Skip to main content
sharethis

ใครก็ตามที่คิดสร้าง ไนท์ซาฟารี ขึ้นในเชียงใหม่ ไม่รู้จักทั้งเชียงใหม่และการท่องเที่ยว รวมทั้งไม่รู้จักการทำธุรกิจท่องเที่ยวด้วย เชียงใหม่ไม่ใช่เมืองแบนๆ ที่ไม่มีอะไรให้เที่ยวชมเหมือนสิงคโปร์ ตรงกันข้าม เชียงใหม่มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง เมืองเล็กๆ ในหุบเขาที่เต็มไปด้วยวัดวาอาราม และความงดงามของป่าเขา ธารน้ำและน้ำตก ทั้งยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม นับตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันของคน อันสะท้อนออกมาในหัตถกรรมพื้น บ้านนานาชนิด อา หารการกิน และศิลปะการแสดงเป็นต้น

ถ้าอยากให้นักท่องเที่ยวมาเชียงใหม่แล้วติดใจ จนอยากอยู่ต่อให้นานกว่าโดยเฉลี่ย 2 คืน 3 วัน(ตามสถิติปัจจุบัน) ก็ต้องพัฒนาขุมทรัพย์การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ให้มั่งคั่งมากขึ้น เพราะเชียงใหม่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวของคนที่มีรสนิยมระดับดิสนีย์แลนด์ การไปสร้างของใหม่ไร้รสนิยม เช่น ไนท์ซาฟารีหรือกระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว จึงเท่ากับเปลี่ยนตลาดท่องเที่ยวสำหรับเชียงใหม่ไปหาคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีรสนิยมระดับสิงคโปร์

พัฒนาการท่องเที่ยวคือ ทำให้ของดีที่มีอยู่แล้วดีเด่นขึ้นไปอีก ไม่ใช่เอาความอัป ลักษณ์ไปแทนที่ของดี

อันที่จริงจะคิดเลยจากเชียงใหม่ไปสู่ลำ ปางและเชียงรายก็ได้ เช่น ทำอย่างไรจึงจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาไปเที่ยวลำปางหรือเชียงรายเพิ่มขึ้นอีกสักวันสองวัน ซึ่งก็เท่ากับเพิ่มเวลาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นนั่นเอง นี่คือการคิดแบบคลัสเตอร์ที่เรียกร้องจากผู้ว่าฯ ซีอีโอนั่นแหละ
พัฒนาไม่ได้แปลว่าสร้างเพียงอย่างเดียว ไม่ให้สร้างก็เป็นการพัฒนาอย่างหนึ่ง เช่น เสน่ห์อย่างหนึ่งที่เชียงใหม่เคยมีคืออาคารขนาดที่อยู่ในสเกลของมนุษย์ นักท่องเที่ยวซึ่งมักเดินทางมาจากเมืองใหญ่ จะรู้สึกอบอุ่นใจและเกิดความมั่นคงในจิตใจอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน เมื่อได้มาอยู่ในเมืองที่ไม่มีอาคารสูงกดทับความเป็นมนุษย์ของตัวให้เหลือกระจ้อยร่อย แต่บัดนี้กลับปล่อยให้สร้างอาคาร สูงระเกะระกะไปทั่วเมือง ถ้าจะพัฒนาการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ก็ต้องหยุดอาคารสูงไว้เท่าที่มีอยู่เพียงแค่นี้

พัฒนาการท่องเที่ยวต้องหมายถึงการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน กล่าวคือ ยั่งยืนทั้งการท่องเที่ยว และยั่งยืนทั้งแหล่งท่องเที่ยว ไม่ใช่ปล่อยให้ของดีเสื่อมลง แล้วเอาของทรามๆ มาแทนที่

ฉะนั้น ถ้าไม่เปลี่ยนตลาด โอกาสที่ไนท์ซาฟารีจะคุ้มทุนนั้นยาก นักท่องเที่ยวที่สมัครใจไปเที่ยวเชียงใหม่อยู่เวลานี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่จะเป็นลูกค้าของไนท์ซาฟารี ผู้ทำธุรกิจท่องเที่ยวในเชียงใหม่เวลานี้หลายคนมีความเห็นตรงกันว่า ตารางเที่ยวกลางคืนของนักท่องเที่ยวเวลานี้เต็มเอี้ยดอยู่แล้ว และไม่คิดว่าจะสามารถขายไนท์ซาฟารีให้นักท่องเที่ยวได้อีก

ความจริงสวนสัตว์กลางวันของเชียงใหม่เป็นสวนสัตว์ที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเลยทีเดียว เพราะสถานที่ตั้งอยู่เชิงเขา มีเนินมีโตรกตามธรรมชาติ ซ้ำมีสัตว์ให้ชมหลายประเภท แต่จำนวนผู้เข้าชมสวนสัตว์ลดลงทุกปีตลอดมา และขาดทุนปีหนึ่งหลายสิบล้านบาท แสดงว่าส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวไม่ได้เข้าชม

แทนที่จะเอาเงินตั้งพันกว่าล้านบาทไปทำไนท์ซาฟารี เอามาใช้ปรับปรุงสวนสัตว์ให้ดีขึ้นไปอีก เช่น ทำระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประ สิทธิภาพมากขึ้นเป็นต้น ส่วนที่บอกว่าไนท์ซาฟารีให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์กลางคืนนั้นเหลวไหล เพราะไม่มีใครจะมีความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ในยามค่ำคืนด้วยการนั่งรถรางติดแอร์ผ่านกรงสัตว์ได้หรอก ถ้าต้องการความรู้จริงเอาเงินจำนวนนี้มาตั้งศูนย์ศึกษาสัตวศาสตร์กันอย่างจริงจังดีกว่า

ระบบนิเวศของสถานที่ซึ่งจะใช้ทำไนท์ซาฟารีนับว่าเปราะบางมาก ความเปราะบางที่สำคัญคือน้ำ เพราะเป็นป่าโปร่งเบญจ พรรณ ตั้งอยู่ในพื้นที่ลาดเขาซึ่งดินไม่อุ้มน้ำ ฉะนั้น ต้องหาแหล่งน้ำกันเป็นการใหญ่ ทั้งสร้างและลอกอ่างเก็บน้ำ และขุดเจาะบาดาลน้ำลึก ตลอดจนเคยคิดจะสูบน้ำจากคลองชลประ ทานขึ้นมาใช้ (แต่เลิกคิดไปเพราะสู้ราคาพลังงานค่าสูบน้ำไม่ไหว)

น้ำทั้งหมดเหล่านี้มาจากแหล่งกำเนิดคือดอยสุเทพ-ปุย อันเป็นแหล่งน้ำที่เลี้ยงเมืองเชียงใหม่เกือบครึ่งหนึ่ง และเวลานี้เมื่อเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก็ถือได้ว่ามีน้ำไม่พอ ใช้อยู่แล้ว การทำประปาในหน้าแล้งมีปัญหาเป็นบางช่วง การเก็บกักน้ำสำหรับสัตว์และคนในไนท์ซาฟารีจึงเท่ากับเบียดเบียนน้ำซึ่งมีน้อยของเชียงใหม่ลงไปอีก

ไม่ว่าจะมองจากแง่ของสิ่งแวดล้อม แง่ของการพัฒนาเมือง หรือแง่ของพัฒ นาการท่องเที่ยว ไม่ควรเปิดให้มีกิจกรรมอื่นใดบนดอยสุเทพ-ปุยอีกแล้ว แม้แต่หน่วยงานของราชการและเอกชนซึ่งขึ้นไปใช้พื้นที่บนดอยโดยไม่จำเป็นอยู่ขณะนี้ ก็ควรหาทางให้ขยับขยายลงมาเสียให้หมด แล้วฟื้นฟูความชุ่มชื้นของดอยสุเทพ-ปุยกลับคืนมาตามธรรมชาติ

ตามธรรมชาติแปลว่า มีปริมาณของรากไม้ที่จะอุ้มน้ำไว้มากขึ้น ไม่ได้แปลว่า เอาเทค โนโลยีไปเที่ยวเบนน้ำและสูบน้ำจากแหล่งต่างๆ ให้ไหลลงห้วยแก้วตามความโรแมนติกของใคร

โครงการไนท์ซาฟารีนั้นที่จริงแล้วกระทบคนเชียงใหม่กว้างขวางกว่าคนในพื้นที่สามตำบล แต่โครงการนี้ไม่เคยเปิดให้แก่การมีส่วนร่วมของประชาชนเลย ข้อมูลหลายประการด้วยกันยังถือว่าเปิดเผยไม่ได้จนบัดนี้ ยิ่งให้ทำโครงการแบบ "ลู่ด่วน" (fast track) ยิ่งเปิดเผยไม่ได้มากขึ้น เพราะบางทีคนทำเองก็ไม่รู้เหมือนกัน

เช่นพื้นที่โครงการกินเอาพื้นที่อุทยานเข้าไปด้วยมากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่ชัด พื้นที่อุทยานมีกฎหมายควบคุมการใช้อย่างเคร่ง ครัด การเปลี่ยนแปลงใดๆ กับพื้นที่อุทยานต้องทำเพื่อประโยชน์ในการรักษาพื้นที่นั้น ถ้าเอาไปทำอย่างอื่นต้องมีการเพิกถอนเสียก่อน แต่การทำอะไรแบบ "ลู่ด่วน" นั้น นอกจากข้ามการตรวจสอบของประชาชนแล้ว ก็ยังมักจะข้ามกฎหมายไปด้วยเสมอ

ความจริงแล้ว พื้นที่ป่าโปร่งตรงนี้ ประชา ชนโดยเฉพาะที่ยากจนยังใช้ประโยชน์อยู่ คือการเก็บของป่าเพื่ออุปโภคบริโภค กำแพงของไนท์ซาฟารีซึ่งยาวถึง 9 ก.ม. จะกันคน จนเหล่านี้ออกจากแหล่งอาหารของเขาไปโดยสิ้นเชิง

ด้วยข้อมูลที่ไม่เปิดเผยเต็มที่ และไม่มีกระบวนการใดๆ ที่จะรับฟังเสียงประชาชนอย่างกว้างขวาง โครงการนี้อ้างความยินยอมพร้อมใจของ อบต.สามตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการเข้ามาแทนที่
การมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐ ธรรมนูญจึงมีความหมายตื้นเขินเพียงเท่านี้

ทั้งหมดนี้มีแต่ตำหนิโดยไม่มีข้อเสนอแนะ เพราะไม่เห็นความจำเป็นจะต้องบอกว่าเสนอแนะอะไร แต่เพื่อประโยชน์ของคนที่อ่านหนังสือไม่แตก ก็ขอเสนอแนะว่าก็ยก เลิกโครงการเสีย เงินที่เสียไปแล้วก็ต้องเสียไป เป็นค่าดื้อ

ถึงอย่างไรก็ยังเสียน้อยกว่าดื้อดึงทำต่อไป

นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนรายวัน วันที่ 24 พ.ย. 2546 หน้า 6

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net