรอแม" เคยเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี ในสังกัดพรรคความหวังใหม่มาแล้ว เมื่อปี 2544

ทว่า คราวนั้นถูก "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" แกนนำกลุ่มวาดะห์ปฏิเสธ

"นายอิสมาแอล ยีดอรอแม" จึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งในสีเสื้อ "พรรคราษฎร" พ่ายแพ้ "พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอล เจ๊ะโมง" จากพรรคประชาธิปัตย์ไม่กี่คะแนน

ก่อนวันสมัครลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคราวนี้ เพียง 2 วัน มีเสียงกระซิบจาก "ค่ายอิงคยุทธบริหาร" ว่า จะถูกจับกุมฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

จนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งไม่กี่วัน ก็มีข่าวนักการเมืองชื่อย่อ "ล." และ "อ." จะถูกออกหมายจับในคดีก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังกระหึ่มเมือง

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net