Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - "ถ้าหากรัฐให้ความใส่ใจดูแลพวกเราอย่างจริงจัง ชุมชนของเราคงไม่บอบช้ำมากเช่นนี้" คมสันต์ แซ่เติ๋น ชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน บอกกับผมด้วยน้ำเสียงหดหู่

นับจากรัฐได้ใช้อำนาจทางกฎหมาย ทำการอพยพโยกย้ายชาวบ้าน ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขา ชนเผ่าเมี่ยน ลีซู ลั๊วะ และคนพื้นเมือง จำนวนกว่า 1,000 คน ออกจากป่า ลงมาอยู่ในพื้นที่ราบ บริเวณบ้านวังใหม่ ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงขณะนี้ ชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่าเมี่ยน ลีซู ลั๊วะ และคนพื้นเมือง ต่างต้องเจอกับอุปสรรคปัญหามากมายที่ถาโถมเข้ามาสู่วิถีชีวิต จนกลายเป็นบทเรียนสำคัญให้กับกระบวนการของรัฐ ที่ใช้หลักนิติศาสตร์มากกว่าหลักรัฐศาสตร์และมนุษยธรรม จนทำให้ชีวิตต้องแตกดับ ชุมชนย่อยยับล่มสลาย

10 ปีของการโยกย้าย ท่ามกลางวิถีที่เปลี่ยนแปลง
จากรายงานวิจัยร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน,ศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, ศูนย์ประสานงานองค์กรพัฒนาชาวไทยภูเขา และตัวแทนชาวบ้าน พบว่า เมื่อทางการอพยพชาวบ้านมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ โดยจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ครอบครัวละ 10 ไร่ และพื้นที่ทำกินครอบครัวละ 5 ไร่

ทว่าสิ่งที่ทุกคนมุ่งหวังกลับพบกับความสิ้นหวัง เมื่อพบว่า พื้นที่ที่ทางรัฐจัดสรรให้นั้น เป็นพื้นที่ป่าแพะ ป่าแล้ง ป่าเต็งรัง ผืนดินมีแต่ดินปนหิน รวมทั้งแหล่งน้ำอยู่ไกล ไม่สามารถทำการเพาะ ปลูกพืชผักพืชไร่ได้เลย ยิ่งยามหน้าแล้ง อากาศร้อนอบอ้าว และข้าวไร่ที่สะสมกักตุนเอาไว้เริ่มร่อยหรอ ทำให้ทุกคนเริ่มรู้ชะตากรรมแล้วว่า ความมั่นคงของชีวิตเริ่มขาดแคลน และเงินได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เมื่อทุกคนต้องออกหางาน เพื่อแลกกับเงิน เพื่อทดแทนกับการซื้อข้าว ซื้อพืชผัก มาจุนเจือครอบครัวให้มีชีวิตอยู่รอด

"มันเปลี่ยนไปหมด ไม่เหมือนอย่างที่รัฐเคยรับปากเอาไว้เลย และเพียงไม่ถึง 2 ปี ทุกคนเริ่มรู้แล้วว่าปัญหามันเริ่มเรื้อรังมากขึ้น" เขาบอกเล่าให้ฟัง

การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชาวบ้านกลุ่มนี้ จึงเริ่มปรากฏให้เห็น เพียงปีแรกๆ ชาวบ้านชนเผ่าลีซู 24 ครอบครัว กลุ่มชนลั๊วะ 12 ครอบครัว ชนเผ่าเมี่ยนอีก 6 ครอบครัว ได้ตัดสินใจเดินทางออกไปทำงานรับจ้างในเมือง

"ส่วนใหญ่ ชาวบ้านจะออกไปทำงานในเมือง แถวเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง จะขายอาหารตามสั่ง บางคนขายปลาหมึกย่าง ขายน้ำเต้าหู้ น้ำเต้าฮวย ก๋วยเตี๋ยว และบางคนที่ไม่มีทุนเลย ก็จะไปเป็นเด็กเสริฟตามร้านอาหารต่างๆ" คมสันต์ เล่าให้ฟัง

ที่สำคัญ บางกลุ่มที่ออกไปทำงานรับจ้างในเมือง ทั้งที่รู้ๆ ว่ายังไม่มีสัญชาติ ไม่มีสถานภาพทางกฎหมายใดๆ รองรับ จนต้องถูกจับกุม ในข้อหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก

อีกกว่า 20 คน ถึงกับยอมเสี่ยงชีวิต ลงทุนขายที่ดิน กู้เงินจากนายทุนในอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ไปเป็นกรรมกรในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง

ชุมชนล่มสลาย ผู้คนแตกกระจาย
"อยู่บนดอย ไม่มีเงิน ก็มีกิน แค่เดินเข้าไปในป่า ก็สามารถเก็บผักเก็บมากินได้ เพราะว่าในป่านั้นเหมือนเป็นตลาดสด แต่ลงมาอยู่ที่นี่ไม่มีอะไรสักอย่าง ต้องใช้เงินซื้อกินอาหารทั้งสามมื้อ เราไม่ได้โทษพวกเขา ที่ต้องไปทำงานอาชีพอย่างว่า...แต่เราโทษรัฐที่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องเผชิญตามยถากรรม" เขาเอ่ยกับผม

อาชีพอย่างว่า...ที่เขาเล่าให้ฟัง นั่นหมายถึง อาชีพโสเภณี!

เพียง 2 ปี หลังการโยกย้าย มีรายงานจากศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดลำปาง ระบุว่า มีหญิงสาวลีซู จำนวน 19 คน ออกไปขายบริการทางเพศในเขตพื้นที่ กรุงเทพฯ สงขลา หาดใหญ่ สุไหงโกลก และประเทศมาเลเซีย ทั้งโดยความสมัครใจและถูกหลอกลวง

ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ทุกคนในหมู่บ้านแห่งนี้ กลับต้องเจอปัญหาที่รุมเร้าหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อหญิงสาวกลุ่มนี้ได้หวนกลับคืนมาสู่หมู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง และเธอได้นำพาเชื้อเอดส์มาพร้อมกับความป่วยไข้และล้มเหลวในชีวิต

จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ติดเชื้อ HIV และเสียชีวิตไปแล้วทั้งหมด 14 ราย และยังมีผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่เปิดเผยตัวเองอีกจำนวนหนึ่งในหมู่บ้าน

ยาเสพติด คุก และการจองจำ
บางครั้ง ชีวิตคนเราเมื่อหมดสิ้นหนทาง ภาวะการเอารอดของจึงต้องทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับกฎหมาย จึงไม่แปลกนัก ที่ชาวบ้านบางกลุ่มจำต้องหันมาเสพยาเพื่อระบายความอัดอั้นที่ต้องทนทุกข์ในชะตากรรมที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อ

หากรัฐยังคงเพิกเฉย ไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ทว่ากลับจ้องจับผิด กล่าวหาและจับกุมชาวบ้าน ซึ่งรายงานวิจัยระบุว่า การเสี่ยงที่จะเดินทางผิด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชุมชนที่นี่อีกต่อไป เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี หลังการถูกอพยพโยกย้ายมาอยู่ หมู่บ้านแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งที่พักยาเสพติดแหล่งใหม่ของอำเภอวังเหนือ

ทั้งที่ก่อนนั้น ชุมชนกลุ่มนี้ที่เคยอยู่ในป่าบนดอย ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยเช่นนี้มาก่อนเลย ความรุนแรงเริ่มขึ้นจากการมีผู้ค้ารายย่อย ผู้เสพ ตั้งแต่ระดับวัยรุ่นชายหญิง คนวัยทำงาน จนถึงผู้สูงอายุบางคน การซื้อง่ายขายคล่องของยาบ้าในหมู่บ้าน ทำให้เกิดรูปแบบการขายที่เรียกกันว่า
"การเดินต่อยอด" หมายถึง การที่ตนเองเป็นผู้รับเงินไปซื้อ และได้ส่วนแบ่งเป็นยาบ้าจำนวน 1-2 เม็ด

การเดินต่อยอดเช่นนี้ ได้กลายเป็นช่องทางของเด็กที่ครอบครัวที่มีฐานะยากจน ครอบครัวที่พ่อแม่ต้องออกไปหางานทำในเมือง ครอบครัวที่พ่อแม่ติดคุกไม่มีใครดูแล จำต้องดิ้นรนหารายได้มาเลี้ยงตัวเองและน้องๆ

และเมื่อพิจารณาถึงสถิติของผู้เคยถูกจำคุก ทั้งข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง เสพและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ มีทั้งหมดถึง 52 ราย ส่วนใหญ่จะถูกตัดสินให้จำคุกตั้งแต่ 2 เดือน จนถึง 15 ปี บางรายติดคุกซ้ำซากอยู่ถึง 5-6 ครั้ง

"แม้กระทั่งขณะนี้ ยังอยู่ในคุกอีกจำนวน 15 ราย และที่น่าสงสารมากที่สุดก็คือ ตอนนี้ในหมู่บ้านยังมีเด็กอีกประมาณ 15 คน ที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ ที่พ่อแม่มีปัญหาต้องถูกติดคุก และบางคนพ่อแม่ติดเชื้อเอดส์ บางคนหย่าร้าง บางคนพ่อแม่เสียชีวิต ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้ ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า และต้องเผชิญกับปัญหากันตามลำพัง" คมสันต์ กล่าวออกมาด้วยความรู้สึกที่เจ็บปวด

10 ปีแห่งการถูกอพยพให้ออกจากป่า โดยนโยบายของรัฐ ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนชนเผ่ากลุ่มนี้อย่างหนัก แม้กระทั่งขณะนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและชอบธรรม จนหลายคนที่ได้ลงไปสัมผัสพบเห็น ต้องพูดออกมาอย่างหดหู่ว่า บางครั้งมันยิ่งกว่าการถูกจองจำในคุกเสียอีก

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net