Skip to main content
sharethis

ศิริ อัคคะอัคร รองผู้อำนวยการ สำนักงานโครงการ สสค.
เชิดศักดิ์ วีระพัฒน์ ผู้จัดการสำนักงานโครงการ สสค.
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2546
------------------------------------------------------------------

ตามที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้ลงบทความเรื่อง "ไนท์ซาฟารี" ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2546 หน้า 6 นั้น สำนักงานโครงการเพื่อศึกษาวางแผนและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสวนสัตว์กลางคืน จังหวัดเชียงใหม่ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว(สสค.) ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงานโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้พิจารณาบทความดังกล่าวแล้ว พบว่ามีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และมีการแสดงความคิดเห็นที่เกิดจากการขาดความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก อันจะสร้างความสับสนและการเข้าใจผิดให้แก่ผู้อ่านได้

ดังนั้นสำนักงานโครงการ สสค. จึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นประเด็นๆ ดังนี้ 1. ที่เขียนว่า "ผู้คิดสร้างไนท์ซาฟารี ไม่รู้จักทั้งเชียงใหม่และการท่องเที่ยว รวมทั้งไม่รู้จักการทำธุรกิจท่องเที่ยวด้วย เชียงใหม่ไม่ใช่เมืองแบนๆ ที่ไม่มีอะไรให้ชมเหมือนสิงคโปร์

ข้อชี้แจง รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้เชียงใหม่เป็นจุดศูนย์กลาง ของการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสามารถเชื่อมโยงการคมนาคมทางอากาศกับเมืองสำคัญๆ ในภูมิภาคนี้ เช่น ย่างกุ้ง หลวงพระบาง ฮานอย คุนหมิง ได้โดยสะดวก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวซึ่งมีรสนิยมและความต้องการในการบริโภคการท่องเที่ยวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

อนึ่ง ในฐานะที่จังหวัดเชียงใหม่จะเป็น hub นักท่องเที่ยวที่ผ่านมาจะมีเวลาน้อย การนำสถานที่ท่องเที่ยวหลายๆ รูปแบบมารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านและมีเวลาจำกัดแต่มีกำลังทรัพย์ ซึ่งทำให้เชียงใหม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

สำหรับความคิดที่ว่าเชียงใหม่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมากอยู่แล้วนั้น เป็นการทึกทักเอาเองว่านักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องมาเที่ยวชื่นชมธรรมชาติและวัฒนธรรมเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้ที่เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริง รู้จักชีวิต และทำธุรกิจเป็น จะไม่มีความคิดเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด

2. ที่เขียนว่า "เพราะเชียงใหม่ไม่ใช่ดิสนีย์แลนด์ การไปสร้างของใหม่ไร้รสนิยม เช่นไนท์ซาฟารีหรือกระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว จึงเท่ากับว่าเปลี่ยนตลาดท่องเที่ยวสำหรับเชียงใหม่ไปหาคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีรสนิยมระดับสิงคโปร์

ข้อชี้แจง สำนักงานโครงการ สสค. ไม่ทราบว่ารสนิยมระดับดิสนีย์แลนด์ และรสนิยมระดับสิงคโปร์ เป็นอย่างไร ทราบเพียงว่าผู้คนจำนวนมหาศาลจากทุกมุมโลก นับตั้งแต่ระดับประมุขของหลายประเทศ ลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป ต่างก็ไปเยือนดิสนีย์แลนด์ และไนท์ซาฟารี ที่ว่าของใหม่ไร้รสนิยม ต้องเรียนถามว่ารสนิยมของใคร เพราะจากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจของโครงการเชียงใหม่ต่างมีความเห็นตรงกันว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จะเป็นทางเลือกใหม่ของนักท่องเที่ยวที่มีรสนิยมในการผจญภัยและชื่นชอบธรรมชาติไป ดังนั้น จึงอาจจะไม่ถูกรสนิยมของผู้ที่ไม่รักธรรมชาติ

3. ที่เขียนว่า "พัฒนาการท่องเที่ยวคือ ทำให้ของดีที่มีอยู่แล้วดีเด่นขึ้นไปอีก ไม่ใช่เอาความอัปลักษณ์ไปแทนที่ของดี"

ข้อชี้แจง การพัฒนาน้ำตกห้วยแก้ว และน้ำตกแม่สา ไม่ใช่ตัวอย่างการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นหรือ รัฐบาลทำอยู่แล้วโดยตลอด ชาวเชียงใหม่ทุกคนก็ทราบกันดี ในขณะที่ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิม ก็จำเป็นต้องสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ขึ้นมาเพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ หรือเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ เป็นหลักการตลาดง่ายๆ ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจดี การที่กล่าวว่านำความอัปลักษณ์ไปแทนที่ของดี แสดงว่าคิดว่าสวนสัตว์เป็นสิ่งอัปลักษณ์ ทั่วโลกมีสวนสัตว์ทั้งกลางวันกลางคืนอยู่นับพันแห่ง แต่ละปีมีผู้เข้าชมสวนสัตว์ทั่วโลกนับร้อยล้านคน หรือว่าคนนับร้อยล้านคนเหล่านี้ผิดปกติที่ยอมเสียเงินเพื่อไปชมสิ่งอัปลักษณ์

4. ที่เขียนว่า "ตารางเที่ยวกลางคืนของนักท่องเที่ยวเต็มเอี๊ยดอยู่แล้ว และไม่คิดว่าจะ สามารถขายไนท์ซาฟารีให้นักท่องเที่ยวได้อีก"
ข้อชี้แจง ก็เป็นความคิดของคนเพียงคนเดียว แต่นักธุรกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเชียงใหม่มิได้คิดเช่นนั้น เพราะผู้รู้จริงเหล่านี้เชื่อมั่นว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีจะนำรายได้มหาศาลมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ กับทั้งยังเป็นทางเลือกใหม่ให้นักท่องเที่ยวหลุดพ้นออกจากวงจรการท่องเที่ยวในสิ่งอบายมุขยามค่ำคืน ซึ่งจะนำภาพพจน์ที่ดีมาสู่จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

5. ที่เขียนว่า "ความจริงสวนสัตว์กลางวันของเชียงใหม่เป็นสวนสัตว์ที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเลยทีเดียว เพราะสถานที่ตั้งอยู่เชิงเขา มีเนิน มีโตรกตามธรรมชาติ ซ้ำมีสัตว์ให้ชมหลายประเภท แต่จำนวนผู้เข้าชมสวนสัตว์ลดลงทุกปีตลอดมา และขาดทุนปีหนึ่งหลายสิบล้านบาท แสดงว่าส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวไม่ได้เข้าชม"

ข้อชี้แจง ความจริงแล้ว หากเลือกได้เขาจะสร้างสวนสัตว์ในที่ราบเพราะสะดวกในการก่อสร้าง การติดตั้งระบบสาธารณูปโภค และความสะดวกปลอดภัยในการดูแลสัตว์ แต่สวนสัตว์เชียงใหม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ที่เชิงเขาเนื่องจากที่ราบมีจำกัด ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในการซ่อมแซมหน้าดินในที่เนินและที่ลาดชันซึ่งพังทลายเพราะสัตว์กีบ

6. ที่เขียนว่า "ส่วนที่บอกว่าไนท์ซาฟารีให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์กลางคืนนั้นเหลวไหล เพราะไม่มีใครจะมีความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ในยามค่ำคืนด้วยการนั่งรถรางติดแอร์ผ่านกรงสัตว์ได้หรอก"

ข้อชี้แจง เรื่องนี้เป็นการทึกทักไปเองโดยไม่รู้ข้อมูลที่เป็นจริง เพราะที่จริงแล้วเชียงใหม่ในไนท์ซาฟารี จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติชีวิตสัตว์ในรูปแบบที่หลากหลายนับตั้งแต่แผ่นพับ ป้ายสื่อความหมาย ป้ายแสดงรายละเอียดชีวิตสัตว์ การบรรยายบนรถลากพ่วง(ซึ่งเปิดโล่งไม่ติดแอร์) การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ในสภาพธรรมชาติภายใต้เงาแสงแห่งค่ำคืน(ไม่ใช่อยู่ในกรง) และเส้นทางเดินเท้าเพื่อศึกษาชีวิตสัตว์อย่างใกล้ชิด

7. ที่เขียนว่า "ระบบนิเวศของสถานที่ซึ่งจะใช้ทำไนท์ซาฟารีนับว่าเปราะบางมากความเปราะบางที่สำคัญคือน้ำ"

ข้อชี้แจง แน่นอนว่าโครงการนี้มีความต้องการใช้น้ำ เหมือนกับการสร้างที่พักอาศัยหรือโรงแรมเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง โดยโครงการมีแผนจัดการน้ำเป็นอย่างดี โดยการทำอ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำฝน และเจาะบ่อบาดาล ทำให้ไม่ต้องเบียดเบียนน้ำจากดอยสุเทพ เพราะน้ำบาดาลมีในปริมาณที่เหลือเฟือ จนปีหนึ่งๆ ไหลลงทะเลไปนับล้านล้านลูกบาศก์เมตร การคิดว่าการเพิ่มคนหรือสัตว์ที่จะมาใช้น้ำเป็นการเบียดเบียนน้ำซึ่งมีน้อยของเชียงใหม่ ถือเป็นความคิดที่คับแคบ เห็นแก่ตัว และขาดเมตตาธรรม ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่แก่งแย่งชิงดี ขาดน้ำใจ และไร้มนุษยธรรม เพราะต่อไปนี้เราคงจะต้องป้องกันไม่ให้คนจังหวัดอื่นมาอยู่ที่เชียงใหม่ ห้ามนักท่องเที่ยวมาพักค้างแรมที่เชียงใหม่ รวมไปถึงห้ามคนเชียงใหม่มีลูกมีหลาน เพราะจะมาเบียดเบียนน้ำของเชียงใหม่

8. ที่เขียนว่า "แต่โครงการนี้ไม่เคยเปิดให้แก่การมีส่วนร่วมของประชาชนเลย ข้อมูลหลายประการด้วยกันยังถือว่าเปิดเผยไม่ได้จนบัดนี้ ยิ่งทำให้โครงการแบบ "ลู่ด่วน" (fast track) ยิ่งเปิดเผยไม่ได้มากขึ้นเพราะบางทีทำเองก็ไม่รู้เหมือนกัน"

ข้อชี้แจง คำว่า fast track ที่ใช้ในโครงการนี้ หมายถึงระบบการทำงานที่รวดเร็วและต่อเนื่อง โดยการทำ Concept plan, Master plan, Detailed design และ Construction เหลื่อมกันไป อธิบายง่ายๆ ก็คือออกแบบไปก่อสร้างไป ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็ว และเพื่อความยืดหยุ่นของงานเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการออกแบบภูมิสถาปัตย์ของที่แสดงสัตว์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเปิดเผยข้อมูลไม่ได้แต่อย่างไร และโครงการก็ไม่มีข้อมูลอะไรที่เปิดเผยไม่ได้ด้วยเช่นกัน และที่เขียนว่า "เพราะบางทีทำเองก็ไม่รู้เหมือนกัน" เรื่องนี้เป็นการดูถูกความรู้ความสามารถของผู้อื่นอย่างร้ายแรง อันวิญญูชนมิพึงกระทำกัน แต่ผู้ทำงานโครงการนี้ทุกคนซึ่งเป็นวิญญูชนก็ไม่ถือโทษโกรธเคืองแต่อย่างไร

9. ที่เขียนว่า "ด้วยข้อมูลที่ไม่เปิดเผยเต็มที่ และไม่มีกระบวนการใดๆ ที่จะรับฟังเสียงประชาชนอย่างกว้างขวางโครงการนี้อ้างความยินยอมพร้อมใจของ อบต.สามตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการเข้ามาแทนที่"

ข้อชี้แจง โครงการมิได้อ้างความยินยอมพร้อมใจของ อบต.สามตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการ หากแต่ได้รับความยินยอมจาก อบต.ทั้ง 3 แห่ง เนื่องจากโครงการจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนในพื้นที่และในสังคมใหญ่ทุกสังคมจำเป็นต้องใช้ระบบตัวแทน โดยเฉพาะตัวแทนของประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติเหมือนกับการทำโครงการอื่นๆ ทั่วประเทศ โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำมาซึ่งรายได้มหาศาลเพื่อยกระดับการดำรงชีพของชาวเชียงใหม่ในภาพรวม กับทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนหันมาสนใจศึกษาและเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น นำไปสู่จิตสำนึกที่รักหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net