Skip to main content
sharethis

กิตติคุณ กิตติอร่าม , Red Constantino*
----------------------------------------------------
ย่ำรุ่งของวันใหม่ เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความหวังเต็มเปี่ยมหลังจากรอคอยมานาน ชั่วโมงแรกของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ จะกลายเป็นวันประวัติศาสตร์ที่พิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นพิธีสารว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศโลก มีผลบังคับใช้เป็นวันแรก

พิธีสารเกียวโต ซึ่งตั้งตามชื่อเมืองๆ หนึ่งของญี่ปุ่น จะกลายเป็นข้อตกลงที่ระบุการผูกมัดตามกฎหมายในระดับโลก เมื่อถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ พิธีสารฉบับนี้จะบังคับให้โลกเรา โดยเริ่มจากประเทศพัฒนาแล้ว เร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อป้องกันอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

พิธีสารนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่จำเป็นในการปกป้องสภาพภูมิอากาศ การบังคับใช้พิธีสารนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ และอีกนัยหนึ่งก็เตือนเราว่า ยังมีงานหนักอีกมากที่รออยู่ข้างหน้า พิธีสารนี้เรียกร้องให้ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะแรกให้ได้ระดับเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่ำกว่าระดับการปล่อยก๊าซดังกล่าวของปี พ.ศ.2533

แม้กระนั้นก็ตาม โลกของเราก็จำเป็นต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึงร้อยละ 75 ภายในปี 2593 เพื่อป้องกันความเสียหายต่อภูมิอากาศที่ไม่สามารถหวนคืนกลับได้

วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ถือว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสภาพแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่น่าตกใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีสาเหตุหลักมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน และถ่านหิน เป็นจำนวนมหาศาลของบรรดาประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ แต่ผลกระทบในลักษณะของการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบหนักที่สุดกับประเทศกำลังพัฒนา

จากที่เคยหารือกันว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในโลกจริงหรือไม่ ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ไม่คุยเรื่องนี้อีกต่อไปแล้ว แต่พวกเขากำลังถกเถียงกันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงแค่ไหนหากไม่มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนในระดับโลก

ประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่าทศวรรษที่ 1990 เป็นทศวรรษที่มีอากาศร้อนมากที่สุด1 การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากในเวลาอันใกล้นี้ ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตคนกว่า 30,000 คน ในยุโรปเมื่อปี 2546 อาจจะเกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้

นักวิทยาศาสตร์ คาดการณ์ว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง หรือ พายุ มีความรุนแรงมากขึ้น2 จากข้อมูลของบริษัทประกันภัยชั้นนำระดับโลก เช่น Munich Re พบว่า ภายในเวลา 10 ปี ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอาจมีค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

การที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้ธารน้ำแข็งมากถึงร้อยละ 64 ในประเทศจีนละลายหายไปภายในปี 2593 และทำให้ประชากรจีนมากถึงร้อยละ 25 ของทั้งหมดในประเทศที่พึ่งพาอาศัยน้ำจากธารน้ำแข็งเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส

กลุ่ม British Antarctic Survey เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ว่า แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ บริเวณตะวันตกของแอนตาร์กติก อาจจะกำลังละลายหายไป และเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ หากเกิดขึ้นจริงก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 16 ฟุต3 และผลกระทบนี้จะเห็นได้ชัดในประเทศที่มีแนวชายฝั่งของประเทศที่ไม่ต่อเนื่องกัน เช่น ฟิลิปปินส์4 นอกจากนี้ยังอาจมีผลกระทบอื่นๆ เกิดตามมาอีก เช่น ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และ การระบาดของโรคเขตร้อน เช่น มาลาเรีย ที่เกิดจากยุงซึ่งเติบโตได้ดีในอากาศร้อน

เราต่างก็รู้ดีถึงสาเหตุว่ามาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน และ ถ่านหิน ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวนมหาศาลเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่ทำให้ภูมิอากาศแปรปรวน และเราต่างก็รู้ดีว่าสิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่โชคไม่ดีที่วิธีการหรือสิ่งที่จะนำหนทางแก้ไขปัญหามาสู่เรานั้นไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และ ธนาคารโลก ยังคงเป็นสองตัวการใหญ่ในการปล่อยอากาศร้อนเข้าสู่บรรยากาศโลก แม้ว่าจะมีวาทะใหม่ๆ มากมาย เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกมาจากทั้งสององค์กรทุกๆ ปีก็ตาม แต่จนถึงทุกวันนี้ ทั้งสององค์กรยังคงมีส่วนอย่างมากในการให้ทุนสนับสนุนโครงการพลังงานสกปรกหลายโครงการ

แรงสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งของประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นส่วนสำคัญต่อการพิจารณาสาระและทำให้พิธีสารเกียวโตเป็นรูปเป็นร่างขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม นโยบายพลังงานของไทยทุกวันนี้กลับมีลักษณะที่เสื่อมลงไปเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพิธีสารเกียวโต โดยมุ่งแต่จะสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชนต่างๆ ทั้งที่ชาวบ้านในชุมชนต่างยืนกรานปฎิเสธพลังงานสกปรก และเรียกร้องให้มีการใช้พลังงานสะอาดทดแทน

องค์กรร่วมแห่งยุโรปว่าด้วยเรื่องพลังงานหมุนเวียน เผยว่า หากรัฐบาลดำเนินนโยบายสนับสนุนที่ถูกต้อง พลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม, พลังงานความร้อนใต้พิภพ, พลังงานน้ำ, พลังงานชีวมวลสมัยใหม่ และ พลังงานแสงอาทิตย์ จะสามารถผลิตพลังงานให้โลกได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี 2583

นักเศรษฐศาสตร์พลังงานกล่าวว่า พลังงานหมุนเวียน มีราคาแพงเกินไป และ เราไม่มีทุนมากพอที่จะพัฒนามาใช้ แต่ความเป็นจริงก็คือ เราไม่มีทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากพอที่จะเลือกไม่พัฒนามันมาใช้5

พิธีสารเกียวโต จะมีผลบังคับใช้แม้ว่าจะมีกระแสความพยายามคัดค้านอย่างต่อเนื่องที่จะลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีสารโดยกลุ่มรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยอย่าง สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย

ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนให้เราระลึกว่า ความสามัคคีกันจะนำมาซึ่งความสำเร็จ และ ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือ ประเทศไหน มีพลเมืองหนาแน่น จะทรงอิทธิพล หรือ อ่อนแอเพียงใด พวกเราต่างมีบทบาทสำคัญในการนำพาโลกของเราให้พ้นจากเส้นทางมรณะที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ท้ายสุด ดังคำกล่าวที่ว่า หากเปรียบโลกของเราคือ เครื่องบินขนาดใหญ่ที่กำลังจะตก มันก็คงไม่สำคัญว่าคุณจะนั่งอยู่ในที่นั่งชั้นหนึ่งหรือไม่ การต่อสู้เพื่อช่วงชิงที่นั่งนักบินกลับมาจากพวกสลัดอากาศที่จี้เครื่องบินนั้นต่างหาก เป็นสิ่งสำคัญประการแรก ที่เราพึงกระทำ

---------------------------------------------
* กิตติคุณ กิตติอร่าม และ Red Constantino เป็นนักรณรงค์ด้านพลังงานประจำประเทศไทย และภูมิภาคของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนี้ Red อยู่ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการชุมนุมของมวลชนจากทั่วโลกที่จัดโดยสหประชาชาติ เพื่อเป็นสักขีพยานที่พิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ในที่สุด

-----------------------------------------------------
บรรณานุกรม
1. "Global Warming" กรีนพีซสากล 17 กันยายน 2547 http://www.greenpeace.org/international_en/features/details?item%5fid=583710
2. ผลการศึกษาในประเด็นนี้ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วโดย Journal of climate อ้างอิงได้ที่ www.gfdl.noaa.gov/reference/bibliography/2004/tk0401.pdf หรือ "Global warming is expected to raise Hurricane Intensity" , Andrew Revkin , The New York Times , 30 กันยายน 2547
3. "Global warming : scientists reveal timetable" , Michael McCarthy , The Independent-UK, 3 กุมภาพันธ์ 2548
4. "Responding to the challenges of the Rising sea" , Rosa Perez , Disturbing Climate ,ed. Jose T. Villarin SJ, Manila Observatory, Ateneo de Manila University Campus, Quezon City. ด้วยข้อมูลใหม่ หลายคนจึงเชื่อว่า IPCC อาจจะประเมินการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่ำเกินไป ดูที่ New Scientist ,19 กุมภาพันธ์ 2545
5. "How to Blow away China" s pollution" , Gloria Chang, South China Morning Post, 18 กันยายน 2547

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net