Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 13 ม.ค.48 องค์กรเพื่อนของโลก(Friends of the Eath) ออกมาชี้ว่าความเสียหายจากภัยซึนามิในแถบมหาสมุทรอินเดียที่เพิ่งผ่านไปจะน้อยลงกว่านี้ ถ้ามีสภาพธรรมชาติเป็นมาช่วยกันภัย เช่น ป่าโกงกางและแนวปะการัง ซึ่งเรียกว่าเป็นสายเขียวนิรภัยของชายฝั่ง ( coastral greenbelt) ดังจะเห็นได้จากความเสียหายที่ลดลงและยังช่วยชีวิตผู้คนไว้นับพันในมาเลเซียและศรีลังกา องค์กรเพื่อนของโลกจึงเสนอว่าการรักษาสภาพธรรมชาติคือทางออกเดียวในระยะยาวที่สร้างตัวกันภัยเพื่อช่วยพิทักษ์ประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งให้ปลอดภัยจากคลื่นยักษ์ในอนาคต

นายมีนา รามัน ประธานขององค์กรเพื่อนของโลกกล่าวว่า "สิ่งที่เห็นจากวิกฤติการณ์ซึนามิคือพื้นที่ที่ยังมีธรรมชาติเหลืออยู่มากจะไม่ทุกข์ทรมานเท่ากับพื้นที่ที่มีธรรมชาติเหลือน้อย" พร้อมกันนี้เขายังได้ยกตัวอย่างพื้นที่ที่ถูกโจมตีหนักอย่าง ประเทศไทย ซึ่งมีโรงแรม, ฟาร์มกุ้ง ถนนบ้านและสถานประกอบการธุรกิจมากมายตลอดแนวชายฝั่ง โดยไม่มีป่าโกงกางที่จะช่วยคุ้มภัย

ขณะที่นายเอ็ดเวิร์ด บารบีเอร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยไวโอมิ่ง ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาปัญหาด้านทรัพยากรในประเทศกำลังพัฒนามากว่า 20 ปี ได้ระบุเพิ่มเติมด้วยว่าการขยายตัวอย่างมากของเศรษฐกิจในประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ.1960 ได้ทำลายป่าโกงกางของประเทศไทยไปกว่าครึ่ง ซึ่งทำให้แทนที่จะมีชั้นป้องกันไว้บ้างกลับต้องรับกับความรุนแรงของกระแสคลื่นยักษ์เต็มๆ

"แม้ว่าระบบนิเวศน์ในธรรมชาติจะไม่สามารถป้องกันการเกิดคลื่นซึนามิ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยลดความสูญเสียมหาศาลให้ลดน้อยลงได้" ทัศนะที่นายบาร์บีเอร์ทิ้งท้ายไว้ให้คิด

(ข้อมูลจาก "Coastal Greenbelts as Tsunami Lifesavers" , The Environment Magazine)

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net