Skip to main content
sharethis

นโยบายการส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กำลังอยู่ในช่วงอัตราเร่งของการพัฒนาในเชิงกายภาพ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ในหลาย ๆ ส่วน ทั้งงานปรับปรุงขยายอาคารผู้โดยสาร งานปรับปรุงขยายทางขับและลานจอดอากาศยาน งานปรับปรุงขยายอาคารคลังสินค้า งานก่อสร้างระบบเติมน้ำมันทางท่อ ฯลฯ

รวมถึงงานขยายความยาวทางวิ่ง ทางขับ (Runway) ด้านทิศเหนือเพิ่มอีก 300 เมตร จากเดิมความยาว 3,100 เมตร เพื่อให้มีศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งกรณีดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการชี้ประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศและเสียง ที่จะกระทบต่อชาวบ้านในละแวกนั้น

รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบนี้มาอย่างยาวนาน แม้ว่าผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีข้อสรุปยืนยันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับต่ำมาก

ทั้งนี้ ในการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ กรณีขยายความยาวทางวิ่ง 3,400 เมตร จัดโดยบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด (SEATEC) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน

ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่าไม่ต้องการให้มีการขยายสนามบินเพราะหากมีเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น จะเป็นอันตรายทั้งทางด้านเสียง มลพิษ และอุบัติเหตุ เนื่องจากอยู่ใกล้กับตัวเมือง รวมทั้งมีการเสนอให้นำงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ในการขยายรันเวย์ ไปศึกษาหาสถานที่เพื่อก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ จะดีและเหมาะสมมากกว่า

ดร.วสันต์ จอมภักดี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การขยายรันเวย์เพิ่มอีก 300 เมตร ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าคุ้มกันหรือไม่กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสนามบิน ซึ่งปัจจุบันมลพิษทางเสียงและอากาศโดยรอบก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ทางเลือกที่ดีที่สุดคือควรเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้เรื่องการสร้างสนามบินแห่งใหม่

นายจักรภพ จรัสศรี ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด ซึ่งได้รับการว่าจ้างจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ในการศึกษาถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และโครงการของส่วนราชการด้านคมนาคม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2547 โดยมีมติเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการ กรณีที่ 1 คือการขยายความยาวทางวิ่งไปทางทิศเหนือ 300 ม. จากปัจจุบันที่มีความยาว 3,100 เมตร เป็น 3,400 เมตรนั้น และได้มีคำสั่งให้มาระดมความคิดเห็นประชาชนที่อยู่ทางด้านทิศเหนือว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ทั้งยังต้องการฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนในกรณีการสร้างสนามบินแห่งใหม่

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุม ทางบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมไปพิจารณาปรับปรุงเพื่อกำหนด มาตรการการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมและมีความชัดเจนในทางปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ และจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จะประชุมอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2548

นายจักรภพ กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบของการพัฒนาโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้างและดำเนินการ การขยายความยาวทางวิ่งด้านทิศเหนือ 300 เมตร ให้มีความยาวเป็น 3,400 เมตร นั้น เป็นกรณีที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากร และคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 3 กรณีที่มีการเสนอ

นอกจากนี้การขยายรันเวย์ระยะ 300 เมตรดังกล่าวอยู่ในเขตของทหาร ไม่มีที่ดินของเอกชน รวมทั้งไม่ต้องมีการปิดถนนและสร้างทางเบี่ยง ไม่ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนในระดับที่สูง อีกทั้งประชาชนกว่าร้อยละ 50 ก็เห็นด้วยกับการก่อสร้างบริเวณนี้แล้ว ยังไม่มีความจำเป็นต้องมีการขยายเขตปลอดภัยในการเดินอากาศอีกด้วย
สำหรับปัญหาด้านเสียงและสิ่งแวดล้อม ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงหากมีการเพิ่มเที่ยวบิน และอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบ เพราะทันทีที่มีการก่อสร้างก็จะมีทีมลงไปสำรวจถึงผลกระทบทางด้านเสียงในพื้นที่เป้าหมายกว่า 1,000 จุด รวมทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ว่าอาคารสามารถลดความเสียงดังของเสียงได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐานก็จะมีการเสนอแนะให้ปรับปรุงต่อไป

นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ กล่าวว่า จากรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวด
ล้อมของบริษัทที่ปรึกษา กรณีขยายรันเวย์เพิ่มอีก 300 เมตร โดยส่วนตัวเห็นว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะโครงการนี้เป็นการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินของจังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งเมื่อขยายแล้วก็จะสามารถบรรทุกน้ำหนักการขนส่งสินค้าทางอากาศได้เพิ่มมากขึ้น เพราะการเป็นฮับไม่ควรมุ่งเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวเพียงด้านเดียว ส่วนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกรงว่าหากมีการขยายรันเวย์ เข้ามาใกล้กับมหาวิทยาลัยแล้วจะทำให้ส่งผลกระทบต่อนักศึกษา และอาจารย์นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบมากขนาดนั้น เพราะส่วนใหญ่แล้ว เครื่องบินจะขึ้นและลงทางทิศใต้มากว่าทางทิศเหนือ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคต จะต้องมีการหาพื้นที่เพื่อสร้างสนามบินแห่งใหม่อย่างแน่นอน เพื่อรองรับการเติบโตของจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางบินของภูมิภาคด้วย ซึ่งหากจะขยายพื้นที่เดิมอีกคงจะไม่ได้อย่างแน่นอน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการสร้างสนามบินแห่งใหม่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก็มีแผนที่จะศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีอย่างแน่นอน.

คนเชียงใหม่เชียร์สนามบินใหม่ รายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net