Skip to main content
sharethis

"ถ้าเราใช้มาตรฐานในสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ มาตรฐานที่มีองค์กรตรวจสอบ มีของจริงซึ่งเป็นรูปธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้ดูแล้ว ผมไม่สามารถตอบกับจินตนาการที่ไม่สิ้นสุดได้ ยิ่งจินตนาการนั้นเราเองไม่เข้าใจถึงที่มาที่ไป และจุดมุ่งหมายที่แท้จริง" ....ผู้บริหารบริษัทโรงไฟฟ้าสะท้อนความหนักใจกับคำถามจากในพื้นที่

ท่ามกลางสงครามข้อมูลข่าวสารที่ยังไม่ลงตัว สิ่งหนึ่งที่ "ธีระศักดิ์ จตุรพรประสิทธิ์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 เน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาคือจุดเด่นของโครงการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

เขาเล่าว่า เวทีสาธารณะและการทำประชาคม คือกิจกรรมที่โรงไฟฟ้าให้ความสำคัญและจัดทำมาตลอดตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา การรวบรวมความคิดเห็นประชาชนหรือการทำประชาคมนี้ครอบคลุม 9 ตำบล รวมทั้งเทศบาลแก่งคอย มีคนเข้าร่วมการทำประชาคมทั้งหมด 2,516 คน

โดยมีการบันทึกวิดีโอ บันทึกเสียงและถอดคำถามคำตอบ ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งมีการให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ ไม่ว่าสันติบาล หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง

นอกเหนือจากจัดประชาคมแล้ว ทางบริษัทยังให้ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ไปศึกษาดูงานเปรียบเทียบของโรงไฟฟ้า ทั้งโรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 ที่ตำบลตาลเดี่ยว โรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซแห่งแรกของประเทศไทย และโรงไฟฟ้าเอกชนที่ระยอง โดยเพิ่มโรงไฟฟ้าวังน้อย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติด้วยอีกโรง หลังจากมีการหยิบยกประเด็นปัญหาขึ้นมาเปรียบเทียบ

"ตรงนี้ไม่ใช่ผมเป็นคนแข็งหรืออะไร ขบวนการทำประชาคมของเรา เราทำมาแล้ว ขบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเราทำและเปิดเผยมาตลอด โรงไฟฟ้าของเราเราเชิญเขาเข้าไปดูแล้ว พูดคุยชี้แจงกันเยอะแล้ว ขบวนการชี้แจงและทำความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นขบวนการที่ไม่จบสิ้น มันต้องมีมาตรฐานหนึ่งเหมือนกัน"
"ถ้าเราใช้มาตรฐานในสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ มาตรฐานที่มีองค์กรตรวจสอบ มีของจริงซึ่งเป็นรูปธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้ดูแล้ว ผมไม่สามารถตอบกับจินตนาการที่ไม่สิ้นสุดได้ ยิ่งจินตนาการนั้นเราเองไม่เข้าใจถึงที่มาที่ไป และจุดมุ่งหมายที่แท้จริง"

"ขณะที่คนแก่งคอยส่วนใหญ่ทั้ง 9 ตำบลชื่นชมกับเราว่า ไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่ผู้ประกอบการเดินเข้ามาหาประชาชน แม้จะเจอกับความก้าวร้าวรุนแรงขนาดไหน เราก็ยังอยู่ตรงนั้น ยังยืนให้เขาชี้หน้าด่าอยู่ตรงนั้น"

"บางครั้งเราก็รู้สึกเสียใจเหมือนกันว่า เราขันอาสาเข้ามาสร้างมิติใหม่ให้กับสังคมทำไมกัน แทนที่จะมาร่วมคิดสิ่งที่ดีงาม แต่กลายเป็นพวกผู้ประกอบการกลายเป็นโจร"

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทกัลฟ์ ฯ ยังให้ข้อมูลที่อาจช่วยให้ผู้คนคลายความวิตกกังวลได้บ้างว่า เทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าไม่ใช่เทคโนโลยีที่ถูกตรวจสอบจากภายในประเทศอย่างเดียว แต่มันต้องถูกตรวจสอบด้วยสากลประเทศทั้งหมด เพราะทั่วโลกก็ใช้โรงไฟฟ้าและมีมาตรฐานที่เข้มงวดกวดขัน

"ถ้าเทียบเคียงกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง เราน่าจะเป็นโรงสุดท้ายในยุคสมัยนี้ที่เข้ามาในการพิจารณา ฉะนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิด ผู้ชำนาญการก็จะมีข้อมูลเทียบเคียงกับของที่มีอยู่แล้ว ประเด็นที่จะจี้ก็คือ เทคโนโลยีที่นำเข้ามาเขามีสเป็กรับรองมาอย่างไร เพราะมันมีความก้าวหน้าทันสมัยยิ่งขึ้น"

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงเส้นทางของท่อก๊าซจากแหล่งก๊าซที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าว่า จะใช้ท่อก๊าซเส้นใหม่ ซึ่งขึ้นจากอ่าวไทย ไปแหลมฉบัง ผ่านกรุงเทพฯ เพื่อมารองรับโรงจากพระนครเหนือพระนครใต้ แล้วต่อลงไปที่อยุธยา เชื่อมต่อโรงไฟฟ้าวังน้อย แล้วผ่านวิหารแดงไปบ้านนา และเป็นตัวรองรับโครงการเมืองใหม่ที่จะแปรรูปเป็นก๊าซใช้ในรถยนต์กับตามบ้าน ผ่านมาทางบ้านนาแก่งคอย ผ่านจากที่สระบุรี แล้วไปตามทางรถไฟสายอีสานเหนือ เพื่อรองรับการพัฒนาภาคอีสาน

. . . . . . . . . . . . . . . .
แม้ความไม่เข้าใจยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้ายังยืนยันที่จะพยายามหาทางออก โดยการหันหน้าเข้าหากันอีกครั้ง หลังจากเมื่อไม่กี่วันก่อน มีผู้ไปยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าให้กับนายอำเภอเพื่อเสนอผู้ว่าฯ

"ทางเราเองแจ้งไปที่จังหวัดว่าถ้าจังหวัดพร้อมหรือหน่วยราชการพร้อมนัดหมายมาเลย แต่ต้องมาทำความตกลงกันเรื่องกติกากับเรา แล้วขอให้เป็นฝ่ายคัดค้านทั้งหมด โดยที่เราจะไม่เอาผู้ที่เห็นด้วยหรือสนับสนุนเข้าไปเลย ให้ถามกันได้ แต่ต้องทำกติกากันก่อน มีคนนอกเป็นคนกลาง มีส่วนราชการเป็นกรรมการ ประเด็นไหนถามแล้วตอบแล้วก็จบกันไป ไม่ใช่วนหัววนท้าย วนกันอยู่อย่างนั้น"

นอกจากนี้ ทางโรงไฟฟ้ากำลังอยู่ระหว่างการผลักดัน "ภาษีพลังงาน" ซึ่งธีระศักดิ์กล่าวว่าโรงไฟฟ้าของเขาจะเป็นโรงแรกของประเทศไทยที่ต้องเสียภาษีพลังงาน โดยภาษีพลังงานทั้งหมดตกอยู่กับ 9 ตำบลนี้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาในส่วนของรัฐบาลเองกำลังร่างเป็นพระราชบัญญัติภาษีพลังงาน ก็คือ กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2

เขากล่าวด้วยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการเป็นผู้บุกเบิกสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการในโลกทุนนิยมยอมรับการตรวจสอบ ยอมรับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะเท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้อุตสาหกรรมอื่นต้องเดินตาม

"แต่ถ้าวันนี้การมีส่วนร่วมของโครงการเราถูกปฏิเสธจากคนกลุ่มหนึ่ง แล้วถูกแปรเปลี่ยนเป็นวาระแห่งชาติ กลายเป็นความรุนแรงที่มันเกิดขึ้น ยังมีหินกรูดที่เขาจะย้ายไปราชบุรี ยังไม่ทำอะไรเพราะรอดูอยู่ว่าทำแล้วไปรอดไหม และยังอีกหลายโครงการที่ต้องเกิด แต่ถ้าสิ่งดีงามนี้มันเกิดขึ้นไม่ได้ มันจะพึ่งพิงมาเฟียท้องถิ่น ความรุนแรงระหว่างผู้ประกอบการกับประชาชนก็จะต้องเกิดขึ้นมาอีก สังคมไทยก็หมุนกลับไปหาอดีต"

"วันนี้การที่บริษัทสมัครใจเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของประชาชน ผมว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมต้องช่วยกันประคับประคองด้วย" ธีระศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net