Skip to main content
sharethis

นับตั้งตั้งแต่เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน วันที่ 26 ธันวาคม 2547 จนมาถึงวันนี้ ชุมชนชาวประมงที่ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ ต่างร่วมมือกันระดมพลังเร่งให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูชุมชน เพื่อพลิกผันจากการเป็นผู้รับมาเป็นผู้ที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง กลับคืนสู่วิถีชีวิตของชาวประมง ด้วยศักดิ์ศรี และความภาค
ภูมิใจต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวอันอันต้องพึ่งพิงกับฐานทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง

ณ วันนี้หลายชุมชนได้เร่งดำเนินการสร้าง ซ่อมเครื่องมือประมง ด้วยความจริงอันเป็นสัจธรรมที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ ว่าชุมชนไม่อาจรอรับแต่ความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ตลอดไป จึงผนึกกำลังของคนในชุมชนให้รวมกันเป็นกลุ่มองค์กรต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้าน ,กลุ่มพัฒนาอาชีพต่างๆหรือบางชุมชนก็มีการตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนในชุมชน อันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและพลังที่จะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการยอมรับและความเชื่อมั่นแก่หน่วยงานภายนอกว่าชุมชนมีวามตั้งใจที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูชุมชนอีกทั้งยังก่อให้เกิดองค์กรความร่วมมือของคนในชุมชน ในระยะยาวอีกด้วย

จังหวัดสตูล

ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ดำเนินการตรวจสอบความเสียหายของหมู่บ้านสมาชิกและชุมชนชายฝั่งในจังหวัดสตูล 4 อำเภอ พบชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จากคลื่นยักษ์จำนวน 33 หมู่บ้าน เรือเสียหายในระดับที่ซ่อมแซมได้ 436 ลำ เรือพังเสียหายต้องสร้างใหม่ 21 ลำ เครื่อง ยนต์ 192 ลูก อุปกรณ์ประมง 622 ราย

ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล จะดำเนินการซ่อมแซมเรือและเครื่องยนต์โดยเร่งด่วน เนื่อง จากงบประมาณมีจำกัดในระยะเร่งด่วนจะดำเนินการสร้าง ซ่อม เรือ ตามหมู่บ้านต่างๆ ในเบื้องต้นต้องการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามันจำนวน 1,700,000 (หนึ่งล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน) ซึ่งเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามันสนับ สนุนได้เบื้องต้น 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) และหากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคก็จะสนับสนุนส่วนที่เหลือ

นอกจากนี้ก็ได้มีการจัดตั้งอู่ซ่อมเรือชุมชนใน 2 หมู่บ้านคือ บ้านบ่อเจ็ดลูก และบ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อซ่อมแซมเรือที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องการความช่วยเหลือในการจัดตั้งอู่ซ่อมเรือชุมชนอู่ละ 200,000 (สองแสนบาทถ้วน) รับผิดชอบโดยชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ร่วมกับคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ชาวประมงพื้นบ้านปากบาราและบ้านบ่อเจ็ดลูก

หมู่บ้านที่จะได้รับบริการจากอู่ต่อเรือ ชุมชน ทั้ง 2 อู่ มี จำนวน 16 หมู่บ้าน 5 ตำบล คือ 4 หมู่บ้าน ในตำบลปากน้ำ อำเภอละงู , 3 หมู่บ้าน ตำบลละงู อำเภอละงู , 4 หมู่บ้านในตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า , 3 หมู่บ้านในตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง , และ 2 หมู่บ้านในตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล
จังหวัดตรัง

ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง จากการดำเนินการสำรวจความเสียหายของหมู่บ้านสมาชิกและชุมชนชายฝั่งใน 4 อำเภอ 1 กิ่งพบชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์จำนวน 34 หมู่บ้าน เรือและเครื่องเรือเสียหายในระดับที่ซ่อมแซมได้ 285 ลำ เรือพังหรือสูญหายต้องสร้างใหม่ 22 ลำ กะชัง 666 ห้อง บ้านพัง 34 หลัง อุปกรณ์ประมงได้แก่ไซปู จำนวน 13,365 ลูก อวนปู 2,127 ช่อ ไซปลา 915 ลูก ไซหมึก 7,525 ลูก อวนกุ้ง 929 หัว อวนปลา 3,277 ช่อ

บ้านเกาะมุกด์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จากการสำรวจพบว่ามีบ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย 83 หลัง โดยเสียหายทั้งหลัง จำนวน 31 หลัง เสียหายหนัก - ซ่อมแซมได้ 52 หลังเรือได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากมีเรือที่เสียหายเล็กน้อยสามารถซ่อม
แซมได้ประมาณ 200 กว่าลำ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด พี่น้องที่ได้รับความเสียหายกว่า 20 ครัวเรือน จึงตกลงกันว่า ในระยะเร่งด่วนควรเร่งซ่อมเครื่องมือประมงก่อนเพื่อให้สามารถออกทะเลได้ โดยใช้เรือร่วมกันกับเพื่อนบ้านที่มีเรืออยู่ อันแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมชาวประมงที่ยังมีความเกื้อกูลกันสูง

เบื้องต้นต้องการสนับสนุนงบประมาณ จากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน จำนวน 807,000 บท (แปดแสนเจ็ดพันบาทถ้วน) ซึ่งเครือข่ายสนับสนุนเบื้องต้น 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) แก่ผู้ได้รับความเสียหายจำนวน 268 ราย ลงนามในกลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้านเกาะมุกด์

และมีการจัดตั้งอู่ต่อเรือชุมชนขึ้นมาใช้งบประมาณดำเนินการ ทั้งสิ้น 200,000 บาท(สองแสนบาทถ้วน) หากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคก็จะสนับสนุนส่วนที่เหลือ เพื่อทำการสร้างอู่ต่อเรือชุมชนต่อไป

หมู่บ้านที่ได้รับบริการจากอู่ต่อเรือบ้านเกาะมุกด์ มี 1 หมู่บ้าน ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จำนวนเรือที่ซ่อมสร้าง 77 ลำ

บ้านตะเสะ ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง จากการสำรวจพบว่าเครื่องมือประมงได้รับผลกระทบ 33 ครัวเรือน เรือเสียหาย 15 ลำ เบื้องต้นต้องการสนับสนุนจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน เป็นจำนวนเงิน 209,000 บาท (สองแสนเก้าพันบาทถ้วน ) ลงนามในกลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้านตะเส๊ะ เพื่อนำไปซ่อมแซมเรือ และได้จัดซื้อเครื่องเรือ V3 จำนวน 3 เครื่อง ซึ่งเครือข่ายฯได้ดำเนินการสนับสนุนไปแล้ว

บ้านนาชุมเห็ด ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลตะเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง จากการสำรวจพบผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 29 ราย เรือได้รับความเสียหาย จำนวน 13 ลำ เบื้องต้นต้องการสนับสนุนจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน เป็นจำนวนเงิน 65,370 บาท (หกหมื่นห้าพันสามร้อยเจ็ดสิบบาทถ้วน) และเครือข่ายสนับสนุนเบื้องต้น 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) โดยลงนามในกลุ่มพัฒนาอาชีพท้องถิ่น นาชุมเห็ด เพื่อนำไปซ่อมแซมเรือและเครื่องยนต์ ต่อไป

บ้านบาตูปูเต๊ะ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จากการสำรวจพบว่า มีเรือได้รับความเสียหายจำนวน 90 ลำ แต่ในเบื้องต้นเร่งดำเนินการสร้างซ่อมเรือจำนวน 24 ลำก่อน โดยต้องการสนับสนุนจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน จำนวน 360,000 บาท (สามแสนหกหมื่นบาทถ้วน) ลงนามในกลุ่มออมทรัพย์บ้านบาตูปูเต๊ะ เพื่อนำไปใช้ในการจัดซื้อไม้สำหรับสร้าง ซ่อมเรือ เพราะซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการซ่อมเครื่องเรือไปเรียบร้อยแล้วโดยได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท ยันมาร์ ในการส่งศูนย์ซ่อมเคลื่อนที่ลงไปในชุมชน

และทางกลุ่มออมทรัพย์บ้านบาตูปูเต๊ะ ได้จัดตั้งอู่ซ่อมเรือชุมชนขึ้นเพื่อร่วมกันซ่อมแซมเรือที่ได้รับความเสียหายทั้งในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง โดยได้รับการสนับสนุนจากงานประมูลวาดภาพมูลนิธิ 14 ตุลา จำนวน 150, 000 (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) หากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคก็จะสนับสนุนส่วนที่เหลือ

หมู่บ้านที่ได้รับบริการจากอู่ต่อเรือบ้านบาตูปูเตะ คือจำนวน 6 หมู่บ้าน 2 ตำบล คือ 5 หมู่บ้าน ตำบลเกาะลิบง อ.กันตัง จังหวัดตรัง และ 1 หมู่บ้าน ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง จำนวนเรือที่ซ่อมสร้าง 119 ลำ

จังหวัดกระบี่

บ้านสังกะอู้ อยู่ในเขตการปกครอง หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 85 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 500 กว่าคน เป็นชาวเลชนเผ่าอุรักลาโว้ย

บ้านสังกะอู้ ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมง จำนวน 78 ครัวเรือน มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ คลื่นยักษ์ถล่ม จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีเรือเสียหายทั้งหมด 73 ลำ สูญหาย 3 ลำ และไม่ได้รับผลกระทบ 1 ลำ บ้านพังทั้งหลัง 14 หลัง นอกจากนั้นก็ได้รับความเสียหายบางส่วน สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านประเภทเครื่องนอนและเครื่องใช้ไฟฟ้า เสียหายเกือบทั้งหมด
ชาวบ้านกำลังจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อบริหารจัดการความช่วยเหลือ การซ่อมแซมเรือ และการฟื้นฟูชุมชนในระยะยาว เรือที่เสียหายใช้เครื่องยนต์ยันมาร์ 67 ลำ

ความช่วยเหลือเร่งด่วนคือการซื้อไม้ ซ่อมแซมเรือและเครื่องยนต์ โดยต้องการสนับสนุนจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน จำนวน 40,000 บาท(สี่หมื่นบาทถ้วน) ซึ่งเครือข่ายสนับสนุนเบื้องต้น 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน ) หากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคก็จะสนับสนุนส่วนที่เหลือ และได้มีโครงการจัดตั้งอยู่ต่อเรือชุมชน ใช้งบประมาณ 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) บริการซ่อมสร้างเรือ จำนวนประมาณ 100 ลำ 2 หมู่บ้าน ในตำบลเกาะลันตาใหญ่ หากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคก็จะสนับสนุนส่วนที่เหลือ ต่อไป

บ้านเกาะปู เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เป็นหมู่บ้าน หนึ่งในจำนวน 3 หมู่บ้านบนเกาะปู (บ้านเกาะปู หมู่ที่ 2, บ้านเกาะจำหมู่ที่ 3, และบ้านติงไหร หมู่ที่ 5 ) จากการสำรวจพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่ม จำนวน 53 ครัวเรือน ประเมินแล้วพบความเสียหายในระดับค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากมีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย อันบ้านเรือนพังทั้งหมด 14หลัง โดยพังทั้งหลังจำนวน 1 หลัง และพังบางส่วน จำนวน 13 หลัง ทรัพย์สินภายในบ้านได้รับความเสียหายจำนวน 3 หลัง เครื่องปั่นไฟเสียหาย 1 เครื่อง

ในส่วนของเครื่องมือประมงพบว่ามีจำนวนเรือเสียหายทั้งสิ้น 50 ลำ เป็นเรือที่เสียหายบางส่วนจำนวน 3 ลำ เสียหายเฉพาะเครื่องยนต์ 1 ลำ เรือที่เสียหายใช้เครื่องยนต์ยันมาร์ จำนวน 41 ลำ และเครื่องยนต์ฮอนด้า จำนวน 9 ลำ ส่วนกระชังปลาได้รับความเสียหาย 1 ราย

ความช่วยเหลือเร่งด่วนคือการซ่อมแซมเรือและเครื่องยนต์ สำหรับเครื่องยนต์หน่วยงานจากภายนอกเข้าไปช่วยซ่อมแซมให้แล้ว และต้องการสนับสนุนจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน จำนวน 1,207,100 บาท ( หนึ่งล้านสองแสนเจ็ดพันหนึ่งร้อยบาทถ้วน) โดยลงนามในกลุ่มออมทรัพย์ฟื้นฟูทะเลไทย

นอกจากนั้นก็ได้มีการจัดตั้งอู่ต่อเรือชุมชนขึ้นมา 1 อู่ ใช้งบประมาณดำเนินการ 200, 000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) บริการซ่อมสร้างเรือ จำนวนประมาณ 47 ลำ ในเบื้องต้น

หมู่บ้านที่ได้รับบริการ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านเกาะจำ, บ้านเกาะปู และบ้านติงไหร ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

บ้านคลองเตาะ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จ.กระบี่ กลุ่มประมงพื้น
บ้านคลองเตาะ ซึ่งเป็นกลุ่มประมงที่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการทำมาหากินบนเกาะไม้ไผ่ ซึ่งเกิดขึ้นจากชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก จากพื้นที่บ้านคลองเตาะและพื้นที่ใกล้เคียงในตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไซหมึก อวนปู อวนปลา ในบริเวณอ่าวพังงา ท้องทะเลอันดามัน มาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีคลื่นลม ก็อาศัยใช้เกาะไม้ไผ่เป็นที่หลบภัยและได้ใช้เป็นที่พักพิงสำหรับทำประมงมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งกับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ และทางอุทยานฯได้ทำ

การรุก ไล่ ชาวบ้านในพื้นที่ให้ทำการรื้อถอนที่พักอยู่อาศัยและห้ามเข้ามาพักอาศัยอีกต่อไป โดยอ้างเหตุผลความสกปรก ทำลายทัศนีย์ภาพ และเป็นภาพลบต่อการท่องเที่ยว

กระทั่งในวันศุกร์ ที่ 3 พฤษภาคม 2545 กระท่อมที่พักของชาวประมงพื้นบ้าน ได้ถูกนายอำเภอเมืองกระบี่ ข้าราชการและ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประมาณ150 คน บุกเข้าเผาทำลายกระท่อม รวม ทั้งอุปกรณ์ทำประมง ที่อยู่ในที่พักทั้งหมด42 หลัง ท่ามกลางผู้หญิงและเด็ก ณ เกาะไม้ไผ่ ทำให้ชาวบ้านในตำบลเกะศรีบ่อยา ลุกขึ้นมารวมตัวกันต่อสู้และได้มีการเจรจาต่อรองในเรื่องนี้หลายครั้ง ซึ่งล่าสุดชาวบ้านได้กลับเข้าไปพักพิงเพื่อทำการประมงเหมือนเดิม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มในครั้งนี้

จากการสำรวจความเสียหายจากกรณีคลื่นยักษ์ถล่ม พบเรือเสียหาย 13 ลำ เสียหายเล็กน้อยและชุมชนดำเนินการซ่อมแซมเองจำนวน 9 ลำ เสียหายหนักต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบเงินยืม เพื่อสร้าง ซ่อม เรือ และจัดหาอุปกรณ์ประมง และต้องการสนับสนุนจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามันจำนวน 88,500บาท ( แปดหมื่นแปดพันห้าร้อยบาทถ้วน ) ลงนามในกลุ่มประมงพื้นบ้านคลองเตาะ เกาะไม้ไผ่ สำหรับซ่อมเครื่องเรือ จำนวน 20, 000 บาท , ซ่อมเรือ 42,000 บาท , จัดซื้อเครื่องกว้านไซหมึก 20,500 บาท ,และจัดทำไซ 6,000 บาท ซึ่งได้รับการอนุมัติจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน เรียบร้อยแล้ว

จังหวัดภูเก็ต

1. ชุมชนเผ่าอุรักลาโว้ยและมอร์แกน ที่บ้านราไวย์ จากการสำรวจความเสียหายพบว่า เรือในหมู่บ้านมี 62 ลำ พังและสูญหายต้องสร้างใหม่ 9 ลำ เสียหายต้องซ่อมหนัก 18 ลำ เสียหายซ่อม แซมเล็กน้อย 35 ลำ ช่างเครื่องเรือจากเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงาเดินทางมาช่วยซ่อมแซมเครื่องเรือให้จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของการซ่อมสร้างเรือ และจัดสร้างเรือใหม่ เริ่มตั้งแต่ในวันที่ 12 มกราคม 2548 โดยช่างต่อเรือจากชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง จำนวน 8 คน

งบประมาณการสร้างและซ่อมเรือเบื้องต้น ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ซึ่งเป็นองค์ในเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชน ชายฝั่งอันดามัน จำนวน 250,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

2. ชนเผ่าอุรักลาโว้ย บ้านสิเหร่ จากการสำรวจความเสียหายพบว่า เรือทั้งหมด 47 ลำ เสีย หายทั้งหมด บ้านเรือนเสียหาย 36 หลัง ต้องซ่อมหนัก 9 หลัง ซ่อมปานกลาง 27 หลัง ปัจจุบันอยู่ในระยะซ่อมแซมบ้าน ยังไม่ได้ซ่อมแซมเรือ ช่างเครื่องเรือจากเกาะยาวน้อยไปช่วยซ่อมเครื่องเรือให้ ในเบื้องต้นต้องการงบประมาณสนับสนุน ซ่อมบ้านอย่างเร่งด่วนจำนวน 250,000 บาท ( สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน ) สนับสนุนโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)

สำหรับชุมชนที่เหลืออยู่ในระหว่างการจัดตั้งกลุ่มคณะกรรมการ ในชุมชนที่บ้านพังทั้งหมู่บ้าน กำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจที่จะจัดตั้งชุมชนใหม่

ชุมชนที่กำลังซ่อมแซมสร้างเรือ กอบกู้ศักดิ์ศรีของชาวประมงพื้นบ้าน ยืนหยัดให้กลับสู่วิถีชีวิตที่สงบ เฉกเช่นอดีตที่ผ่านมา ควรได้รับการสนับสนุนในเรื่องข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อให้สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการซ่อมแซมเรือและเครื่องมือประมงที่เสียหายให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องปากท้องของคนในครอบครัว เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติจากภัยพิบัติธรรมชาติที่ไม่เคยประ สบมาก่อนนี้ไปได้ด้วยดี

เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน
ศูนย์ประสานงาน : กองเลขานุการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
เลขที่ 8/3 ถนนโคกขัน ตำลบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัด ตรัง 92000
โทรศัพท์/โทรสาร 0-7521-2414 E-mail : samapantrang@hotmail.com
16 มกราคม 2548

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net