Skip to main content
sharethis


(๑). ปัญหาที่ฐานวิธีคิด

๑. ความนำ

นักปราชญ์เมธีทางกฎหมายเคยเตือนสังคมเอาไว้อย่างหนึ่งว่า "การค้นพบวิธีการนิติบัญญัติหรือการออกกฎหมายนั้น มีความอันตรายและน่าสะพรึงกลัวยิ่งเสียกว่า การค้นพบระเบิดปรมณูเสียอีก" เพราะกฎหมายเมื่อออกมาใช้บังคับในสังคมแล้วนั้น จะแทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของสังคม เป็นกฎเกณฑ์เข้าไปควบคุมกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นข้อห้ามว่า อะไรทำได้ หรือ อะไรทำไม่ได้ กำหนด ก่อตั้งสิทธิ โอนสิทธิ จำหน่ายสิทธิ ของบุคคลรวมถึง สิทธิในทรัพย์สินและสาธารณะสมบัติที่ใช้ร่วมกันของสังคม กฎเกณฑ์ที่ว่านี้จึงมีลักษณะที่เข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นกฎเกณฑ์ที่มีขอบเขตคอบคลุมในกิจกรรมและวิถีชีวิตของคนเราในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม การจัดสรรปันส่วนทรัพยากรของชาติ (allocation of national resources) ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างยาวนาน ตราบเท่าที่กฎหมายที่ว่านี้ยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะสามารถทำให้คนเป็นคนตายทางเศรษฐกิจได้ ข้อกังขาที่ว่านี้จึงนำไปสู่หลักคิดที่สำคัญตามมาอีกว่า การจะมีกฎหมายที่ดีได้นั้น ก็จะต้องมีกระบวนการออกกฎหมายที่ดีเป็นส่วนประกอบหลักด้วย พร้อม ๆ กับมี วัฒนธรรมการใช้ความรู้ (Knowledge base)ในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่ดี ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของสาธารณะชน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญรอบข้างที่จะขาดเสียมิได้เพื่อสร้างกฎหมายที่ว่านั้น สังคมจึงจะได้กฎหมายที่ดีสามารถอำนวยความยุติธรรม เป็นธรรมประยุกต์ใช้เป็นกรอบเงื่อนไขและกระบวนการที่สามารถนำคนไปสู่เป้าหมายการอยู่ดีกินดีมีสุขได้ ในทางตรงกันข้ามการมีกฏหมาย ที่ไม่ดีซึ่งถูกตราขึ้นมาใช้บังคับตามความต้องการของผู้นำโดยมีผลประโยชน์แอบแฝงเกี่ยวข้อง ไม่ได้มาจากลักษณะความเป็นจริงและความต้องการของสังคม ตัวกฎหมายนั้นเองก็จะเป็นเงื่อนไขทางโครงสร้างนโยบายที่จะนำสังคมสู่ความเสียหายเดือดร้อนทางสังคมเศรษฐกิจได้ ปัญหาจากการมีกฏหมาย สาระแก่นสารในเนื้อหาของกฎหมายที่สวนทางกับความต้องการของประชาชน มักจะเกิดขึ้นจากความบกพร่องทางความคิดของผู้เขียนกฎหมาย หรือนักกฎหมายนั้นเองที่อาจจะหลงผิด เข้าใจผิด ๆ หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงเกี่ยวข้อง เพราะการมีสำนึกจริยธรรมที่ขาดมาตรฐานในฐานะผู้ใช้วิชาชีพในด้านนี้ สังคมไทยเราจึงได้เคยผ่านยุคมืดทางกฎหมายที่ว่านี้มาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะกฎหมายที่ถูกจัดทำขึ้นภายหลังการปฏิวัติ รัฐประหาร ที่ออกมาริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจ

ฉะนั้นขึ้นชื่อว่า "กฎหมาย" แล้ว ก็ไม่อาจสรุปทึกทักได้ว่าจะแสดงถึงกฎเกณฑ์เชิงคุณค่าของสังคมที่เต็มเปรียมไปด้วย หลักความยุติธรรมและเป็นธรรมของสังคมเสมอไปไม่ เมื่อใดที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ แยกทางเดินกับความยุติธรรมเป็นธรรมด้วยแล้ว กฏหมายที่ว่านั้นก็ไม่ต่างอะไรไปจากกฎของคนหมู่น้อยที่ฉ้อฉลเพื่อมุ่งบังคับต่อคนหมู่มาก หรือ อาจจะเรียกว่า กฎของโจรใส่สูตรก็ว่าได้ หรือ กฎหมายไม่เป็นธรรมเพราะกฎหมายลักษณะนี้จะซึมซับเอาผลประโยชน์ความต้องการของผู้นำ มาเล่นแร่แปลธาตุให้เป็นกฎหมาย หาได้สะท้อนความต้องการของสังคมแต่อย่างใดไม่ สังคมไทยจึงได้ยินได้ฟังถ้อยวลีที่กรอกหูประชาชนและสาธารณะอยู่เสมอว่า.. ความยุติธรรมเป็นธรรมนั้น..เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติหรือกำหนด อันเป็นวลีอัมตะ ที่ผู้รับผิดชอบจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ... มักจะยกมากล่าวอ้างอยู่เสมอจนมีคนไทยและนักกฏหมายไทยจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อไปตามนั้น ว่าหากจะตรวจสอบความยุติธรรมเป็นธรรมในเรื่องอะไร ก็ให้ไปดูที่ว่า กฎหมายเขียนไว้อย่างไร ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น ตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.... ที่รัฐบาลรักษาการณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีมติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณา ตรวจสอบแก้ไขถ้อยคำเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 6 ก.พ. 48 นั้น เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความด้อยพัฒนาและไม่พัฒนาของทั้งนักกฎหมาย และ กระบวนวิธีการออกกฎหมาย แม้จะอยู่ในช่วงหลังการปฏิรูปการเมืองก็ตามลักษณะความด้อยพัฒนา จากการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ... นี้แสดงออกดังประเด็นสาระสำคัญดังตัวอย่างดังนี้

๒. การริเริ่มนโยบายสาธารณะ

เป็นวัฒนธรรมทางกฎหมาย (legal culture) ของสังคมไทย ที่ไม่เคยปรับเปลี่ยนวิธีการไม่ว่าจะมีขึ้นก่อนหรือหลังการปฏิรูปการเมืองไทย ในเรื่องการริเริ่มกฎหมายที่เกือบร้อยเปอร์เซนต์นั้นมาจากความสัมพันธ์ของ ระบบราชการประจำ ผู้มีอำนาจฝ่ายการเมือง และกลุ่มทุนทางธุรกิจที่เป็นคนแสดงความต้องการ แทบไม่มีหรือหามีได้ยากมากที่กฎหมายจะถูกเสนอและมาจากความต้องการในส่วนของภาคสังคม แม้มีบ้างแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ จริงใจที่จะผลักดันให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายจริง ๆ กรณีตัวอย่าง ร่าง พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ... เป็นตัวอย่างที่ดี

ด้วยความที่ไทยมีวัฒนธรรมทางกฎหมาย ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความสัมพันธ์ดังกล่าว ฉะนั้นเหตุผลความจำเป็นในการมีกฎหมาย สาระแก่นสารทางกฎหมาย (legal substantial) จึงสะท้อนความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าว ยิ่งประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (written law ) หรือระบบประมวลซึ่งที่มาของกฎเกณฑ์เกิดจากการเขียนหรือบัญญัติขึ้น ในรูปแบบ (forms) กฎหมายหลัก ที่อยู่ในรูปพระราชบัญญัติ ประมวล พระราชกำหนด หรืออาจอยู่ในรูปกฎหมายอันดับรอง ในรูปของ พระราชกฤษฏีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง หรือ ประกาศกรม เป็นต้น กรณีร่าง พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ... ก็มีลักษณะการเกิดขึ้นไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์แบบเดิม คือการตั้งโจทย์เพื่อนำไปสู่การคิดเพื่อให้มีกฎหมายนี้มาจากการเอาความต้องการของ กลุ่มทุน นักการเมือง และ ราชการประจำมาเป็นฐานคิด ฉะนั้นการกล่าวอ้างว่าเป็นกฎหมายของ "รัฐ" ที่ผู้คนในสังคมจะต้องยึดถือปฏิบัติจึงเป็นการมัดมือชกหรือปิดปาก "สังคม" ให้ต้องยอมรับและถือปฏิบัติตาม โดยนัยว่าเมื่อสามารถผลักดันออกมาเป็นกฎหมายแล้วก็เป็นกฎหมายของรัฐ หรือ ของสังคม ทั้ง ๆ ที่ความเป็นรัฐ รัฐบาล และ สังคมนั้น หาได้เป็นจุดร่วมเดียวกันกล่าวคือ รัฐบาลอาจจะเดินสวนทางกับผลประโยชน์สาธารณะก็ได้ซึ่งมีได้ในหลายกรณี ตัวอย่าง กรณีการตัดสินใจทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การทึกทักอรรถาธิบายว่า รัฐ ก็คือ รัฐบาล และรัฐบาลก็เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม หากเป็นกฎหมายของรัฐก็ถือว่ารัฐเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ของสังคมคนส่วนใหญ่แล้ว การอธิบายเช่นนี้ ค่อนข้างจะง่ายเกินไปที่จะเหมารวมเอาง่าย ๆ ว่า รัฐ กับสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ...ในจุดหมายปลายทางจะพบว่าหลาย ๆ กรณี อาทิเช่น การจัดสรรฐานทรัพยากร จะมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับเขตเศรษฐกิจพิเศษในฐานะตัวแทนดำเนินการฝ่ายรัฐอย่างชัดแจ้ง ผลที่ตามมาจากความสัมพันธ์ข้างต้นนี้จึงอยู่ในลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกล่าวคือ ความต้องการของ ทุน ผู้นำ และราชการ คือกฎหมาย สังคมหรือความต้องการของสังคม ประชาชน คือผู้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ฐานที่มาของกฎหมาย

๓. ฐานคิด ที่อยู่เบื้องหลัง ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ...

๓.๑ ตัวกระทำการทางกฎหมาย

การมีร่างกฎหมายนี้มาใช้บังคับในสังคม ไม่ใช่เพียงแค่การนำหลักการทางกฎหมายมากำหนดจัดตั้งให้พื้นที่ใดในประเทศเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่เท่านั้น หากแต่ร่างกฎหมายนี้ยังเป็นการ "จัดระเบียบอำนาจรัฐใหม่ (reorganizing power of state)" โดยร่างกฎหมายมุ่งกระทำต่อการเปลี่ยนแปลงที่มี ต่อทั้ง "องค์กรของรัฐแต่เดิม" และ "อำนาจแต่เดิมขององค์กรหรือส่วนราชการ" นั้น ๆ ให้มาอยู่ภายใต้โครงสร้างการใช้อำนาจบริหารจัดการใหม่ อันเป็นการรวบรัดหรือกินรวบอำนาจ หรือ การปล้นอำนาจจากส่วนราชการอื่น ๆ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในทางกฎหมายนั้นหมายถึงผลจากการกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใด ๆ ขึ้นมา เท่ากับว่าเป็น การจำกัด ยกเลิก เพิกถอนบรรดา กฎหมายเก่าที่ใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จึงมีผลทำให้ หลักการ กฎเกณฑ์ กลไกต่าง ๆ ตามกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมเป็นอันต้องถูกยกเลิกเพิกถอนไป โดยไม่จำเป็นต้องไปแก้กฎหมายเก่าทีละฉบับ เปรียบได้กับเป็นการ รัฐประหารเงียบ และยกฐานะโดยการนำ แนวคิดวิธีการจัดการทางธุรกิจแบบซีอีโอ CEO (chief of executive officer) มาแทนที่โครงสร้างการใช้อำนาจรัฐใหม่ตามแบบ CEO

ในทางกฎหมายที่เป็นฐานรองรับการใช้อำนาจอยู่แต่เดิม หากจะแบ่งแยกหลักการสำคัญ ๆ ของกฎหมายต่าง ๆ นั้นแล้วจะประกอบไปด้วยลักษณะสำคัญ ๆ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือส่วนแรก เป็นเรื่องกระบวนการในการใช้อำนาจตามกฎหมายนั้น ๆ ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับของแต่ละหน่วยงานจะกำหนด กลไก ขั้นตอนต่าง ๆ เอาไว้ เช่นที่เกี่ยวกับบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นต้น และ ส่วนที่สอง เป็นส่วนที่ว่าด้วยอำนาจการใช้อำนาจที่จะบ่งบอกถึงผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายนั้น ๆ เช่น พนักงานเจ้าหน้าที่ อธิบดี หรือปลัดกระทรวง เป็นต้น ซึ่งผลจากการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มุ่งไปที่ตัว "อำนาจ" ในส่วนหัวให้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเสียใหม่ ในการบริหารจัดการ จึงเท่ากับว่าผลจากการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ว่านี้ ก็จะไปยกเลิกเพิกถอน กลไก ขั้นตอน วิธีการ กระบวนการใช้อำนาจนั้นด้วยอันถือว่าเป็นการทำลายตัว "กระบวนการใช้อำนาจรัฐ" ซึ่งกฎหมายต่าง ๆ แต่เดิมบัญญัติความเชื่อมโยงกระบวนการที่ว่านั้นกับ สังคม หรือสาธารณะ ที่เป็นอันต้องถูกยกเลิกเพิกถอนไปด้วยเนื่องจากปฏิสัมพันธ์ทางกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลง การใช้อำนาจขององค์กรตามกฎหมายเดิม ๆ ที่มีผลใช้บังคับ ขณะที่กระบวนการใช้อำนาจของเขตเศรษฐกิจนั้นมาจากรากฐานการบริหารแบบ CEO ซึ่งอยู่กันคนละด้านกับ บทบาทการมีส่วนร่วมของสาธารณะ ความโปร่งใส หรือ ธรรมรัฐ (good governance) เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป ตัวกระทำการทางกฎหมาย ที่ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ..สร้างหรือกำหนดขึ้นนั้น มุ่งโดยตรงต่อตัว "โครงสร้างอำนาจ" ที่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงจัดการเสียใหม่ ที่เปลี่ยนจากส่วนราชการต่าง ๆ มาอยู่ที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลง อำนาจของส่วนราชการ องค์กร แต่เดิมแล้ว ยังคอบคลุมถึง การยกเลิก "กระบวนการใช้อำนาจ" ที่ถูกสร้างขึ้นตามกฎหมายเดิม อันเป็นการเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะที่จะต้องหมดไปโดยปริยายอีกด้วย จึงไม่ใช่เพียงแค่การ กำหนดเขตใดเขตหนึ่งให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างที่เข้าใจ

๓.๒ เศรษฐกิจเสรี กฎหมาย และ CEO

ร่าง พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ... เป็นร่างกฎหมายที่เดินตามหรืออนุวัตตามแนวทางฉันทามติแห่งวอชิงตัน (Washington Soncensus) ด้วยความซื่อสัตย์เสมอเหมือนคัมภีร์ในการจัดทำกฎหมาย และ ถือเสมือนจะยกระดับให้เป็นหลักการในการบริหารยุทธศาสตร์ประเทศ อีกทั้งการบัญญัติกฎหมายมาขึ้นใช้บังคับกับประเทศไทย ถือว่าร่างกฎหมายนี้เป็นตัวอย่างกฎหมายไทยที่ตัวกฎหมายและแนวคิดของผู้ร่างกฎหมายนี้ ได้ยอมรับเอาฉันทามติแห่งวิงชิงตันมาบัญญัติให้เป็นกฎหมายไทยอย่างออกนอกหน้า จึงไม่มีอะไรที่เป็นแนวความคิดหรือฐานคิดใด ๆ ที่แสดงออกถึงหลักคิดในการตรากฎหมายขึ้นมาใช้บังคับว่า อาศัยจากฐานคิดที่จะปฏิบัติตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐หมวดที่ ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หรือความพยายามที่จะตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อสภาพปัญหาความเป็นจริงของสภาพการณ์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือการดำรงรักษาความแตกต่างหลากหลายในสังคมเศรษฐกิจวัฒนธรรมของประเทศ หรือเป็นการออกกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิต่าง ๆ ที่บัญญัติรับรองคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูน ฯ จึงไม่มีอะไรที่ถือเป็นความก้าวหน้าหรือเป็นสิ่งใหม่ในการบัญญัติกฎหมายในประเทศไทย แต่สิ่งที่เห็นเป็นสิ่งใหม่ในการออกกฎหมายไทยได้แก่ การยอมรับเอาฉันทามติแห่งวอชิงตันอันเป็นหลักการทางการค้าพาณิชย์มาบัญญัติให้เป็นกฎหมายไทยอย่างไม่รู้สึกเขิน จึงเท่ากับว่าแนวคิดดังกล่าวกำลังจะลุกคืบคลานแผ่ซ่านเข้าไปฝังในหัวของสถาบันนิติบัญญัติไทยอย่างสมบูรณ์แบบ อันแสดงให้เห็นว่านักกฎหมายได้ลืมความเป็น "ศาสตร์แห่งความยุติธรรมเป็นธรรมในสังคม" ไปจนหมดสิ้นแล้ว และกำลังถูกแถนที่ด้วยทาสความคิดใหม่ที่ตนเองยังไม่เข้าใจรู้ทันกับมันดีพอ หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้แสดงออกอย่างชัดแจ้ง ในรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ที่จัดทำโดยบริษัทสำนักงานกฎหมาย มีชัย ฤาชุพันธุ์ จำกัด หน้า ๔๐ ในหัวข้อ เหตุผลทำไมต้องมีเขตพิเศษ โดยกว่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน เช่น ระบบกฎหมาย ระบบบริหารราชการแผ่นดิน ระบบการจัดสรรและใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ระบบภาษีอากร ระบบการเงินการคลัง นโยบายและมาตรฐานส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการ เป็นต้น ในการปฎิรูปอาจมีการเปิดเสรี (liberalization) การลดกฎระเบียบ (deregulation) การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ระดับท้องถิ่น และจากระดับสูงสู่ระดับล่างในสายการบังคับบัญชา (decentralization) ..." อันแสดงให้เห็นที่มาที่ไปของกรอบหรือฐานคิด ที่อยู่เบื้องหลังการร่างกฎหมายนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสิ่งนั้นที่สามารถฝังอยู่ในหัวสมองของผู้ร่างกฎหมายนี้ได้อย่างครบด้วน อันที่จริงมีอีกอย่างคือการลงทุน (investment) โดยทั้งหมดนี้คือที่มาจากฉันทามติแห่งวอชิงตันนั่นเอง ในทางตรงข้าม แนวคิดปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หรือ สภาพปัญหาความเป็นจริงของประเทศหาได้เป็นฐานคิดอยู๋ในหัวสมองของ ผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด

การร่างกฎหมายตามแนวฉันทามติแห่งวอชิงตันกรณีตัวอย่าง กฎหมายฉบับนี้ยังมีเหตุผลสำคัญเพื่อรองรับ การดำเนินยุทธศาสตร์แบบทวิภาคีนิยม (bilateralism) โดยการทำข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีที่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่นำประเทศไทยเข้าไปผูกพันธ์อีกด้วย และในทางเทคนิคในการหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๔ โดยไม่ให้รัฐสภาทำการตรวจสอบให้ความเห็นชอบตามหลักการรัฐธรรมนูญ ฯ ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ยังเอาข้อเรียกร้องของนักลงทุน ในการเจรจาทางการค้าดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติเสียก่อน ๆ ทั้ง ๆ ที่ประเด็นการเจรจาดังกล่าวยังไม่ได้เจรจาเป็นข้อยุติ อันเป็นการทำกฎหมายหรือการปรับปรุงแนวนโยบายไว้ล่วงหน้า เพื่อจะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๔ อีกด้วย

กล่าวโดยสรุปร่างกฎหมายนี้หากกล่าวให้ถึงที่สุดในทัศนะของผู้เขียนแล้ว ยังมีปัญหาความบกพร่องในการสร้างกฎหมายใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับการสร้างภาวะการเผชิญ (coping) ให้แก่ประเทศไทยยิ่งซ้ำร้ายกว่านั้นแนวคิดหรือฐานคิดการมีกฎหมายนี้ยังทำตัวที่ซื่อสัตว์สวามิภักดิ์ต่อ ฉันทามติแห่งวอชิงตัน อย่างออกนอกหน้า โดยไม่ใยดีต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และตลอดจน การรับรองสิทธิพลเมืองที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองคุ้มครองไว้ ในทางบริหารเพื่อให้ฉํนทามติแห่งวอชิงตันไปสู่การปฏิบัติที่รวดเร็วเป็นจริง จึงถูกรองรับด้วย วิธีการบริหารแบบซีอีโอ CEO (chief Executive Officer) ที่เป็นวิธีการจัดการในองค์กรธุรกิจ มาใช้บริหารประเทศในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย...

เจริญ คัมภีรภาพ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net