Skip to main content
sharethis

ภายหลังจากอุบัติเหตุรถไฟใต้ดินชนกันที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เมื่อเวลาประมาณ 9.20 น.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุดังกล่าวต้องใช้เวลาเกือบถึง 14.00 น. จึงจะเป็นที่ยุติว่า เกิดจากรถไฟเที่ยวเปล่าซึ่งกำลังรอการเข้าประกบจากรถไฟอีกขบวนหนึ่งเพื่อลากเข้าสู่อู่ซ่อมที่โรงซ่อมพระรามเก้า แต่ผู้ขับไม่สามารถบังคับรถให้ต่อกันได้พร้อมกับมีการปลดเบรกมือทำให้รถลื่นไหลมาชนกับรถไฟฟ้าอีกขบวนที่วิ่งอยู่ในราง

"ขณะที่รถต่อเชื่อมกันไม่ได้ พนักงานขับรถได้ปลดเบรกด้วยมือ หวังที่จะให้รถที่เข้ามาช่วยผลักรถที่ค้างอยู่ไปเชื่อมสะพานไฟด้านหลัง แต่ปรากฏว่า พอปล่อยเบรกมือ รถจึงไหลจากเนินที่สูงประมาณ 2 เมตร ต่ำลงไปในอุโมงค์ด้านล่างที่ลึก 20 เมตร ทำให้รถที่มีความเร็ว และน้ำหนักมาก จึงพุ่งชนรถไฟฟ้าขบวนปกติ ที่จอดอยู่ในสถานี และมีผู้โดยสารอยู่ในขบวน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เนื่องจากแรงกระแทกจำนวนมาก โดยพนักงานขับรถได้รับบาดเจ็บขาหักทั้งสองข้าง ผู้โดยสารส่วนใหญ่บาดเจ็บเล็กน้อย อาการไม่สาหัส" นายกฯ กล่าว(รายงานโดยผู้จัดการออนไลน์ เวลา 20.54 น.)

ข้อเท็จจริงที่ถูกอธิบายสร้างคำถามถึงความแตกต่างของคำตอบภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง

ความเปลี่ยนแปลงระหว่างเวลา 11.00 น.-14.00น.

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากระบบสัญญาณการควบคุมของคอมพิวเตอร์ขัดข้องและสัญญาณขาดหายไปบางช่วงจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

เวลา 14.00 น. "นายประภัทร์ จงสงวน กล่าวโดยที่สาหัสที่สุดคือคนขับรถเปล่า ส่วนในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการเดินรถนั้นเจ้าหน้าที่ยืนยันเบื้องต้นว่าไม่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์" (รายงานโดยสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น)

ความบกพร่องที่นำไปสู่อุบัติเหตุเปลี่ยนจาก "ระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง" เมื่อเวลา 11.00 น. เป็น "Human Error" ในเวลา14.00 น.

เวลา 19.51 น."มันชุ่ยน่ะ เพราะว่าความจริงแล้วการปลดเบรกเป็นเรื่องที่เขาไม่ค่อยจะทำกัน อย่างนี้เป็นการจะไปปลดเบรกเพื่อให้รถมันล็อคกันให้ได้เพื่อให้รถที่จะมาช่วยพาไปจูงไป " สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี

ความแตกต่างระหว่างเวลา 11.00 น. - 14.00 น. ทำให้เกิดคำถามว่า ระหว่างความผิดพลาดจากระบบควบคุมซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ กับความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นมนุษย์ ส่งผลที่แตกต่างอย่างไรหรือไม่ และหากมีผลแตกต่างจะส่งผลต่ออะไรบ้าง

ทั้งนี้ คำให้สัมภาษณ์ของนายประภัทร์ ซึ่งในครั้งแรกกล่าวว่ามีความบกพร่องในระบบควบคุม รวมถึงยังมีรายงานข่าวของหลายสำนักข่าวในช่วงเช้าว่าสัญญาณสื่อสารระหว่างรถไฟฟ้ากับศูนย์ควบคุมขาดหายไป แต่ในช่วงบ่าย ประเด็นดังกล่าวหายไปจากการนำเสนอข่าวของทุกสำนัก โดยนายประภัทร์อธิบายว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมระบบ และคนขับรถไฟฟ้าเนื่องจากการปลดเบรกมือระหว่างทำการเชื่อมต่อขบวนรถเพื่อกลับสู่โรงซ่อมพระรามเก้า

อาจเป็นธรรมดาของการข่าวที่อาจจะมีความคลาดเคลื่อนในช่วงแรกก็ได้ เพราะการอธิบายในภายหลังมีการนำเสนอพร้อมภาพโทรทัศน์วงจรปิดแสดงเหตุการณ์ก่อนเกิดอุบัติเหตุประกอบ

แต่หากไม่ใช่ความคลาดเคลื่อนของข่าว ความบกพร่องจากคนกับความบกพร่องจากระบบน่าจะส่งผลที่แตกต่างกันอยู่มากพอสมควร อย่างน้อยที่สุด ผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดในกรณีนี้ และแนวทางการแก้ปัญหา ย่อมแตกต่างกัน

มนุษย์คือส่วนหนึ่งของระบบ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความผิดพลาดจากมนุษย์จะช่วยลดทอนความความล้มเหลวในการระบบความปลอดภัยได้จริงหรือไม่ คิดว่า ไม่มีผลแตกต่างต่อความรู้สึกว่า ระบบขนส่งรถไฟฟ้าใต้ดินยังขาดความรัดกุม ยิ่งมีคำอธิบายเกี่ยวกับความบกพร่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการออกมามากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นความบกพร่องมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะระบบที่มีช่องโหว่กระทั่งมนุษย์ในระบบก่อความเสีย
หายอย่างรุนแรงได้ ไม่น่าเกิดขึ้นในเทคโนโลยียานยนต์ที่ทันสมัยอย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน

เพราะที่สุดแล้ว ไม่ว่าความบกพร่องจะเกิดขึ้นจากมนุษย์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ก็ตาม ทั้งมนุษย์และคอมพิวเตอร์นั้นล้วนเป็นองค์ประกอบซึ่งกันและกัน และนั่น หมายถึงระบบซึ่งต้องดูแลชีวิตผู้โดยสารวันละกว่า 100,000 คน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net