Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ระนอง,(ไอพีเอส) -- สตรีพม่านางหนึ่งนั่งอยู่บนพื้นไม้ในห้องเล็กๆที่ระนอง เมืองชายแดนของไทยที่ประชิดกับดินแดนใต้สุดของพม่า ท่ามกลางเสียงพัดลมที่หมุนวนอยู่นั้น หญิงสาววัย 18 เล่าอดีตของเธอให้ฟัง

"ฉันถูกขายเข้าซ่องสองครั้ง" มิ เคย์ (นามสมมุติ)กล่าว ขณะผงกศีรษะและนิ่งเงียบอยู่ครู่หนึ่ง
เธอหนีออกจากบ้านที่ย่างกุ้งมากว่าหนึ่งปีแล้ว หญิงสาวหนีตามชายคนรักหลังจากเพิ่งสอบผ่านเข้าเรียนหนังสือ กระนั้น ครอบครัวของฝ่ายทั้งสองบังคับให้หนุ่มสาวแยกทางกันหลังจากอยู่ด้วยกันเพียงสองวัน

ด้วยความอึดอัดใจเพราะถูกบังคับจากครอบครัว มิ เคย์หนีมายังเกาะสองที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ที่นั่นไม่ใช่สถานแปลกถิ่นสำหรับเธอ หญิงสาวเคยมาเมืองนี้ครั้งหนึ่งเมื่อตอนเป็นเด็ก
แต่มิ เคย์ไม่เคยรู้เลยว่าเกาะสองเป็นเช่นเดียวกับเมืองชายแดนอื่นๆของพม่า คือเป็น ศูนย์กลางของการลักพามนุษย์ สาวน้อยมาทำงานเสิร์ฟอยู่ในร้านขายน้ำชาอยู่หนึ่งเดือนก่อนจะตกเป็นเป้าหมายของนักลักพามนุษย์

วันนั้นรุ่นพี่ร่วมโรงเรียนที่ย่างกุ้งมาหา เธอเข้ามาพูดคุยเกลี้ยกล่อม หญิงสาวผู้นี้อาศัยอยู่ในระนองซึ่งห่างจากเกาะสองราว 3 กม. เธอบอกมิ เคย์ว่ามีงานดีๆให้ทำที่ชายแดนฝั่งตรงกันข้าม หลังจากเจอกันสองสามครั้ง มิ เคย์ ตัดสินใจตามรุ่นพี่ผู้นั้นไป

แต่เมื่อไปถึงคนคุ้นเคยกลายเป็นนักล่ามนุษย์ มิ เคย์ถูกขายเข้าซ่องที่ระนองไปในราคาเพียง 6,000 บาท
...............................................................

แรกทีเดียวหญิงสาวไม่ยอมทำงาน นั่นเป็นสาเหตุให้เจ้าของซ่องละเมิดทางกายและทรมาณเธอ จนจิตใจถูกทำร้ายย่อยยับ ท้ายที่สุดหญิงสาวกลายเป็นโสเภณี

"มันปวดร้าว มันน่ากลัวจริงๆ" มิ เคย์ เล่า เธอทำงานในย่านราตรีที่ปากคลองของจังหวัดระนอง เมืองอุตสาหกรรมการประมงในประเทศไทย

ในทุกตอนค่ำจะได้ยินเสียงคาราโอเกะพม่าดังลั่นถนน แรงงานอพยพพม่านับแสนคนเข้ามาหางานทำอยู่ในระนอง ที่นั่นมีโสเภณีพม่าราว 150 คนทำงานอยู่ในสถานคาราโอเกะและซ่องราว 40 แห่ง พวกเธอได้รับค่าแรงครึ่งหนึ่งของค่าตัวระหว่าง 200-500 บาทที่ลูกค้าแต่ละคนจ่ายให้

"ฉันคิดอยู่เสมอว่าจะหนีออกไป แต่พวกเขาขังฉันไว้ตลอดช่วงกลางวัน" เธอว่า สี่เดือนแรกที่เธออยู่ในซ่องราวกับอยู่ในนรก

ครั้งหนึ่งหญิงสาวพยายามหลบหนี แต่ถูกจับได้ขณะนั่งรอเรือเพื่อข้ามกลับไปยังฝั่งพม่า เธอถูกพวกเขาตบตีหลายครั้ง จนมือทั้งสองบวมพอง

ท้ายที่สุดเจ้าของซ่องขายหญิงสาวต่อไปยังซ่องอีกแห่งหนึ่งในราคา 10,000 บาท นั่นเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของมิ เคย์ เจ้าของซ่องแห่งใหม่บอกหญิงสาวว่าหากสามารถใช้หนี้หมดเธอจะเป็นอิสระ

"บางครั้ง ฉันต้องนอนกับลูกค้านับสิบคนในหนึ่งวัน เพื่อหาเงินมาใช้หนี้" เธอเล่า และว่าท้ายที่สุดก็สามารถหาเงินใช้หนี้ได้ในหนึ่งเดือน

ตอนนี้เธอเป็นอิสระแล้ว แต่ก็ต้องออกมาจมปลักอยู่กับ อุตสาหกรรมทางเพศ เธอกล่าวว่ามันเป็นวิถีเพื่อความอยู่รอดและเพื่อหาเงินกลับบ้าน
.................................................................

"การขายหญิงสาวเข้าซ่องไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับชุมชนชาวพม่าในระนอง หญิงสาวที่ถูกลักพาจะไม่มีทางเป็นอิสระขณะถูกขายจากซ่องหนึ่งไปยังซ่องอื่นๆ" ตีริ เพื่อนของมิ เคย์ กล่าว

ตีริ วัย 33 เป็นโสเภณีมาแล้วถึง 5 ปี แม้ติดเชื้อเฮชไอวี.แต่ก็ไม่อาจเลิกอาชีพนี้ได้ "ฉันต้องทำงานหาเงิน" เป็นคำอธิบายของเธอ

โรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศอื่นๆมีอยู่ที่นั่น แต่โสเภณีพม่าในระนองยังต้องเสี่ยงกับเรื่องอื่นๆด้วย นอกจากนี้ทางการพม่าที่เกาะสองไม่เคยใส่ใจเครือข่ายของพวกลักพามนุษย์ ส่วนรัฐบาลย่างกุ้งเข้ามาปราบปรามคนเหล่านี้เพื่อสร้างภาพเท่านั้น ฮลา ฮลา วิน เจ้าของคลินิกเอกชนให้ภาพ

"หญิงสาวที่เพิ่งเข้ามาสู่อุตสาหกรรมทางเพศที่ระนองในปีนี้กว่าครึ่งที่อยู่ในซ่องล้วนถูกลักพาตัวมา" ฮลา ฮลา วิน,ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาพสตรีพม่าพลัดถิ่นกล่าว

ส่วน จอว์ จอว์ ผู้ประสานงานต่อต้านการลักพามนุษย์แห่งองค์กรเวิร์ลด์ วิชั่นที่ระนอง กล่าวถึงสาเหตุเบื้องลึกที่ทำให้ชาวพม่าอพยพมายังประเทศไทยว่า คือปัญหาทางเศรษฐกิจ,สังคม และการเมืองในประเทศ ขาดการศึกษา ไม่มีความรู้ในการเดินทางคือเหตุผลสำคัญของการถูกลักพาตัว

แม้ประชาคมระหว่างประเทศตั้งข้อสงสัยต่องานต่อต้านการลักพาของรัฐบาลพม่า แต่จอว์ จอว์กล่าวว่าระบบปกครองทหารที่เรียกว่า "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ(SPCC)" ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นประเด็นแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว

เมื่อเร็วๆนี้ สมาชิกของ คณะกรรมการแห่งชาติพม่าเพื่อกิจการสตรี ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้การควบคุมของ SPDC ได้แสดงความวิตกต่อสถานการณ์ลักพามนุษย์ในพม่า อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ให้เอ่ยนาม กล่าวว่าไม่สามารถยับยั้งการลักพาได้ เนื่องจากมันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนยืดยาว ซึ่งพวกเขาทำได้เพียงบรรเทาปัญหาลงเท่านั้น

สี่เดือนที่ผ่านมา โทรทัศน์พม่าพยายามรณรงค์ประชาชนไม่ให้เดินทางมายังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งให้คำแนะนำแก่สตรีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลักพา

รัฐมนตรีกิจการภายในของพม่าแถลงว่ารัฐบาลได้ "ปราบปรามผู้กระทำความผิดไปแล้ว 412 ราย" ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2002-มิถุนายน 2004 และสามารถช่วยเหลือสตรีจากการถูกขายไปยังต่างประเทศได้ 1,047 คน"
.........................................................

ที่ผ่านมา มิ เคย์ตำหนิตัวเองต่อฝันร้ายที่เธอเผชิญ ว่าเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่เดินทางมาที่นี่ หากเธอไม่หนีออกจากบ้าน ก็คงไม่เป็นแบบนี้

มิ เคย์ บอกว่าเธอยังรักแฟนเก่าอยู่ แต่ตอนนี้เขาเลิกรักเธอไปแล้ว เพราะร่างกายของเธอมีแต่ความเปรอะเปื้อน

หญิงสาวฝันที่จะเดินทางกลับไปหาครอบครัวที่ย่างกุ้ง แม้ว่าตอนนี้ยังต้องทำงานอยู่ในระนอง
"ฉันยังมีเงินไม่พอ" เธอว่า
(จบ/ลิขสิทธิไอพีเอส)
_____________________

(วิน ไนแห่งสำนักข่าวอมินทิตในเชียงใหม่ เขียนเรื่องนี้ภายใต้โครงการ Our Mekong: A Vision amid Globalisation' fellowship programme, ที่ดำเนินการโดย Inter Press Service Asia-Pacific ซึ่งมีมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เป็นผู้สนับสนุน)

วิน ไน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net