Skip to main content
sharethis

ประชาไท-11 ธ.ค.48 นางสาวปรานม สมวงศ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์(MAP) กล่าวว่าจากการที่ตนเดินทางลงไปในพื้นที่ อ.เขาหลัก จ.พังงา ขณะนี้พบว่าปัญหาหลักในเรื่องแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์คือ ประเทศไทยปฏิเสธการพิสูจน์สถานภาพของแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานราชการลงมาดูแลในเรื่องนี้เลย

โดยวันนี้ตนได้พยายามประสานงานกับจัดหางานจังหวัดพังงาให้ลงมาตั้งสำนักงานชั่วคราวในพื้นที่เพื่อให้คนงานมาร้องเรียนในเรื่องเอกสารที่สูญหายและทำการพิสูจน์ต่อไป แต่ทางจัดหางานฯแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการในพื้นที่ได้เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหากับทางอำเภอและนายจ้าง แต่ให้นายจ้างไปติดต่อที่สำนักงานโดยตรงพร้อมจะช่วย ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้เป็นเรื่องยากมากในการเข้าถึงคนงาน

"สิ่งที่เกิดตอนนี้เป็นการทำลายระบบการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่เพิ่งทำมาในช่วงไม่กี่เดือนนี้ เพราะทุกคนปฏิเสธพื้นที่ที่จะให้เขายืน กลายเป็นกลุ่มคนที่ประสบภัยแต่ไม่ได้รับการดูแล แต่มีทั้งตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ตำรวจ และตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) เขาไม่สนใจถ้าพบคนงานก็กวาดจับทุกวันโดยไม่มีการพิสูจน์ใดๆทั้งสิ้น ตอนนี้เราเองไม่มีช่องทางช่วยได้เลย โดยกำลังพยายามประสานกับกระทรวงมหาดไทยให้ระงับการส่งกลับในช่วงนี้ก่อนแต่ยังไม่คืบหน้า "ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อสุขภาพฯ กล่าว

นางสาวปรานม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กระแสในพื้นที่ในเรื่องแรงงานข้ามชาติแรงมาก แม้แต่ทางเต็นท์อำนวยการของรัฐที่เราพยายามขอให้มีศูนย์รับแจ้งของแรงงานข้ามชาติเขาบอกว่ากลัวชาวบ้านประท้วง ภาพของคนงานคือกลุ่มที่ขโมยของ แต่ก็มีคนงานที่เล่าให้เราฟังว่ามีตำรวจนำของมายัดให้เขาแล้วมาถ่ายรูปก่อนจะเอาของบริจาคคืน ขณะที่คนงานข้ามชาติบางส่วนเองก็ถูกขโมยทรัพย์สินด้วย กลายเป็นช่องทางให้ไทยไม่รับผิดชอบ เมื่อมองว่าเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาก็กวาดจับและส่งกลับ ทั้งๆที่รัฐควรเปิดช่องให้หลายองค์กรลงไปประสานและมองว่าแรงงานข้ามชาติก็เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการเยียวยา

เฉพาะที่พังงามีแรงงานข้ามชาติไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ประมาณ 3 หมื่นคน แต่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานเพียง 2 หมื่นคน ตอนนี้เราพบว่าที่ถูกส่งกลับมี 1,000-1,500 คน ที่พบอยู่ตอนนี้ประมาณ 3,000 คน ดังนั้นมีที่ยังหาไม่พบถึง 27,000 คน ซึ่งหากหน่วยงานรัฐไม่ลงมาจัดการตนและคณะอาจต้องติดต่อกับตม.โดยตรงเพื่อขอไปสัมภาษณ์คนงานเก็บข้อมูลมาช่วยในการพิสูจน์สถานะหากได้รับอนุญาต เพื่อให้สามารถทำอะไรได้บ้าง

ด้านนายนัสเซอร์ อาจวาริน ผู้ประสานงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.) กล่าวว่าตนและเจ้าหน้าที่ของกรพ.ได้ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดระนองและพังงา ระหว่างวันที่ 7 - 9 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าแรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบรุนแรงในพื้นที่ 2 จุด ที่ควรได้รับความช่วยเหลือโดยด่วน คือที่บ้านเขาหลัก และ บ้านน้ำเค็ม ในเขต อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ตนจะเดินทางไปให้ข้อมูลดังกล่าวกับกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net