Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"น้ำตาของสาวน้อย" คือสิ่งที่ทำให้ใจฉันอ่อนยวบ

เธอบอกกับฉันว่า "แม่พูดเหมือนหนูกำลังจะปล่อยตัว ทำอะไรไม่ดี ปล่อยให้ท้องก่อนแต่ง หนูไม่ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว แม่บอกว่าเข้าใจหนู จริงๆแล้วแม่ไม่เข้าใจหนูเลย"

คำบอกเล่าจากสาวรุ่นคนหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงวาทกรรมคร่ำคร่าที่ว่า "ลูกแม่ แม่เบ่งของแม่ออกมา แม่ย่อมรู้จักและเข้าใจลูกของแม่ดีที่สุด" ซึ่งมักจะมีพลังสยบเหนือสิ่งอื่นใด

ทว่าวาทกรรมนี้เป็นความจริงเพียงใด "แม่ต้องรู้จักลูกตัวเองดีที่สุด" หรือ???

ในช่วงสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ สวนดุสิตโพลล์สอบถามถึงความหนักใจของพ่อแม่ที่มีลูกอายุ ๕-๑๕ ปี จำนวน ๑,๒๑๘ คน พบว่า อันดับหนึ่งคือการที่ลูกชายและลูกสาวเอาแต่ใจตนเอง/ดื้อ/เกเร รองลงมาคือ ไม่เชื่อฟัง, ไม่เคารพพ่อแม่/ชอบเถียง คะแนนความหนักใจนี้สูงถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์

ใกล้เคียงกับเอแบคโพลล์ สอบถามเด็กวัย ๑๑-๑๗ ปีในกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน ๑,๑๔๔ คน เด็กๆ ๔๔.๙ เปอร์เซ็นต์บอกว่า "ผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ชอบเอาแต่ใจตัวเอง"

ดูเหมือนช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่จะถ่างห่างออกทุกที

การที่ต่างฝ่ายมองว่า อีกฝ่ายเอาแต่ใจตัว นำมาสู่คำถามที่ว่า เรา "รู้จัก" และ "เข้าใจ" การกระทำของอีกฝ่ายมากน้อยเพียงใด

เป็นไปได้ไหม ที่เราอาจเริ่มต้นจากการยอมรับ "ความไม่รู้" ของเรา โดยสลัดทิ้งอัตตาแห่งความเป็นผู้ใหญ่ ผู้ผ่านน้ำร้อน และผู้ให้กำเนิด แล้วเริ่มต้นเรียนรู้ที่จะเข้าใจ ยอมรับความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของเด็กๆ

ขั้นต่อไป อาจจะต้องสื่อสารความรู้สึก ความคิดที่อาจจะไม่เหมือนกัน โดยการสื่อสารที่ค่อนข้างปลอดภัย คือการสื่อสารด้วย "I Message" บอกว่า "ฉัน" คิด รู้สึก และเลือกทำอย่างไร แทนที่จะพูดว่า "เธอ…อย่างนั้น อย่างนี้" เพราะเราไม่อาจ หรือไม่ควรคิดแทนใคร

ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือการ "ฟังให้ได้ ฟังให้เป็น"

สุดท้ายมีหนึ่งใน "แปดสิ่งที่วัยรุ่นจะไม่พูดให้พ่อแม่ฟัง แต่จะคุยกับเพื่อนมากกว่า" มาฝากให้ผู้ใหญ่ได้คิดล่วงหน้าว่า ถ้าวันหนึ่งเขามาพูดกับเราจริงๆ เราจะฟังหรือมีปฏิกิริยาอย่างไร ถ้าเขาบอกว่า... หนูคิดถึงเรื่องเซ็กส์...บ่อยซะด้วย เพราะนี่คือหัวข้ออันดับหนึ่งในเรื่องที่วัยรุ่นเลือกคุยกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่

ถ้าเราประดักประเดิด ไม่พร้อมที่จะคุยกับลูกในเรื่องนี้ อย่าฝืน อย่าแสดงว่ารู้ดี (เพราะมีพ่อแม่จำนวนมากที่ไม่รู้) เพียงเปิดใจ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องน่าอายเหลือเกินที่ลูกเราจะสนใจเรื่องเซ็กส์ เท่านั้นก็เป็นการปูพื้นฐานทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจในการที่แสวงหาข้อมูล คิดอย่างรอบด้าน

จีรนุช เปรมชัยพร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net