Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 6 ม.ค.48 ทีมสื่อสารสาธารณะ โครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สภาเยาวชน กรุงเทพมหานคร และวิทยาลัยจัดการทางสังคม (วจส.) จับมือ รวมพลังเด็ก (ที่เขาว่า) เลว ตลอดทั้งปี 2547 ที่ผ่านมา โดยจัดเสวนาเนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปีนี้ ในหัวข้อ " วันเด็ก (ที่เขาว่า) เลว " โดยจะมีบรรดาเด็กที่ถูกติดฉลากทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็น " เด็กไม่รักเรียน" " เด็กพั้งค์" " เด็กแก๊งค์" " เด็กชอบความรุนแรง" " เด็กเที่ยว" " เด็กมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม" " เด็กขายบริการ" " เด็กติดเกมส์" " เด็กที่ไม่รักนวลสงวนตัว" ฯลฯ มาร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวิถีชีวิตที่สังคมไม่เคยได้รับรู้ โดยเฉพาะวิธีคิดของเด็กกลุ่มนี้ว่าเขาคิดอะไร เขาต้องการอะไร

น้องเอ (นามสมมุติ) ในฐานะ " เด็กนักเรียนขายตัว" กล่าวว่า " ตัวเองอ่านข่าวที่ตีพิมพ์งานวิจัยที่ระบุว่า เด็กขายตัวเป็นปัญหาสังคม

"โอเค ดิฉันอาจจะเป็นปัญหาสังคม แต่ถามว่า มันเป็นปัญหาของใครกันแน่ และจุดยืนของนักวิจัยเหล่านั้น มาจากจุดยืนของพวกคอนเซอร์เวทีฟ ที่ยึดติดกับมุมมองจริยธรรมทางเพศด้านเดียว โดยไม่มองให้เห็นว่า บริบทของเด็กที่มาขายตัว เขาเป็นอย่างไร จะไม่ให้คนมันขายตัวได้อย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น สื่อก็โหมกระหน่ำโฆษณามือถือ รุ่นนั้น รุ่นนี้ ดิฉันไม่ใช่พระอิฐพระปูน ถึงจะอดทนไม่อยากจะได้ ไม่อยากจะมี แล้วพอพูดแบบนี้ เดี๋ยวก็คงหาว่า เด็กไม่มีวุฒิภาวะ"

ด้านนายญาณังกูร แซ่เล้า ผู้ประสานงานการจัดงานครั้งนี้กล่าวว่า " เราเพียงแต่ต้องการเปิดพื้นที่และช่วงชิงพื้นที่เพื่อสร้างและสะท้อนเสียงของ เด็ก (ที่เขาว่า) เลว เพราะในรอบปีที่ผ่านมา เด็กเหล่านี้ ไม่มีโอกาสได้พูดอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงวัตถุในการศึกษา ของนักวิจัยเรื่องเด็กที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น"

ต่อประเด็นเรื่องว่า " เด็ก (ที่เขาว่า) เลว" มีความหมายอย่างไร เรื่องนี้ ทางผู้จัดงานครั้งนี้กล่าวว่า " เด็กที่ไม่ถูกใจผู้ใหญ่ ไม่ตรงกับกรอบบรรทัดฐานทางสังคม ที่สำคัญคือ เด็กที่ถูกบอกว่า " เลว" เหล่านี้ เลวจริงหรือ?

" ในครั้งนี้น้องๆ และเราเองตั้งใจที่จะมีโครงการต่อเนื่องจากงานนี้ คือ โครงการเฝ้าระวังผู้ใหญ่ หรือ ADULT WATCH เพราะที่ผ่านมา สังคมไทย โดยเฉพาะ วงวิชาการ ขาดระบบการวิพากษ์ตัวเองอย่างถึงราก ไม่มีใครไปตรวจสอบงานวิจัยที่มีการผลิตซ้ำทัศนะเหยียดหญิง เหยียดเด็ก เหยียดผู้น้อย โดยเฉพาะ งานวิจัยมักจะมีลักษณะของการอ้างอิงข้อมูล หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของเด็ก เพียงไม่กี่กรณีแล้วเอามาขยายให้ใหญ่โต กลายเป็น " ปัญหาที่สังคมต้องใส่ใจ" " ต้องแก้ไข"

เช่นกรณีการระดม งานวิจัยที่บอกว่าเด็กติดเกมส์ ติดเซ็กส์ ติดอะไรต่ออะไรเต็มไปหมด ทั้งหมดนี้ มีบทสรุปที่ไปในทิศทางเดียวกัน คือเด็กเป็นปัญหาสังคม พอมีปัญหา ก็เรียกร้องให้แก้ไข แต่ถามว่า เกณฑ์ในการตัดสินว่า ใครมี/ไม่มีปัญหา เคยมีการตรวจสอบกันสักครั้งไหมว่า มันแฝงฝังทัศนะการลดทอนสิทธิของเด็กเหล่านี้อย่างไร "

" ด้านหนึ่งเราอยากให้เด็กเป็นคนดี เป็นกำลังสังคมของชาติ แต่อีกด้านหนึ่ง เรากลับไม่มีภูมิปัญญาที่มันหลากหลายเพียงพอ ในการจัดการกับปัญหานี้ โดยเฉพาะงานวิจัยในรอบปีที่ออกทางสื่อ แทบจะไม่มีความแตกต่างในเชิงความคิดเลย และเป็นโอกาสอันดีที่เราได้ระดมเด็กเหล่านี้ ให้เขาได้ส่งเสียงของเขาบ้าง"

" และที่สำคัญ เราเห็นตรงกันว่า เสียงเหล่านี้ ในบางครั้ง เขาคิดได้ในระดับของการวิพากษ์ อย่างน้อยเขาก็สามารถบอกได้ว่า เขาอึดอัดคับข้องอะไรกับการที่มีงานวิจัยมาบอกว่า เขาเป็นปัญหาสังคม และเสียงเหล่านี้ จะบอกถึงสถานการณ์ของ " ผู้ใหญ่" ในสังคมไทยได้อีกด้วย เป็นมุมมองของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการติดฉลากที่ไม่ดีทั้งหลาย

จากผู้ใหญ่ที่ใช้เครื่องมือ คืองานวิจัย และสื่อ ในการแสดงทัศนะเหยียดเด็ก และมันเป็นมุมสะท้อนกลับของการที่ผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่เคยวิพากษ์ตัวเอง และนี่จะเป็นมุมมองใหม่ที่สังคมไทยไม่เคยใส่ใจ โดยเราจะสรุปสถานการณ์ผู้ใหญ่ดีในสังคมไทย แจกในวันงานด้วย เพราะฉะนั้นก็ลองมาฟังน้องๆ เพื่อนๆ ในวันนั้นละกัน"

ในงานเสวนาดังกล่าว ผู้สนใจสามารถร่วมฟังเสียงเด็ก (ที่เขาว่า) เลวได้ ในวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2548 เวลา 16.00-18.00 น. ณ ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เชิงสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ทั้งนี้ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-241-8488, 02-688-8442 หรือ 06-828 -1061

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net