Skip to main content
sharethis
26 ก.ย. 52 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านระบบ Web Conference มายังศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลระบุได้เน้นย้ำแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกในเวที ที่ประชุม รวมถึงตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประเด็นทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการแต่งตั้ง ผบ.ตร.
เน้นย้ำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อที่ประชุมกลุ่มผู้นำ G20
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 52 เวลา 10.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านระบบ Web Conference มายังศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลการประชุมกลุ่มผู้นำ G20 ณ เมืองพิตส์เบิร์ก ประเด็นแรก ที่ประชุม เห็นพ้องที่จะให้มีการเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาการฟื้นตัวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานที่ แต่ละประเทศมีความกังวล ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้มีองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เข้าร่วมในวาระการประชุม ดังกล่าว
ประเด็นที่สอง ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการให้สิทธิและเสียงแก่ประเทศ กำลังพัฒนา
ประเด็นที่สาม ที่ประชุมเห็นควรให้มีการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลระบบการเงินและการหมุนเวียน ของเงินทุน การดูแลตลาดอนุพันธ์ มาตรการกำกับดูแลเงินทุน รวมทั้ง ระบบค่าตอบแทนของ ผู้บริหาร ระบบสถาบันการเงิน
ประเด็นสุดท้าย ผู้นำกลุ่มประเทศ G20 มีความห่วงใยต่อประเด็นการเจรจาที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ การเจรจาการค้ารอบโดฮา โดยในฐานะประธานกลุ่มอาเซียนเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะ ประคับประคองให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน โดยการเจรจารอบโดฮาจะต้องสามารถได้ข้อยุติ ภายในปีหน้า และ การเจรจาในประเด็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีการประชุม ครั้งต่อไปที่เมืองโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า เวทีการประชุม G20 เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยประสานการดูแลกลไกด้านเศรษฐกิจโลกที่ได้ผลดีที่สุด โดยในปีหน้าจะมีการจัดประชุมที่ประเทศแคนาดา และ เกาหลีเพื่อขยายผลการประชุม ทั้งนี้ ในช่วงปีหน้าไทยจะส่งมอบหน้าที่การเป็นประธานอาเซียนให้แก่ประเทศเวียดนามต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการพบปะพูดคุยกับผู้นำประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ โดยได้หารือการจัดการ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2552, การหารือถึงประเด็นความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และ แนวทางของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค, การหารือกับผู้นำจีนในการขยายความร่วมมือด้านการค้า และ การหารือถึงประเด็นข้อตกลงเขต การค้าเสรีระหว่าง ไทย-อินเดีย และแผนการเยือนอินเดีย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้พบปะกับ ประธานาธิบดีบราซิลโดยได้หารือกันในประเด็นเรื่องพลังงานทดแทน, การหารือกับประธานาธิบดี ของเม็กซิโกในประเด็นขยายการค้าและการสร้างความสัมพันธ์ของนักธุรกิจผ่านสถานทูตระหว่างสองประเทศ
ในวันพรุ่งนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้พูดคุยกับเลขาธิการสหประชาชาติในประเด็นเกี่ยวกับพม่าการร่วมปฏิบัติการสหประชาชาติในพื้นที่ดาร์ฟูร์ และการผลักดันการประชุมด้านความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลก รวมถึง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางที่อยู่ตรงข้ามกับความโลภ ความสุดโต่ง ซึ่งเป็น สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ บนโลก
ผู้สื่อข่าวถามถึงผลสำรวจของสวนดุสิตโพลที่ระบุว่าประชาชนร้อยละ 70 มองว่าปัญหาเศรษฐกิจแย่ลง และร้อยละกว่า 60 ยังมีหนี้สินติดตัวอยู่ อยากให้รัฐบาลให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้มากขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถูกต้อง เรื่องเศรษฐกิจยังติดลบ และรัฐบาลก็บอกแล้วว่าจะเป็นบวกในไตรมาสสุดท้าย จึงจำเป็นต้องผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ไม่มีใครพูดว่าเศรษฐกิจดี แต่ทุกคนตระหนักและห่วงใยในเรื่องนี้ ถึงบอกว่าทุกคนต้องช่วยกันอย่าทำให้บ้านเมืองสะดุด รัฐบาลก็จะเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชน เราไม่มีอะไรแปลกใจ เพราะสภาพนี้เกิดขึ้นทั่วโลก
นายกรัฐมนตรีย้ำอยากให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ Web Conference จากนครนิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.3) ว่า ตนฟังดูแล้วเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยมีความกังวลว่าจะแก้ใน 6 ประเด็นหรือไม่ และยังมีความเห็นว่าส.ส.มีความชอบธรรมโดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้ง สสร. พูดง่ายๆ คือหากตั้ง สสร.อาจเสียเวลา ซึ่งตนจะกลับไปพูดคุยเรื่องนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นนั้นไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ตนต้องกลับไปแลกเปลี่ยนความเห็นถึงหลักการที่พูดไว้ในสภาฯ ว่า หากกระทำโดยไม่มี สสร.และใช้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการนั้นมันเป็นคำถามที่ต้องตอบว่าไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองต้องการ แต่ประชาชนต้องการ ดังนั้น ใจของตนคือไม่ตั้ง สสร. ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้มีการทำประชามติหลังจากที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคฝ่ายค้านไม่ต้องการทำประชามติจะมีทางออกเช่นใด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องถามเหตุผลว่าทำไมถึงไม่สอบถามประชาชน ความจริงหากอยากถามให้ตรงก็ควรให้ประชาชนเห็นร่างแก้ไขเลยว่าจะรับหรือไม่รับ ทางด้านนี้ใช้เหตุผลของเขาอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่เขาจะไม่รับ เพราะเป็นไปตามตรรกะอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจเพียงใดว่าหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วความขัดแย้งในสังคมจะไม่เกิดขึ้นอีก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องถามก่อนว่าคนที่เรียกร้องเพราะความขัดแย้งในตอนนี้คือการชุมนุมเคลื่อนไหวต่างๆ มันต้องถามสาเหตุจากผู้ชุมนุมมากกว่า แต่สิ่งที่รัฐบาลกระทำคือเมื่อมีความเห็นจากส่วนหนึ่งในสังคมว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเกิดขึ้นจากการยกร่างในช่วงหลังการรัฐประหาร เมื่อไม่เป็นที่พอใจ รัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาแล้วมีความเห็นว่าการแก้ไขครั้งนี้มี 6 ประเด็น เราก็ตอบสนองว่าต้องดูกระบวนการ ขณะเดียวกันมีบทเรียนจากปีที่แล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นแนวทางที่ทุกคนรับได้ ส่วนความขัดแย้งจะหมดไปหรือไม่ ตนตอบไม่ได้ แต่ตอบได้ว่าหากทำในสิ่งเหล่านี้แล้ว และยังมีการชุมนุมต่อต้านอีกนั้นแสดงว่าผู้ชุมนุมต่อต้านไม่ได้คิดเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างที่พูด
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิป) ระบุว่าหากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จก็ยุบสภาได้ แต่ไม่ควรมีผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวรับข้อเสนอนี้ได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกฝ่ายพยายามจะบอกว่าทำอย่างไรถึงจะไม่มีม็อบ แต่ตนพูดมาตลอดว่าเอาเข้าจริงแล้วพอจะมีการชุมนุมและคนที่จะมาชุมนุมนั้นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีใครห้ามได้ และไม่มีใครไปบอกว่าไม่มีสิทธิทำ เพียงแต่การชุมนุมนั้นหากไม่เกินขอบเขต หากชุมนุมแล้วแถมด้วยความรุนแรง ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีความเสี่ยงกับการเกิดความวุ่นวาย ซึ่งบั่นทอนเสถียรภาพบ้านเมืองและประเทศ ดังนั้น เงื่อนไขที่บอกว่าไม่อยากให้มีการชุมนุมก็ไม่มีใครอยากให้มี แต่มันอยู่ที่แต่ละฝ่ายที่จะมีจุดยืนอย่างไร โดยส่วนตัวคิดว่ามันก็มีคนกลุ่มเล็กๆ ที่จะใช้วิธีการชุมนุมเพื่อต้องการความวุ่นวาย เพราะมันเป็นเป้าหมายของบางคนและบางกลุ่ม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะยุบสภาเลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่การแก้ไขหากแก้แล้วต้องยุบมันก็ต้องยุบ หากแก้แล้วมีการระบุว่าไม่ต้องยุบก็เป็นดุลพินิจของตน ซึ่งตนไม่ขัดข้องทางหนึ่งทางใด แต่คนที่จะทำเรื่องนี้ต้องกำหนดเองโดยหลักคือหากแก้แล้วเกี่ยวข้องกับสถานะภาพของ ส.ส.และไม่มีบทเฉพาะกาลก็ต้องยุบสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีแนวคิดในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไปในทางเดียวกันหรือไม่เพราะพรรคชาติไทยพัฒนาระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรยื้อเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้แซวนายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นโฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ว่า ”ไม่ยื้อหรอกครับ ก็เห็นนั่งยิ้มอยู่ข้างหน้า ก็ไม่มีอะไรที่ขัดกันเลย ยิ้มใหญ่เลย”
ระบุไม่ต้องการให้สังคมหมุนรอบอยู่กับตำแหน่งผบ.ตร.
ในกรณีที่มีชื่อพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) มีชื่อเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. เพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่ง นายกตอบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้เห็นเป็นเอกฉันท์ว่าเรื่องนี้ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ก็จะให้ไปบริหารจัดการกัน เพราะที่ผ่านมาวิพากษ์วิจารณ์กันเกินเลยไปจนเกิดปัญหาอื่นแทรกซ้อนเข้ามาได้ และได้พูดกันชัดเจนว่าหากไม่ทันวันที่ 30 กันยายนนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะสามารถดำเนินการตามกฎหมายตำรวจได้ ดังนั้น หากมีความพร้อมตนก็จะเรียกประชุมและจริงๆ ตนก็ถือว่าแม้เรื่องนี้จะมีความสำคัญและจำเป็น จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างรอบคอบ แต่ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกเยอะ ซึ่งตนไม่ต้องการให้สังคมหมุนรอบอยู่กับตำแหน่ง ๆ เดียว ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีปัญหาอื่นมากมาย และขณะนี้การทำงานของตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
“ผมจะดูแลให้ เมื่อดำเนินการเรื่องนี้เสร็จ ความเป็นเอกภาพ และความมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเกิดขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถเดินไปได้ แต่ถ้ารีบทำให้เสร็จแล้ว มีแต่ความขัดแย้งในที่สุดก็จะไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน”นายกรัฐมนตรีกล่าว
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net